ชัดแล้ว !! มหาจุฬา ฯ จุกถ้วนหน้า “ถูกลดเงินประจำตำแหน่งบริหาร-วิชาการ-ปฎิบัติการวิชาชีพ” ยันตำแหน่งธุรการ

      วันที่ 2 กันยายน 2564  มีคำประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งบริหาร ตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่งปฎิบัติการวิชาชีพ และตำแหน่งธุรการและบริหารทั่วไป พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2564    โดย พระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ความว่า

       เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับเงินประจำตำแหน่งบริหาร ตำแหน่งทางวิชาการ และตำแหน่งปฎิบัติการวิชาชีพ และตำแหน่งธุรการและบริหารทั่วไป ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

       อาศัยอำนาจความตามในมาตรา 19 (2) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 และมติสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมคร้ังที่ 8/2564 เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2564 จึงออกประกาศไว้ ดังนี้ต่อไป

 ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งบริหารและตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.2550

 ข้อ 2 ให้บุคลากรประจำที่ดำรงตำแหน่งบริหาร ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งบริหาร หมายเลข 1

 ข้อ 3 ให้บุคลากรประจำที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ หมายเลข2

 ข้อ 4 ให้บุคลากรประจำที่ดำรงตำแหน่ง ปฎิบัติการวิชาชีพ และตำแหน่งธุรการและบริหารทั่วไปได้รับเงินตามบัญชีประจำตำแหน่งปฎิบัติการวิชาชีพ และตำแหน่งธุรการและบริหารทั่วไป หมายเลข 3

 ข้อ 5 การถือจ่ายเงินประจำตำแหน่ง ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ และให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

 

     จากข้อมูลเอกสารด้านล่างจะเห็นว่า เฉพาะตำแหน่งทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์มีถึง 237 ท่าน ,รองศาสตราจารย์ 67 ท่านและตำแหน่งศาสตราจารย์อีก 2 ท่าน จากเอกสารข้อมูลมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะเห็นว่าได้รับงบประมาณจากรัฐบาลแค่ 19,356,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายรายปีสูงถึง 46,852,800 ล้านบาท หมายความว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต้องหารายได้ส่วนต่างเพื่อชดเชยตรงนี้สูงถึง 27,496,800 ล้านบาทต่อปี

    แหล่งข่าวภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รูปหนึ่งเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้มีคนตั้งคำถามพอสมควรว่า  ตอนคัดเลือกตอนประเมินมีการกลั่นกรองเข้มงวดขนาดไหน มีวิธีได้มาด้วยพิเศษหรือไม่ ตอนคัดเลือกทำไมไม่ดูจากเงินที่รัฐจัดสรรมา เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาดังทุกวันนี้ และที่สำคัญปัจจุบันการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินของรัฐ เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ครบถ้วนหรือไม่  เพราะการลดจำนวนเงินเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ สำหรับพระภิกษุอาจไม่ส่งผลกระทบมาก แต่สำหรับคฤหัสถ์ในสถานการการแพร่ระบาดของโควิด -19 นี้ มีผลกระทบแน่นอน

       แหล่งข่าวคนเดิมยังบอกต่ออีกว่า ปัจจุบันมหาจุฬา ฯ มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ทั้งค่าไฟ  ค่าน้ำ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่การเก็บรายได้ของมหาวิทยาลัย มีคนตั้งคำถามเป็นจำนวนมากว่า มีการบริหารจัดการจัดเก็บอย่างไร เช่น มหาจุฬาบรรณาคาร ร้านอาหาร ที่พักตึกอาคาร 92 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั้งหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่เปิดสอนขึ้นมา มีการแบ่งปันสัดส่วนเข้าส่วนกลางอย่างไร..ล้วนเป็นคำถามที่อยากให้ผู้บริหารชี้แจง”

      ในขณะที่ทีมงาน “เดอะบุ๊ด” ได้สอบถามไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์เช่นเดียวกันเปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เรายังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องเหล่านี้ และคิดว่าคงไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนกับมหาจุฬา ฯ ”

Leave a Reply