พระสงฆ์พม่า : ที่ทั้งสร้างความเข้มแข็ง-แทรกแซงกิจการรัฐ

          วันนี้เพจ  Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งอดีต-ร่วมสมัย www.silpa-mag.com ได้เสนอ..เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน Thai-Burma Studies in ASEAN Community (สนพ. มูลนิธิโครงการตำสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พ.ศ. 2558) มีหัวข้อการสัมมนาหนึ่งชื่อ “พระสงฆ์กับการบ้าน-การเมืองในอาเซียน” ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในที่นี้จึงขอสรุปเฉพาะการเสนอของ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่กล่าวถึง “ความสัมพันธ์ของสงฆ์ในมิติการเมืองของพม่า มาให้เห็นที่มาถึงบทบาทของพระสงฆ์ในเวทีการการเมือง

       เวปไซต์ข่าว “เดอะบุ๊ด” ขออนุญาตนำมาเสนอต่อเพื่อให้คณะสงฆ์ ชาวพุทธในประเทศไทย ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมาบ้าง จึงขอลงไว้ดังนี้

        …ผมขอจํากัดประเด็นที่จะพูดคือ “ความสัมพันธ์ของสงฆ์ในมิติการเมืองของพม่า จากการศึกษาที่ผ่านมามักจะมุ่งไปที่รัฐกับสงฆ์ ซึ่งมีรัฐที่เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม หมายถึง พระมหากษัตริย์กับพระสงฆ์ รัฐในยุคอาณานิคมก็หมายถึงอังกฤษที่เป็นผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ที่ว่านี้แยกได้ 2 ลักษณะ คือ

   1.สงฆ์มีบทบาทสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐ เห็นได้ชัดในสมัยรัฐจารีต หรือรัฐโบราณ ที่อํานาจจะจํากัดอยู่ที่เมืองหลวง เบเนดิก แอนเดอร์สัน เปรียบเทียบว่าเหมือนแสงเทียน ส่วนที่ใกล้เทียนก็จะสว่างมาก ส่วนที่อยู่ห่างออกไปก็จะสว่างน้อยลงจนมืด ส่วนที่สลัวหรือมืดหมายถึงดินแดนที่อํานาจรัฐมีน้อยหรือไม่มีเลย

  ที่ตรงนี้แหละที่พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทอย่างมาก บทบาทคือการควบคุมทางสังคม (social control) โดยการควบคุมความประพฤติ หรือจริยธรรมของประชาชน ตลอดจนให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงการจ่ายส่วยหรือภาษี เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง สงฆ์จำทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรี ย้อนไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 สงฆ์ช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างพม่ากับศรีลังกา

 ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 สงฆ์เข้าไปจีนตอนใต้ ซึ่งตอนนั้นพวกมองโกลกําลังขยายอํานาจลงมา ไปเพื่อเจรจาต่อรองและสร้างสมานฉันท์ ตอนศึกมอญ-พม่าใน ปี พ.ศ. 1949 มอญยกทัพไปตีพม่าในคราวศึก “ราชาธิราช”  พระเจ้าอังวะให้พระสงฆ์ขี่ช้างนําผู้สูงอายุที่นุ่งห่มขาว 300 และไม่ห่มขาวอีก 300 ถือเครื่องบรรณาการเพื่อเจรจาสงบศึก ปรากฏว่าทําได้สําเร็จ และตอนที่พระเจ้าบุเรงนองต้องการพระธิดาของกษัตริย์ศรีลังกา ก็ส่งพระสงฆ์ไปเป็นทูตเจรจา

 จะเห็นได้ว่าสงฆ์ในพม่าสนับสนุนและสัมพันธ์กับการเมืองมาตลอด แม้กรณีของไทยหรือของเชียงใหม่ ผู้ปกครองได้อาศัยสถานะความเป็นสงฆ์ เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาทางการเมือง เช่น การผนวชของพระเจ้าลิไทก็เพื่อขอเมืองพิษณุโลกคืนจากพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) หรือการบวชของพระบรมไตรโลกนาถก็เพื่อขอเมืองเชลียงคืนจากพระเจ้าติโลกราช บทบาทสงฆ์นี้สําเร็จบ้างไม่สําเร็จบ้าง

