วันที่ 26 มกราคม 2567 เมื่อวันอังคารที่แล้ว ฝูงชนหลายร้อยคนรวมตัวกันที่จัตุรัสหลักขนาดเล็กในเมืองพินอูลวิน (Pyin Oo Lwin) เมืองตากอากาศกลางหุบเขายอดนิยมของเมียนมา เพื่อฟังพระภิกษุที่สวมแว่นตารูปหนึ่งปราศรัยถึงคำแนะนำที่น่าตกใจ
พระรูปนั้นกล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทางทหารของประเทศ ควรหลีกทางไป และปล่อยให้ พลเอก โซ วิน รองผู้บัญชาการทหาร เข้ามารับหน้าที่แทน
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้ทำรัฐประหารในปี 2564 โค่นอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของนางออง ซาน ซู จี และก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในขั้นหายนะ เผชิญกับเสียงวิจารณ์จากนานาชาติมากมายและเป็นที่รังเกียจในหมู่ประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมาก
แม้ว่าการออกมาวิจารณ์ครั้งนี้จะเกิดในช่วงที่ไม่ปกติ แต่ ป็อก โก ตอว์ พระภิกษุรูปนี้ คือส่วนหนึ่งของนักบวชชาวพุทธกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังคงยืนอยู่เบื้องหลังคณะเผด็จการทหารอย่างแข็งขัน
อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ยับเยินหลายครั้งของกองทัพเมียนมาต่อกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้บรรดาผู้ที่เคยสนับสนุน มิน อ่อง หล่าย ต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่
“ลองดูที่ใบหน้าของโซ วิน สิ” ป็อก โก ตอว์ กล่าวกับมวลชน “นั่นคือใบหน้าของทหารตัวจริง มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้แก้ปัญหา เขาควรขยับไปทำหน้าที่พลเรือน”
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีใครในกองทัพที่ให้การหนุนหลัง ป็อก โก ตอว์ พระภิกษุในกลุ่มพุทธชาตินิยมคนนี้บ้าง แต่ความคิดเห็นของเขานั้นสะท้อนความคิดเห็นของผู้สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารคนอื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนว่ากำลังผิดหวังต่อตัวผู้นำทหารสูงสุดของเมียนมามากขึ้นเรื่อย ๆ จากการไม่สามารถพลิกสถานการณ์จากฝ่ายต่อต้านได้
ป็อก โก ตอว์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับบีบีซีแผนกภาษาเมียนมา
การประกาศจุดยืนล่าสุดของพระป็อก โก ตอว์ โดยเลือกสถานที่ในเมืองพินอูลวิน ยิ่งทำให้ความเห็นของเขาครั้งนี้มีน้ำหนัก พินอูลวิน ซึ่งเคยเป็นอดีตเมืองตากอากาศในยุคอาณานิคมอังกฤษ ตอนนี้เป็นที่ตั้งของสถาบันกลาโหมอันทรงเกียรติ ซึ่งนายพลระดับสูงต่างได้รับการฝึกจากสถาบันนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรดานายทหารจะพลาดคำเตือนที่ค่อนข้างชัดเจนนี้ที่ว่า พวกเขากำลังเหลือพันธมิตรน้อยลงทุกที
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพระภิกษุในเมียนมา ไม่ใช่เรื่องใหม่
พระสงฆ์ในเมียนมามีประวัติเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาเป็นเวลานาน ส่วนมากเป็นการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอาณานิคมในช่วงทศวรรษ 1930 ไปจนถึงการลุกฮือต่อต้านทหารในปี 1988 และ 2007 หลายคนออกมาคัดค้านการรัฐประหารเมื่อปี 2021 ด้วยเช่นกัน โดยพระสงฆ์บางส่วนได้ทิ้งจีวร เพื่อออกไปจับปืนถืออาวุธสู้กับเผด็จการทหาร
อย่างไรก็ดี มีพระสงฆ์บางส่วนร่วมมือกับเหล่านายพลเช่นกัน ด้วยความเชื่อร่วมกันว่าทั้งความเป็นพุทธและวัฒนธรรมของเมียนมาต้องได้รับการปกป้องจากอิทธิพลภายนอก
หลังจากเหตุรุนแรงจากการปะทะระหว่างพระสงฆ์และชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2012 พระวีระธู ผู้นำพระสงฆ์ชาตินิยิมสุดโต่ง ได้ก่อตั้งขบวนการที่ชื่อว่า “มะบะธา” หรือในชื่อทางการว่า สมาคมปกป้องเชื้อชาติและศาสนา
