สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ พระสงฆ์อีสานกับบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตยและการสร้างชาตินิยม

วันที่ 21 มิ.ย. 64 เว็บไซต์ข่าวศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/)ได้เผยแพร่เรื่อง “สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ พระสงฆ์อีสานกับบทบาทสนับสนุนปชต.และการสร้างชาตินิยม” ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์อีสานที่มีบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตยของรัฐในระบอบการปกครองแบบใหม่ และช่วยเผยแพร่สำนึกเกี่ยวกับชาติในยุคประชาธิปไตยชาตินิยม คือ สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เว็บไซต์ข่าวศาสนาาและศิลปวัฒนธรรม ขอเผยแพร่ต่อดังนี้

ประวัติ

สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ เดิมชื่อ อ้วน แสนทวีสุข เกิดที่บ้านดงแคน ตำบลดอนมดแดง อุบลราชธานี เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 บิดาชื่อเพี้ยเมืองกลาง (เคน) ตำแหน่งกรมการเมือง มารดาชื่อบุดสี เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี บวชเป็นสามเณรมหานิกายที่วัดตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบ แล้วย้ายไปศึกษาพระธรรมที่วัดศรีทอง ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2430 บวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดศรีทอง ครั้นถึง พ.ศ. 2433 จึงเข้ามาศึกษาพระธรรมที่สำนักพระศาสนโสภณ (อหิงสโก อ่อน) ที่กรุงเทพฯ พำนักที่วัดพิชัยญาติการาม ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาพระธรรมที่สำนักวัดเทพศิรินทราวาส

ราว พ.ศ. 2442 ท่านได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) ไปตั้งโรงเรียนที่อุบลราชธานี ได้เป็นครูสอนบาลี เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน และเป็นพระสงฆ์นธรรมยุติรุ่นแรก ๆ ที่มีบทบาทในการปกครองและการขยายงานด้านการศึกษาที่มณฑลอีสานในยุคปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5

ต่อมา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ พระศาสนดิลก และตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2447 โดยจัดกิจพระศาสนาอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี กระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2455 ที่ พระราชมุนี, พ.ศ. 2464 ที่ พระเทพเมธี, พ.ศ. 2470 ที่ พระโพธิวงศาจารย์, พ.ศ. 2472 ที่ พระธรรมปาโมกข์, พ.ศ. 2475 ที่ พระพรหมุนีเจ้าคณะรองหนกลาง และ พ.ศ. 2482 ที่ สมเด็จพระมหาวีระวงศ์

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2446 ท่านเป็นเจ้าอาวาสครองวัดสุปุฎนาราม อุบลราชธานี, พ.ศ. 2470 ครองวัดสุทธจินดา นครราชสีมา, พ.ศ. 2475 ครองวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ และพ.ศ. 2485 ครองวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ

ในช่วงที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์อยู่ในภาคอีสาน ท่านได้พัฒนาการศึกษาและขยายพระอารามธรรมยุติออกไปอย่างกว้างขวาง และมีผลงานสำคัญประการหนึ่งคือ การนำการจัดการปกครองคณะสงฆ์แบบภาคกลางไปใช้ในภาคอีสาน และยังเป็นหนึ่งในฝ่ายพระสงฆ์ที่ร่วมกับฝ่ายรัฐพิจารณายกเลิก “พิธีฮดสรง” และการเลื่อนสมณศักดิ์โบราณของพระสงฆ์ในภาคอีสานที่ถ่ายทอดมาจากลาวเวียงจันทน์ แต่บทบาทของท่านในฐานะสนับสนุนประชาธิปไตยและช่วยเผยแพร่สำนึกชาตินิยม เกิดขึ้นในช่วงที่ท่านพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ

ประชาธิปไตย

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2476 ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ได้มีบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตยของรัฐในระบอบการปกครองแบบใหม่ เมื่อนายพันตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) นิมนต์ท่านให้ย้ายจากวัดบรมนิวาสไปพำนักชั่วคราวยังวัดสุทธวราราม ที่นครราชสีมา อันเคยเป็นฐานกำลังของกลุ่มกบฏ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากสนับสนุน

ทั้งนี้เพื่อให้สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ “…เทศนาสั่งสอนและอบรมบรรดาข้าราชการและประชาชนให้ตั้งอยู่ในความสงบไม่แตกความสามัคคีและอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน ให้ถือว่าคนในชาติไทยเสมือนเป็นพี่น้องกันมาแต่อดีต นอกจากนี้ให้เลิกอาฆาตและให้อภัยต่อเหตกุารณ์ที่แล้วมาเสียให้หมดสิ้น…”

สะท้อนให้เห็นว่า รัฐได้พยายามใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการประสานความแตกแยกสามัคคีในหมู่ประชาชน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” โดยสาเหตุที่เจาะจงนิมนต์สมเด็จพระมหาวีระวงศ์นั้น เนื่องจากท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวอีสานมาก

นอกจากนี้ รัฐยังหวังให้สมเด็จพระมหาวีระวงศ์อบรมสั่งสอนพระสงฆ์ที่เป็นนักเทศน์สมัยโบราณให้เปลี่ยนมาเทศน์ให้เหมาะสมกับกาลสมัย โดยให้ยึด “คติธรรม” และ “คติโลก” ผสมผสานกันไป และชักชวนให้ข้าราชการและประชาชนไปฟังเทศน์ตามวัดต่าง ๆ

ชาตินิยม

ถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แนวคิดเรื่อง “ชาติ” ถูกแปรความสำคัญจาก “รัฐธรรมนูญ” มาสู่ “ชาตินิยม” ที่ปรากฏ “การสร้างชาติ” ขึ้นอย่างแข็งขัน ซึ่งสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ก็มักเทศนาที่สะท้อนให้เห็นว่า หัวใจสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” ก็คือ “ประชาชน” โดย “…หมายเอาตัวของคนไทยทุกหน่วยนั้นเองว่าเป็นชาติ…” และที่มาแห่งความเป็นชาตินั้นก็ “…หมายเอาโลหิตทุกหยดอันไหลมาเป็นอวัยวะร่างกายของไทยทุกหน่วย…”

และเมื่อ “ชาติไทย” ถูกสร้างขึ้นจาก “หลักไทย” ตําราประวัติศาสตร์ที่แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ก็สนับสนุนแนวคิดของ “หลักไทย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทในการช่วยเผยแพร่สำนึกชาตินิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังความตอนหนึ่งว่า

“…เป็นประวัติศาสตร์อันวิเศษศักดิ์สิทธิ์ ประหนึ่งเป็นเครื่องมืออย่างดี สำหรับคุ้ยเขี่ยขุดค้นประวัติศาสตร์ของไทยทั้งหมด อันฝังจมอยู่ในที่ลุ่มลึกลับยากจะแลเห็น ให้ลอยเด่นขึ้นจนปรากฏแก่โลก หรืออีกอย่างหนึ่งหนังสือหลักไทยนั้น ต้องจัดว่าเป็นประทีปดวงโตสำหรับเยือง คือ ส่องให้แลเห็นกำเนิดต้นเค้าเหง้าเจียงของชนชาติไทยและชนชาติที่เกี่ยวเนื่องกันว่า เป็นมาอย่างใดนั้นได้ดีทีเดียว…”

นอกจากนี้ สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ยังมีบทบาทสนับสนุนนโยบาย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป. พิบลูสงคราม ในฐานะสังฆนายก ท่านได้ออกตรวจการสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงในภาคอีสาน และได้เทศนาสาระที่เกี่ยวข้องกับรัฐนิยม เช่น หลักปฏิบัติเพื่อสร้างชาติ หลักศีลธรรม การบำรุงรักษาวัฒนธรรม หลักการครองชีพ การศึกษา การเชื่อฟังผู้นำ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น คำเทศนาเรื่อง “เงินดินเงินเดือน” ใน พ.ศ. 2484 ท่านได้เทศนาสั่งสอนและส่งเสริมอาชีพของชาวนาอีสาน ความว่า

“…แล้วให้พากันประพฤติปฏิบัติตามหลักของท่านอธิบดีกรมเกษตร ที่วางไว้นั้นทุกประการ แม้ถึงรัฐนิยมของท่านนายกรัฐมนตรีผู้มุ่งดีหวังดีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกนั้น ก็ให้ใส่ใจ ใคร่ใจสนใจ ประพฤติปฏิบัติตามทุกแง่เงื่อน และคำแนะนำของพระสงฆ์ตลอดจนข้าราชการทุกแผนก มีข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นต้น ก็ให้ทำตามทุกอย่าง เมื่อได้ดังที่ว่ามานี้ ชาวภาคอิสานของเราจะก้าวไว…”

ในครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดจัดตั้ง “วัดประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นวัดต้นแบบที่หลอมรวม 2 นิกายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นแบบอย่างของการเชิดชพูระพทุธศาสนาให้อยู่คู่กับสถาบันชาติในระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้นำไปสู่การตั้ง วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยได้อาราธนาสมเด็จพระมหาวีระวงศ์เป็นเจ้าอาวาสครองวัดแห่งนี้เป็นรูปแรกอีกด้วย

ดังนั้น พระสงฆ์กับการเมืองจึงไม่สามารถแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ต่างก็เกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังเห็นได้จากบทบาทของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ ในฐานะผู้สนับสนุนประชาธิปไตยของรัฐในระบอบการปกครองแบบใหม่ และผู้ช่วยเผยแพร่สำนึกเกี่ยวกับชาติในยุคประชาธิปไตยชาตินิยม

 

ข้อมูล -ภาพ :ttps://www.silpa-mag.com/

Leave a Reply