จับตา!! มส.ชุดใหม่ “ใครไป -ใครมา”

“เปรียญสิบ”  รับปากไว้นานแล้วว่าจะเขียนถึง “มส.” สักวันประเภทเจาะวิเคราะห์ไปที่ตัวบุคคลว่าแต่ละรูปและละท่าน..เหมาะสมที่จะดูแล “สังฆมณฑล” ที่ประกอบด้วยวัดกว่า 4 หมื่นวัด พระสงฆ์ -สามเณรอีกประมาณ 3 แสนรูป

ยอมรับว่า “ข้อมูลไม่พร้อม” ยังขาด ๆ เกิน ๆ  หากวิเคราะห์ผิดพลาดอาจนำมาซึ่ง “ตราครุฑ”

แต่ขอให้จับตาว่าเร็ว ๆ นี้ “พระครูสัญญาบัตร และ กรรมการ มส.” ชุดใหม่ คงจะ “คลอดแน่”

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ มส.ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดแบบปัจจุบันทันด่วน โดยที่ กรรมการ มส.บางรูปก็ “งงตาแตก”ว่า ต้นสายปลายเหตุมาจากอะไรกันแน่ ใครถือโพยเข้ามาและอ้างใคร มส.จึงตัดสินใจแบบนั้น!!

 เว็บไซต์ “ไอลอน์”  ได้ลงรายละเอียดที่มา “มหาเถรสมาคม” ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ที่แก้ไขมาแล้ว 4 ครั้ง ว่า

กรรมการ มส. ชุดปัจจุบันรวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชมีทั้งหมด 21 รูป ได้รับโปรดกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564

 ซึ่งก็หมายความว่า มส.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงแล้ว

โครงสร้างของ มส. ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ผอ.พศ.เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

“สมเด็จพระสังฆราช” นอกจากมีบทบาทในการเป็นประธาน มส.แล้ว ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม

ขณะที่กรรมการ มส. อื่นอีกไม่เกิน 20 รูป พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

นอกจากพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมส.ยังทรงมีพระราชอำนาจประกาศพระบรมราชโองการให้กรรมการ มส. ออกจากตำแหน่ง แต่!! กรรมการมหาเถรสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชโองการก็ได้ ได้แก่ มรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ และลาออก

 “ไอลอน์” ตั้งข้อสังเกตว่า พระภิกษุชุดปัจจุบันที่เป็น “กรรมการมส.” ล้วนสังกัดวัดที่อยู่ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร  และอำนาจมหาเถรสมาคม ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎ ข้อบังคับ คำสั่งได้ เท่าที่ไม่ขัดกฎหมายและธรรมวินัย และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้ง 5 ประการข้างต้นก็ได้…

“เปรียญสิบ”  มองว่า “จุดบกพร่อง” สำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 นี้ คือ ไม่สมควรให้ สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานมหาเถรสมาคม ให้พระองค์ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นที่ “เคารพและสักการะ” ของคณะสงฆ์และชาวพุทธ อย่ามายุ่งกับเรื่องปวดหัวแบบโลก ๆ มากจนเกินควร  สอง  พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 ไม่มีการกระจายอำนาจ และ สาม แปลกประหลาดที่สุดก็คือ พ.ร.บ. สงฆ์ 2505 ไม่มีงบประมาณรองรับภารกิจของคณะสงฆ์ทั้ง

และทั้งในอนาคตคิดว่าตำแหน่ง “ผอ.พศ.” ควรให้ “มส.” เป็นผู้พิจารณาเบื้องต้น แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อเสนอโปรดเกล้า ฯ   เสมือน พ.ร.บ.กลาโหม ของเหล่าทัพ

ทุกวันนี้ ถาม มส.ตรง ๆ  ว่า หากต้องการ จะเลือกข้างและฟัง ระหว่าง มส.กับรัฐมนตรีที่กำกับ พศ.

ผอ.พศ. จะฟังใคร!!  เพราะฉะนั้น..ข้าราชการ พศ. สั่งการไม่ได้ พูดแล้วไม่ปฎิบัติตาม งานล่าช้า มส.หรือคณะสงฆ์ อย่าบ่น!!

“เปรียญ” ขอให้ชาวพุทธและคณะสงฆ์ติดตามการเสนอชื่อและการแต่งตั้ง มส.ชุดใหม่ อย่างใกล้ชิด และขอเสนอต่ออีกว่า กรรมการ มส.ชุดต่อไป ควรกระจายไปยังต่างจังหวัด เลือกพระภิกษุที่มีความรู้ ความสามารถ และปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ บ้าง  โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ที่ดูแลเรื่องศีล 5  กลุ่มพระสงฆ์ที่ทำงานวัด ประชารัฐ สร้างสุข กลุ่มพระสงฆ์ที่อยู่ใน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง กลุ่มพระภิกษุสงฆ์ที่ขับเคลื่อนการศึกษาคณะสงฆ์ทั้งบาลี และนักธรรม  และรวมทั้งกลุ่มพระสงฆ์ที่ทำงานเพื่อประชาชน..

บรรดา “พระสมเด็จ” ทั้งหลาย หากไม่จำเป็นไม่ต้องลงมาเป็น มส.ก็ได้..

 

Leave a Reply