กลุ่มมะบะธา รณรงค์การคว่ำบาตรธุรกิจต่าง ๆ ในเมียนมาซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวมุสลิม โดยอ้างว่าศาสนาพุทธในเมียนมากำลังตกอยู่ในอันตรายจากการที่มุสลิมจะเข้ามาครอบครอง แต่สัดส่วนของชาวมุสลิมในเมียนมาคิดเป็น 8% ของจำนวนประชากรเท่านั้น กลุ่มมะบะธายุติบทบาทลงในปี 2017 แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรื่อยมา
พระวีระธู ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำคุกด้วยข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ได้ถูกจำคุกอีกครั้งในปี 2020 แต่เพียงไม่ถึงหนึ่งปี เขาก็ได้รับการปล่อยตัวด้วยอำนาจของรัฐบาลทหาร และมิน อ่อง หล่าย ก็ปรนเปรอเขาด้วยการให้ยศศักดิ์และเงินสด
การทำรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย ในปี 2021 ทำให้เกิดการต่อต้านครั้งใหญ่จากประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้ทหารคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน แต่กลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรง นายพลอาวุโสวัย 67 ปีผู้นี้ จึงมองหาสิ่งอื่นมารองรับความชอบธรรมของตัวเอง ด้วยการแสดงตัวว่าเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา
สื่อของทางการประโคมข่าวผู้นำเผด็จการมอบของขวัญที่ฟุ่มเฟือยให้กับวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับภาพที่เขาเป็นผู้หามหีบศพในงานศพของพระผู้ใหญ่หลายรูป มิน อ่อง หล่าย ยังไปร่วมวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างพระพุทธรูปปางนั่งองค์ใหญ่ที่สุดในโลกที่กรุงเนปิดอว์ด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่กองทัพเป็นเจ้าภาพในการจัดสร้าง
องค์กรสูงสุดทางศาสนาในเมียนมา อย่างมหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์แห่งรัฐ ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารน้อยมาก เป็นที่เชื่อกันว่าสมาชิกของคณะสงฆ์แห่งรัฐบางคนออกเสียงปรามเหล่านายพลอยู่เงียบ ๆ แต่ก็มีพระชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งในคณะสงฆ์แห่งรัฐอย่าง สิตากู ซายาดอว์ ที่แสดงออกอย่างเต็มที่ว่าสนับสนุนกองทัพ โดยเขาถึงขนาดเดินทางไปพร้อมกับมิน อ่อง หล่าย ในการเจรจาซื้ออาวุธที่ประเทศรัสเซีย
พระรูปอื่น ๆ อีกหลายรูปไปไกลกว่านั้น อย่างเช่น วาธาวา ลูกศิษย์ของพระวีระธู เขาได้ช่วยจัดตั้งกองกำลังทหารในเมืองสะกาย บ้านเกิดของเขา เพื่อต่อต้านการสู้รบจากกองกำลังประชาชน ซึ่งผุดขึ้นมากมายทั่วเมียนมาเพื่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร
มีภาพหลายภาพที่เผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นภาพที่น่ากังวล รูปเหล่านั้นแสดงให้เห็นพระในผ้าเหลืองได้รับการสอนวิธีการยิงปืนไรเฟิล
กองกำลังที่ใช้ชื่อว่า ปยูซอธี (Pyusawthi) ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อกษัตริย์ในตำนานของพม่า ถูกกล่าวหาว่าบังคับให้ผู้ชายในหมู่บ้านมาเป็นทหารและโจมตีพลเรือนอย่างโหดร้าย แต่กองกำลังนี้ก็เข้าไปตั้งฐานที่มั่นได้เฉพาะในหมู่บ้านที่พรรคการเมืองของกองทัพเข้มแข็งมาอย่างยาวนานเท่านั้น นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่ากองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการต้านทานกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารที่ขยายตัวและมีการจัดรูปองค์กรอย่างดี