 2.อีกมิติหนึ่ง สงฆ์ถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงอํานาจรัฐในยุครัฐจารีต สงฆ์เข้าไปเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน เช่น รัฐเก็บภาษีในฤดูที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สงฆ์ก็เข้าไปต่อรองกับรัฐเพื่อให้ลดหย่อนผ่อนผันภาษี หรือกรณีนักโทษประหาร สงฆ์ก็เข้าไปแทรกแซงเพื่อขอเว้นโทษตาย นักโทษที่รอดตายเหล่านี้ต้องมาเป็นข้าพระ พม่าเรียกว่า “พญาจอง” แม้พวกกบฏหรือเชลยศึก สงฆ์ก็เข้าไปช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน

 การที่สงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากๆ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน อย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญาตีเมืองหงสาวดีได้ ก็สั่งให้ประหารพระสงฆ์จํานวนมาก โดยให้ช้างเหยียบ

ในยุคอาณานิคม บทบาทของสงฆ์พม่าดูจะโดดเด่น ด้วยเป็นยุคที่พุทธศาสนาเสื่อมทรุด สงฆ์ที่เป็นพวก political activist เช่น อูวิสาระ ที่มีอนุสาวรีย์กลางเมืองย่างกุ้ง ท่านผู้นี้ได้ต่อสู้กับอังกฤษ อังกฤษจะปลดผ้าเหลืองของท่านออก ท่านประท้วงโดยการอดอาหารจนมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2472 อุตตมะ ผู้ที่บังคับให้อังกฤษต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นเจดีย์ชเวดากอง หรืออย่างกบฏต่อต้านอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2473-74  ผู้นําคือ ซายาซาน ท่านผู้นี้เคยเป็นพระสงฆ์มาก่อน

ทั้งหมดก็สะท้อนบทบาทสงฆ์พม่าที่มีทั้งสนับสนุนอํานาจรัฐ และแทรกแซงอํานาจรัฐที่ผ่านมาไม่เคยมีความขัดแย้งระหว่างสงฆ์กับประชาชน อาจเนื่องมาจากที่ผ่านมา 89% ของประชากรเป็นชาวพุทธ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสงฆ์กับประชาชนต่างศาสนา เริ่มจากชาวพุทธกับพวกมุสลิมโรฮิงญา ต่อมาเป็นชาวพุทธกับพวกมุสลิมทั้งหมด

โรฮิงญาหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ข้ามมาจากเบงกอล มาตั้งถิ่นฐานในรัฐอาระกันของพม่า จะมาเมื่อไรไม่แน่ชัด รัฐบาลพม่าบอกว่าพวกนี้เพิ่งเข้ามา แต่โรฮิงญาบอกว่าพวกตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แล้ว รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชาติพันธุ์โรฮิงญา ยอมรับแต่พวกเบงกาลี การต่อต้านพวกโรฮิงญาซึ่ง มีอยู่ 8 แสนคนในปี พ.ศ. 2555 ตอนนี้อาจเพิ่มหรือลดก็ไม่ทราบ เป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา โดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกด้วย เพราะเป็นการเหยียดสีผิว ความจริงพม่าก็มีมุสลิมซึ่งไม่ใช่พวกโรฮิงญาที่กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ

เหตุความขัดแย้งนี้เกิดเมื่อมิถุนายนปี พ.ศ.2556 เมื่อมีมุสลิมไปข่มขืนและฆ่าผู้หญิงพม่า จากนั้นพวกพม่าก็ยกพลไปบุกหมู่บ้านพวกมุสลิม เกิดความไม่สงบในรัฐยะไข่และลามไปถึงเมืองมิตจิน่า (อยู่ในรัฐอาระกัน) ที่อยู่ตอนกลางของพม่า ผลก็คือ มีนาคมปี พ.ศ. 2556 มีมุสลิมตายไป 40 คน ไร้ที่อยู่อีกหมื่นกว่าคน ต่อมาพวกมุสลิมถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิด 1 แสน 5 หมื่นคน และถูกสังหารไปทั้งสิ้น 240 คน

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสันติ ไม่นิยมความรุนแรง แต่ปรากฏนามพระสงฆ์พม่าบางรูปออกมาเป็นผู้นําในขบวนการแห่งความขัดแย้งนี้ อย่างเช่นพระวิราธุ อายุ 45 ปีซึ่งมีภาพท่านขึ้นหน้าปกหนังสือ Time ความจริงความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิมไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ความแย้งครั้งนี้โดดเด่นเพราะมีการจัดระบบในการต่อต้าน เช่น การใช้ตัวเลข 969 เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านมุสลิม

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในมิติของภาคประชาชน สงฆ์ที่ออกมาต่อต้านพวกมุสลิมไม่ใช่สงฆ์พม่าทั้งประเทศ เมื่อตอนที่พระวิราธุออกมาต่อต้านและตอบโต้พวกมุสลิม พระผู้ใหญ่ในเมืองมัณฑะเลย์อย่างเช่น “ซายาดอมายาวัตตี” ก็ออกมาเตือนสติว่า คํากล่าวของพระวิราธุนั้นไม่ใช่คําสอนของพระพุทธศาสนา ความเกลียดชังนั้นไม่ดี มนุษย์นั้นเท่าเทียมกันและไม่ควรตัดสินมนุษย์จากศาสนาที่เขานับถือ

ดังนั้นกลุ่มสงฆ์ที่ต่อต้านมุสลิมนั้นเป็นเพียงพวก political activist กลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่สงฆ์ทั้งประเทศ การต่อต้านนี้ก็ทําเป็นระบบ เช่น จัดตารางการเทศน์ตามวัดต่างๆ มีการจัดเดินขบวน วัดที่พระวิราธุจําพรรษาอยู่นั้นมีพระ 200 รูป แต่การเดินขบวนที่มัณฑะเลย์มีพระประมาณ 5,000 รูป รวมทั้งมีการเดินขบวนที่ย่างกุ้งด้วย พระวิราธุมี facebook ส่วนตัวและมีคนติดตามอยู่ราวแสนคน

“พระวิราธุ” อ้างเหตุผลการเคลื่อนไหวว่า…เพื่อป้องกันพุทธศาสนาจากพวกมุสลิมและปกป้องความเป็นพม่า เพราะพวกมุสลิมนั้นเปรียบเหมือนปลาคาร์ฟแอฟริกาที่จะกินปลาพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วย ถ้าปล่อยไว้พวกมุสลิมก็จะกลืนกินพม่าจนหมดความเป็นพม่าไป

นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธในอาระกันกลัวมาก และหวั่นว่าวันหนึ่งพวกมุสลิมจะมีมากกว่าคนพุทธ จนมีกฎหมายออกมาป้องกันเรื่องนี้ว่าชาวพุทธจะแต่งงานกับมุสลิมจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะเกรงว่าพวกมุสลิมจะมีจํานวนมากขึ้น โดยผ่านการแต่งงานและการเปลี่ยนศาสนา

 นอกจากนี้ยังอ้างว่าเพื่อปกป้องอธิปไตยของรัฐ เพราะพวกมุสลิมนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลางซึ่งอาจยึดพม่าในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการปกป้องวัฒนธรรมของพม่า การติดป้าย 969 หมายความว่าบ้านนี้ไม่ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของพวกมุสลิม จะซื้อขายกับพวกชาวพุทธเท่านั้น การรณรงค์นี้ส่งผลกระทบต่อพวกมุสลิมที่มีอาชีพค้าขายอย่างมาก

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการขับเคลื่อนในเรื่องชาตินิยมที่รุนแรงมาก คําถามก็คือการขับเคลื่อนนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านพวกมุสลิมที่มีเพียง 5% หรือว่ามีเหตุปัจจัยอื่นหรือไม่?

