“ณพลเดช” แจ้งอนุฯงบฯพิจารณาพัดยศพระสงฆ์เกือบถูกตัดงบทั้งโครงการ

วันที่ 14 ส.ค.2567 นายณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาประธานคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณฯ และที่ปรึกษาประธาน กมธ.ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า วานนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณางบประมาณของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ประกอบด้วย

(1) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
(2) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(3) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
(4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(5) กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวนการป้องกันและปราบปราม
การกระทำความผิดทางอาญา
(6) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(7) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
(8) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(9) กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

สำหรับการพิจารณางบประมาณ ในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีสัดส่วนที่คณะอนุกรรมาธิการฯ สนใจคือ เรื่องของพัดยศ ที่จะใช้งบประมาณกว่า 16.5 ล้านบาท โดยบางส่วนเห็นว่าอาจไม่ได้ประโยชน์ต่อประชาชน และให้กับพระสงฆ์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์ และพระสงฆ์ที่สอบเลื่อนชั้นเปรียญธรรม อย่างไรก็ตามผมก็ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เรื่องของพัดยศถือเป็นสำคัญ เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี เป็นความรู้เป็นคุณความดีที่กว่าพระสงฆ์รูปหนึ่งจะได้ต้องทุ่มเท แรงกายแรงใจ อนึ่งการลงเทศนาการพิธีกรรมทางศาสนา พัด หรือตาลปัตร เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่พระสงฆ์ ใช้ในหลายกิจกรรมเช่นพิธีศพ พิธีขึ้นบ้านใหม่ การเทศนาต่างๆ ซึ่งประชาชนก็ได้รับประโยชน์ในการร่วมพิธีกรรมสงฆ์ หลังจากแสดงความเห็น ก็ได้มีอนุกรรมาธิการฯ หลายท่าน ให้การสนับสนุน รวมถึงให้ความเห็นว่าพระสงฆ์ในต่างจังหวัด ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่ทำงานให้กับชุมชน ให้ความรู้ความเข้าใจ ขจัดความขัดแย้งให้กับชุมชนเป็นอย่างดี ภายหลังอนุกรรมาธิการโดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ ไม่ตัดงบประมาณในส่วนของพัดยศ ในที่สุด ต้องขออนุโมทนากับอนุกรรมาธิการทุกท่านครับ

สำหรับวันนี้ต้องมีเหตุการณ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 5 ต่อ 4 มีมติให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) ในความเห็นส่วนตัวนะครับ ประเทศเราไม่ไปไหนด้วยกฎหมายที่บัญญัติ และให้อำนาจ ที่บางทีไม่สมเหตุสมผล กับบ้านเมืองเท่าใดนัก จริงๆ ในตุลาการ มีทั้งเป็นรุ่นที่ เป็นทั้งอาจารย์ ที่เข้าไปมีส่วนในการตัดสินในครั้งนี้ ผมเห็นใจท่าน และเคารพในการตัดสินนะครับ ด้วยตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเมืองไทยก็ยึดหลัก Civil Law ผลที่ปรากฏคือ เราก็ต้องเตรียมเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ เมืองไทยนี่แปลกนะครับ มีคนจีนท่านหนึ่งเคยถามผมว่า อะไรเอ่ย คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ สุดท้ายคำเฉลย ก็คือ โรงศพ ครับ กฎหมายไทย รวมถึงระเบียบต่างๆ ของไทย เช่นงบประมาณ คนพิจารณางบก็ไม่ได้ใช้ แต่คนใช้เป็นหน่วยงานราชการ กฎหมายรัฐธรรมนูญคนเขียนก็เขียนไป ด้วยคนคุมอำนาจปฏิวัติ แต่คนบังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่เคยได้เขียนกฎหมาย กรรมก็ต้องมาตกเป็นของผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย และประเทศชาติครับ สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป หวังว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับประเทศเราครับ

ที่มา – https://www.facebook.com/share/p/aDmki76VNrVN9Agi/?mibextid=WC7FNe

Leave a Reply