ชายคนหนึ่งที่บีบีซีติดต่อด้วยในพื้นที่ที่พระวาธาวาเข้าไประดมคนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 บอกว่า กลุ่มปยูซอธี เกณฑ์คนได้มากสุดหมู่บ้านละ 10-15 คนเท่านั้น และมักจะใช้วิธีข่มขู่ว่าจะเผาบ้านเพื่อบังคับให้มาเป็นทหาร เขาบอกด้วยว่า ผู้ชายหลายคนที่ถูกเกณฑ์ไปต่างหลบหนี และได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านในหมู่บ้านอื่น ๆ ให้หลบซ่อนตัวจากพระวาธาวาและกลุ่มพระสงฆ์ติดอาวุธ
กองทัพเมียนมากำลังล่าถอย
ผลงานการรบที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันของทหารเมียนมาในการต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งหลัง ๆ มานี้ กำลังสร้างความสงสัยในหมู่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ หนึ่งในบล็อกเกอร์ชื่อดังของเมียนมา เรียกมิน อ่อง หล่าย ว่า “ผู้ไร้ความสามารถ” โดยระบุว่า การปกครองภายใต้รัฐบาลของผู้นำรายนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ของเมียนมาสูญเสียและต้องเผชิญความอับอาย มิน อ่อง หล่าย ต้องชดใช้และก้าวลงจากอำนาจ
บล็อกเกอร์รายนี้ อ้างถึงการสูญเสียแนวรบขนาดใหญ่ในรัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศ ให้กับกลุ่มติดอาวุธที่ชื่อว่า กองกำลังภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของทหารชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ทำให้ขณะนี้กองกำลังภราดรภาพสามารถคุมพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณชายแดนด้านที่ติดกับจีนได้แล้ว
กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มภราดรภาพ เปิดปฏิบัติการรบเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งจบลงด้วยการยอมจำนนของทหารเมียนมาหลายพันนาย รวมทั้งยึดอาวุธของพวกทหารเอาไว้ได้ สถานการณ์สู้รบนองเลือดที่เอาชนะกันไม่ได้เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างกองทัพเมียนมาที่พร้อมไปด้วยยุทโธปกรณ์ กับกองกำลังอาสาของประชาชนหลายร้อยกลุ่มที่ผุดขึ้นและมาร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการทหาร ดูเหมือนใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว
ด้านกองทัพเมียนมายังคงล่าถอยอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ ขณะที่ชายแดนอีกด้านที่ติดกับบังกลาเทศ กองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกองกำลังภราดรภาพ ได้เข้าควบคุมฐานทางการทหารหลายแห่ง ทำให้ยึดกุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐชินและยะไข่ได้แล้ว
กองกำลังกลุ่มนี้ได้โพสต์วิดีโอของทหารเมียนมาในเครื่องแบบที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ มือถูกมัดด้วยเชือก พร้อมกับอาวุธและเครื่องกระสุนจำนวนมากที่ยึดได้
ด้วยการเคลื่อนย้ายทางถนนเสี่ยงต่อการซุ่มโจมตี การรบของทหารเมียนมาจึงต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดคอยส่งเสบียงและอาวุธไปยังฐานทหารบริเวณโดยรอบ และใช้การโจมตีทางอากาศคุ้มกันฐานทหารเหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้มีการสูญเสียของพลเรือนจำนวนมากในวงกว้าง ล่าสุด กองกำลังติดอาวุธในรัฐคะฉิ่นอ้างว่า พวกเขาได้ยิงเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินไอพ่นตกไปอย่างละ 1 ลำ ในเดือนนี้
นอกจากนี้ยังพบว่า ทหารเมียนมาบางส่วนที่ยอมจำนน เป็นทหารจากหลายหน่วยที่มีประสบการณ์การรบน้อยมาก และข้อเท็จจริงที่ว่าทหารจำนวนมากอาศัยอยู่กับครอบครัวในฐานทหารเหล่านี้ ทำให้บ่งชี้ว่าพวกเขาไม่ได้เตรียมพร้อมมาเพื่อการรบแต่อย่างใด