ในประวัติศาสตร์เคยมีการขับเคลื่อนที่คล้ายๆ กันนี้มาก่อนแล้ว ในยุคอาณานิคม พระสงฆ์ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านนั้นเป้าหมายไม่ใช่เจ้าอาณานิคมโดยตรง หากแต่เป็นการต่อต้านนโยบายหรือปฏิบัติการของอังกฤษทกระทบต่อความมั่นคงของพระสงฆ์ต่างหาก

เหตุเนื่องจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษไม่อุปถัมภ์พุทธศาสนาเหมือนอย่างที่ระบบกษัตริย์เคยทํา เช่น ไม่มีการสร้างเจดีย์ ไม่มีการสถาปนาสมณศักดิ์ และอังกฤษดึงการศึกษาซึ่งเคยอยู่ในการดูแลของพระสงฆ์ไป เนื่องจากอังกฤษมองว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาจากวัด นั้นไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สําคัญเกิดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองอังกฤษกับพระสงฆ์พม่า ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กัน

 

สงฆ์พม่าที่ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษนั้นเป็นนักชาตินิยมที่ไม่ประนีประนอมเลย (the most uncompromising nationalist) องค์กรสงฆ์ในปี พ.ศ. 2464ประกาศจุดยืนว่าจะสร้างเอกภาพในหมู่ชาวพม่าโดยร่วมกันต่อต้านสินค้าต่างชาติ (อังกฤษ) ตั้งโรงเรียนแห่งชาติพม่าขึ้นเพื่อไม่ให้อังกฤษ ครอบงําการศึกษาแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในพม่า

คําถามที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ในปัจจุบัน พ.ศ.2557 นั้น สงฆ์พม่าได้รับผลกระทบจากนโยบายปี พ.ศ. 2553 หรือไม่อย่างไร? และถ้าได้รับผลกระทบจะ แสดงออกอย่างไร? ถ้าสงฆ์ไม่พอใจรัฐก็จะลุกมาต่อต้านอย่างเช่นที่เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2531หรือในปี พ.ศ. 2550 ที่เรียกว่า Saffron Revolution การที่สงฆ์ลุกขึ้นต่อต้านรัฐครั้งนี้ก็เพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ คือพระสงฆ์มีประชาชนเป็นผู้สนับสนุน แต่การปฏิรูปปี พ.ศ.2553 ของ ประธานาธิบดีเต่ง เส่ง คนพม่าส่วนมากยอมรับ

ดังนั้นถ้าจะมีพระสงฆ์พวก Activist เห็นว่าการปฏิรูปนี้คุกคามต่อเสถียรภาพ ต่อความมั่นคง ต่ออัตลักษณ์ของสงฆ์พม่าแล้ว สงฆ์พม่าพวกนั้นจะแสดงออกอย่างไร? หรือว่าสงฆ์พม่าตามไม่ทันการ เปลี่ยนแปลงแล้ว? หรือว่าการต่อต้านมุสลิมที่ผ่านมานั้นเป็นความพยายามรักษาอัตลักษณ์ของสงฆ์พม่า อันเนื่องมาจากการปฏิรูปปี พ.ศ. 2553ใช่หรือไม่?

                                                 ******************************

แหล่งข้อมูล  https://www.silpa-mag.com/?fbclid=IwAR2ko-spuCO2Lgfn2NH7jHsGEi2JjenoY8i2aUnkEk4hFJ2l8heXB1KLUF8

– https://www.facebook.com/SilpaWattanatham

Leave a Reply