“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี นำพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ถวายสมเด็จพระสังฆราชและกก.มส.

“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท พร้อมจิตตนครและสัมมาทิฏฐิ พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ จัดพิมพ์เป็นปกของหนังสือ เจ้าคุณพระสินีนาฏ เป็นบรรณาธิการ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีนำถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 13.28 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการถวายหนังสือพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท และหนังสือพระราชทาน “จิตตนคร” และ “สัมมาทิฏฐิ” แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ และคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดพิมพ์ “หนังสือพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท” ทรงมีพระราชศรัทธาให้จัดสร้างเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา ในเทศกาลวันวิสาขบูชา พฤษภาคม 2565 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือ “จิตตนคร” และ “สัมมาทิฏฐิ” ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ซึ่งได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ให้จัดพิมพ์เป็นปกของหนังสือดังกล่าว เพื่อพระราชทานเป็นธรรมทาน และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาได้อย่างยั่งยืนอันหาที่เปรียบมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงความสำคัญว่า “พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท” ดังกล่าว จะเป็นตำราอ้างอิงที่สำคัญฉบับแรกสำหรับสำนักศึกษาพระปริยัติธรรมจะเป็นหนังสือที่ขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อทำความเข้าใจคำศัพท์ยากในพระไตรปิฎก สำหรับเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและอธิบายคำศัพท์ที่ใช้ในพระไตรปิฎกในบริบทต่าง ๆ จึงนับเป็นตำราที่เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การศึกษาภาษาบาลี และหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้อง

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นบรรณาธิการ โดยมีศาสตราจารย์อุทิส ศิริวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิการวิจัยระดับนานาชาติ และอาจารย์พิเศษ สาขาพุทธบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้รวบรวมและวิจัยหลัก และพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เป็นบรรณาธิการบริหาร

หนังสือพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท มีจุดเด่นดังนี้ 1. วิเคราะห์คำศัพท์บาลีประกอบด้วย คำนาม คำอาขยาต คำอุปสัคค์ และคำนิบาต 2. วิเคราะห์ “ธาตุปัจจยวิภาค” และ “ปทวิภาค” แยกโครงสร้างศัพท์ให้เข้าใจง่าย 3. ยกประโยคตัวอย่างมากกว่า 1 คัมภีร์ 4. ระบุที่มาอ้างอิงจากทุกกลุ่มคัมภีร์ 5. เสนอหลักฐาน พร้อมอ้างอิงคัมภีร์ไวยากรณ์ บอกชนิดของคำแต่ละประเภท และ 6. นำเสนอเปรียบเทียบคำบาลีกับคำสันสกฤต คำปรากฤต และคำอรรธมาคธ

หนังสือพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ใช้เวลาในการรวบรวม วิจัย และประพันธ์ ตั้งแต่ปี 2559 แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2565 มีขนาด A4 จำนวน 23 เล่ม มีจำนวนหน้ากว่า 20,000 หน้า กำหนดจัดพิมพ์จำนวน 1,000 ชุด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งแสดงถึง “พระบรมโพธิสมภาร” “พระบุญญาธิการ”และ “พระบารมีธรรม” สำหรับพระราชทานให้แก่สำนักศึกษา พระปริยัติธรรม มหาวิทยาลัย สำนักสงฆ์ และห้องสมุดต่างๆ เพื่อช่วยให้การศึกษาพระไตรปิฎกมีความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว คลายความสงสัยในคำสอนของพุทธศาสนา และทำให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตน ตามหลักธรรมของพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องสืบไป

หนังสือ จิตตนคร เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระนิพนธ์เรื่อง การบริหารทางจิต สำหรับผู้ใหญ่ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น ให้จัดเป็นรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เมื่อพุทธศักราช 2513 ถึง 2515 เรื่องการบริหารทางจิต สำหรับผู้ใหญ่ ดังกล่าวนี้ เมื่อออกอากาศครบปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์รวมเล่มและพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ

หนังสือ “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร” ได้รวบรวมจากการแสดงธรรมของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ในการปฏิบัติอบรมจิตทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ ณ ตึก สว ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2527 ถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2528 รวม 42 ครั้ง หนังสือเล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชอุตสาหะทรงตรวจต้นฉบับตลอดทั้งเล่ม ทรงใช้ดินสอเขียนแก้ไขให้ถูก ตรงตามแถบบันทึกเสียง มีการจัดวรรคตอนให้ถูกต้องทั้งเล่ม แล้วพระราชทานลงมาเป็นต้นฉบับ แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือ เพื่อเป็นการเผยแผ่สารธรรมในพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “จิตตนคร” และ “สัมมาทิฏฐิ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดพิมพ์ “หนังสือพจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท” ทรงมีพระราชศรัทธาให้จัดสร้างเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา ในเทศกาลวันวิสาขบูชา พฤษภาคม 2565 ซึ่งได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ให้จัดพิมพ์เป็นปกของหนังสือดังกล่าว เพื่อพระราชทานเป็นธรรมทาน และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถึงความสำคัญว่า “พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท” ดังกล่าว จะเป็นตำราอ้างอิงที่สำคัญฉบับแรกสำหรับสำนักศึกษาพระปริยัติธรรม และจะเป็นตำราที่ขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อไว้ใช้ทำความเข้าใจคำศัพท์ยากในพระไตรปิฎก สำหรับเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและอธิบายคำศัพท์ที่ใช้ในพระไตรปิฎกในบริบทต่าง ๆ จึงนับเป็นตำราที่เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การศึกษาภาษาบาลี และศึกษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้องต่อไป

ขอบพระคุณภาพจากเพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

Leave a Reply