ทหารหลายร้อยนายเลือกหนีไปยังอินเดีย และอีกหลายพันนายยอมจำนนโดยไม่ต่อสู้ นอกจากนี้ นายพลจำนวน 6 คนที่พ่ายแพ้ในการรบ ถูกถ่ายภาพไว้ได้ว่าร่วมดื่มฉลองอวยพรกับคนที่จับกุมพวกเขา และดูมีท่าทีผ่อนคลายมากกว่ารู้สึกถูกดูหมิ่น แต่หลังจากที่พวกเขาถูกส่งตัวคืนให้กองทัพ นายพลจำนวน 3 นายในกลุ่มนี้ ถูกตัดสินประหารชีวิต และอีก 3 นายถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต คาดว่ากองทัพตัดสินโทษเช่นนี้เพื่อไม่ให้ทหารนายอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการยอมจำนน
การกลับตาลปัตรเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเวลา 75 ปี ของประวัติศาสตร์การสู้รบของกองทัพกับทหารกลุ่มชาติพันธุ์ ขวัญกำลังใจในทหารทุกระดับพังทลายลง การเกณฑ์ทหารในสภาวะเช่นนี้พิสูจน์แล้วว่าทำได้ยากยิ่ง
จากมิตรกลายเป็นศัตรู
แล้วผู้นำการรัฐประหารเมียนมาควรกังวลเกี่ยวกับเสียงความไม่พอใจรัฐบาลทหารเหล่านี้หรือไม่? การออกมาวิพากษ์วิจารณ์มิน อ่อง หล่าย อย่างหนักของ พระป็อก โก ตอว์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อย เขาถูกทหารนำตัวไปคุมขังและสอบปากคำ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นว่ามีผู้มีอำนาจบางคนหนุนหลังเขาอยู่ นอกจากนี้ ขณะที่การรวมตัวของประชาชนเพื่อฟังการปราศรัยของเขาได้รับการรายงานข่าวในสื่อของทางการ แต่การปราศรัยโจมตี มิน อ่อง หล่าย ของเขากลับไม่ปรากฏในรายงานข่าวนั้น
ด้านพล.อ.อาวุโส โซ วิน นายทหารซึ่งพระป็อก โก ตอว์ เรียกร้องให้ขึ้นมาคุมกองทัพ แม้ว่ามีรายงานว่าเขารู้สึกไม่พอใจกับการรบที่ย่ำแย่ของกำลังทหาร แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ออกมาว่า เขาเตรียมตัวที่จะแย่งชิงอำนาจจากเจ้านายของเขา ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่ายังจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
มิน อ่อง หล่าย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนผลักดันคู่แข่งขึ้นมาแล้วค่อยกีดกันออกไปจากเส้นทางของเขา เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว นายพล โม มินต์ ตุน นายทหารผู้เคยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากมิน อ่อง หล่าย ถูกจับกุมอย่างกะทันหันด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ก่อนถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในเวลาต่อมา
สำหรับผู้สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารที่ฝันถึงอัศวินผู้เฉิดฉายที่จะเข้ามากอบกู้ขวัญกำลังใจของทหารนั้น ต้องกล่าวว่าในขณะนี้ยังไม่มีผู้สืบทอดที่มีคุณสมบัติอย่างว่าอยู่ในสายตา
แม้จะพ่ายแพ้ในสนามรบอย่างน่าตกตะลึง แต่ทว่า มิน อ่อง หล่าย ยังคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางการที่สำคัญ ๆ มากมาย ซึ่งดูคล้ายกับการเป็นกษัตริย์มากกว่าเป็นผู้บัญชาการทหาร
ไม่ว่านี่จะเกิดจากความมั่นใจของเขา หรือจากการแยกตัวเองออกจากความเป็นจริง แต่กองทัพเมียนมาก็ไม่สามารถจะพ่ายแพ้แบบที่เกิดขึ้นใน 3 เดือนที่ผ่านมาได้อีกต่อไปแล้ว
ทั้งการล่มสลายของกองกำลังทหารเมียนมาในเมืองล่าเสี้ยว เมืองหลักของรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา หรือกระทั่งในรัฐยะไข่ ทางตะวันตก หรือรัฐกะเหรี่ยงติดกับชายแดนไทยที่กลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้จะยึดเมืองเล้าก์ก่ายได้แล้ว ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การล่มสลายของขวัญกำลังใจของทหารอย่างกว้างขวางขึ้น และเกิดการระเบิดจากภายในของตัวระบอบได้ในที่สุด
ที่มา : https://www.bbc.com/thai
รายงานโดย : โจนาธาน เฮด,ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Leave a Reply