เสวนา “สันติวิธีวิถีครูบาศรีวิชัย” พบวิถีล้านนา วิถีพหุวัฒนธรรม วิถีปัสสนาสังคม สู้กลเกมดึงศรัทธามวลชน

วันที่ 27 กันยายน 2565 ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมรับฟังการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สันติวิธีวิถีครูบาศรีวิชัย” จัดโดย มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย และภาคีเครือข่าย จัด ณ พระวิหารหลวง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยพระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ นำบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวสัมโมทนียถาประเด็นสำคัญว่า ครูบาศรีวิชัยมีการใช้สันติวิธีอย่างชัดเจน ชัดเจนอย่างไรวิทยากรจะร่วมเสวนามิติสันติวิธีเชิงกายภาพ สันติวิธีเชิงสังคม และสันติวิธีเชิงจิตวิญญาณ

ศ. เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ปาฐกถาการเสนาประเด็นสำคัญว่า ล้านนามีความเป็นพหุวัฒนธรรม หรือ พหุสังคม มานานแล้วมีความหลากหลายในทางชาติพันธุ์ โดยครูบาศรีวิชัยมุ่งคำถึงความหลากหลาย แต่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมของรัฐไม่สอดรับกับความเป็นล้านนา แต่ครูบาศรีวิชัยเข้าใจในความหลากหลายพหุสังคมล้านนาครูไม่เห็นด้วยกับการบังคับแต่ควรอยู่ร่วมกันแบบอิสรภาพ เสรีภาพ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพหุสังคม บทบาทที่สุดยอดของครูบาศรีวิชัยจึงเป็นการต่อสู้ทางจิตวิญญาณ นับเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงทางโลกและทางธรรม การเปลี่ยนแปลงสองทางจึงเป็นเครื่องมือสันติวิธี

การเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สันติวิธีวิถีครูบาศรีวิชัย” ดำเนินรายการเสวนาทางวิชาการ โดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการสะท้อนการปฏิรูปของสงฆ์ เช่น ธรรมยุติกับมหานิกาย ซึ่งครูบาศรีวิชัยเป็นนักคิดรูปสำคัญครูบาศรีวิชัยเน้นการกระจายอำนาจมุ่งเน้นพระพุทธศาสนาแบบล้านนามิติของจิตวิญญาณ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

1)พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า มาลงพื้นที่ในการจัดการความขัดแย้งแม่น้ำตาช้าง ได้เข้าใจการทำงานของครูบาศรีวิชัย ทำให้มองมิติสันติวิธีวิถีครูบาศรีวิชัย เวลาพูดถึงครูสันติวิธี ครูบาศรีวิชัยพยายามรักษาจิตวิญญาณล้านนานิยม แต่ไปชนกับรัฐชาตินิยม “ล้านนานิยมชนกับรัฐชาตินิยม” ครูบาศรีวิชัยพยายามรักษาพุทธแบบล้านนา ทำให้เกิดการชนกัน เช่น ระบบการศึกษา ทางรัฐพยายามมุ่งการศึกษาทางโลก ส่วนครูบาศรีวิชัยพยายามจะมุ่งการศึกษาแบบภายในคือ พุทธศาสนาแบบล้านา เป็นวัฒนธรรมแบบล้านนา

ครูบาศรีวิชัยพยายามรักษาอัตลักษณ์วิถีพระพุทธศาสนาแบบล้านนาด้วยสันติวิธี 3 ชุด ประกอบด้วย 1) สันติวิธีวิถีใจ เป็นสันติภายในผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทำให้เกิดสติ ขันติ สันติ เป็นฐานของครูบาศรีวิชัย 2)สันติวิธีเครื่องมือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยใช้กุศลโลบายมาใช้เป็นเครื่องมือ ทำถนนเพื่อสร้างวัด เอาวัดเป็นฐานการสร้างบารมี จุดแข็งของครูบาศรีวิชัยคือการสร้างวัด 3)สันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง ใช้กระบวนการของอริยะขัดขืนของครูบาศรีวิชัย เป็นการดื้อแพ่งของกฎหมายของรัฐ แต่ครูบาศรีวิชัยใช้พระธรรมวินัยนำ โดยยึดการบวช 10 พรรษา สามารถบวชพระได้ เพราะกฎหมายออกมาทีหลังพระธรรมวินัย ครูบาศรีวิชัยใช้พุทธพัวพันกับสังคมได้อย่างชัดเจนถือว่าเป็นสันติวิธี

ปัจจุบันมีการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐปรับตัวจากความผิดพลาด ทำให้เขาเป็นเราจึงขัดแย้ง แต่ควรให้เขาเป็นเขา เป็นวิถีแห่งล้านนา โดยล้านนาจะต้องปรับตัวให้เหมาะกับบริบท เราจะรักษาลมหายใจแห่งล้านนาเป็นพุทธแบบดั่งเดิมได้อย่างไร โดยไม่เจือจางกับโลกสมัยใหม่ จะรักษาท้องถิ่นนิยม รักษาภาษา ได้อย่างไร ? จะมีวิธีการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ? ในวิถีวัฒนธรรมล้านนา คำถามพระสงฆ์ในล้านนาจะรักษาไว้อย่างไร ? ด้วยความภูมิภาคใจ โดยเราไม่ให้แค่ครูบาศรีวิชัยมาเพียงแค่ขอพรเท่านั้น ? เราจะออกแบบพุทธแบบล้านนาให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่อย่างไร ? พุทธล้านนาตอบโจทย์สังคมล้านนาได้อย่างไร ? เป็นวัดส่งมอบปัญญา วัดส่งมอบความตื่นรู้ ปฏิบัติสมาธิปัญญาแบบครูบาศรีวิชัย เป็นวัดที่ส่งมอบความจริงแบบอริยสัจ 4 เราจะออกแบบวิถีปฏิบัติของครูบาศรีวิชัยอย่างไร ?

2)อาจารย์ ดร.โสภา ชานะมูลโคล ผู้เขียนหนังสือเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัย คนบุญล้านนา กล่าวประเด็นสำคัญว่า โดยเริ่มต้นจากการทำวิจัยของธรรมศาสตร์ ที่มีความเก่าแก่มาก ได้นำมาตีพิมพ์ผลงานออกมาเพื่อสร้างการรับรู้รับทราบ ครั้นเมื่อที่ครูบาศรีวิชัยต่อสู้ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ แต่เป็นอหิงสาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้ครูบาศรีวิชัยใช้แนวทางของสันติวิธีประกอบด้วย “ศีลบารมี ทานบารมี ขันติบารมี” มุ่งพัฒนาตนแต่ใส่ใจคนในชุมชน ต่างจากพระวัดป่าทั่วไปมุ่งเฉพาะตนมุ่งนิพพาน แต่ครูบาศรีวิชัยมุ่งทางสังคมที่มีฐานของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

3)อาจารย์ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ผู้เขียนหนังสือเรื่องครูบาคติใหม่ กล่าวประเด็นสำคัญว่า โดยเริ่มต้นจากการศึกษาคูบาสมัยใหม่ พบว่า แท้จริงรัฐสมัยนั้นกลัวเพราะครูบาศรีวิชัยมีมวลชนจำนวนมาก มวลชนศรัทธาครูบาศรีวิชัยมากกว่าศรัทธารัฐ จึงต้องจัดการทุกรูปแบบ ถือว่าเป็นเหตุผลใต้ภูเขาน้ำแข็งอย่างแท้จริง แต่ครูศรีวิชัยใช้เครื่องมือสันติวิธี

ศ.เกียรติคุณ ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นสำคัญว่า การเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ 6 สะท้อนประเด็น 1)ศาสนา เป็นการเสนอความเชื่อความศรัทธา ซึ่งมีความหลากหลายอย่างมาก 2)นิกาย เกิดขึ้นระหว่างมหานิกายและธรรมยุติ ผู้นำศาสนาเกิดขึ้นระหว่างการเมืองกับศาสนา สองนิกายอยู่ร่วมกันได้ 3)ศาสนากับการเมือง พุทธแบบล้านนาจึงมีความแตกต่างกับพุทธแบบในเมืองหลวง ซึ่งชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยโด่งดังนำไปสู่ความขัดแย้ง 4)ความมุ่งมั่นของครูบาศรีวิชัยทั้งปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ปะทะกันระหว่างการปฏิบัติและไสยศาสตร์ 5)โลกหลากหลาย การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาศาสนา ซึ่งศาสนามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น จะปฏิรูปศาสนาอย่างไร 6)รณรงค์ให้ครูบาศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญ คนมุ่งขอพรครูบาศรีวิชัยแต่เราจะยกระดับครูบาศรีวิชัยให้สู่ปัญญาอย่างไร ?

ช่วงท้าย พระครูธีรสุตพจน์ (พระมหาสง่า) เจ้าอาวาสวัดผาลาด เป็นประธานกล่าวปิดการเสวนาทางวิชาการ โดยสรุปสาระสำคัญว่า เราจะให้ครูบาศรีวิชัยเป็นคนสำคัญของโลกได้อย่างไร ? เราอาจจะมองหลายมิติของครูบาศรีวิชัยเช่น ขัดแย้ง มหัศจรรย์ แต่สิ่งที่ครูบาศรีวิชัยมุ่งมั่นมากคือเส้นทางบุญกุศล ซึ่งวิหารแห่งนี้คือครูบาศรีวิชัย จบความขัดแย้งที่นี่ วัดนี้เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยอยู่จำพรรษายาวนานมากที่สุด

Leave a Reply