ที่มา “มหาเถรสมาคม”

ชื่อของ “มหาเถรสมาคม” กลับมามีบทบาทในหน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวว่าสำนักพระพุทธศาสนา (พศ.) แถลงผลการประชุมมส. ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด ได้แก่ พระราชปริยัติสุนทร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พระเทพสารเมธี เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และ พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนชาวกาฬสินธุ์รวมถึงชาวปทุมธานี ถึงขั้นรวมตัวกันลงชื่อคัดค้านคำสั่งมส. ที่ปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ จนยอดผู้ร่วมลงชื่อทะลุเกินกว่าแสนคน ด้านลูกศิษย์ของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ก็นำรายชื่อหนึ่งแสนรายชื่อยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานความเป็นธรรมให้กับพระธรรมรัตนาภรณ์ พร้อมกับนำหนังสือขอให้ระงับคำสั่งถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ยื่นต่อกรรมการมหาเถรสมาคม

เชื้อเพลิงจากปมปลดสามเจ้าคณะจังหวัดยังไม่ทันมอด ชื่อของมหาเถรสมาคมก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงลงพระนามในคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชา หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2564 ห้ามพระภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการ หรือทำงาน ในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่กรณีเข้ารับคัดเลือกเป็นบุคลากรในสถานศึกษาของสงฆ์

“รศ.อานนท์ มาเม้า” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตต่อคำสั่งดังกล่าวว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงจะห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาอย่างคฤหัสถ์ หรือจะจำกัดการเรียนการสอนไว้เฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็มีภาควิชานิติศาสตร์ อันศึกษาวิชาอย่างคฤหัสถ์เช่นเดียวกัน

จากทั้งสองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีจุดร่วม คือ องค์กรผู้ใช้อำนาจเป็น “มหาเถรสมาคม” (มส.) องค์กรปกครองฝ่ายสงฆ์ในประเทศไทย ที่มีอำนาจทั้งในด้านการจัดระเบียบคณะสงฆ์ ปลดเจ้าคณะจังหวัด รวมไปถึงการออกคำสั่งเพื่อให้คณะสงฆ์ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

ในทางกฎหมาย มส. จัดตั้งขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (พ.ร.บ.คณะสงฆ์) ซึ่งผ่านการแก้ไขมาแล้วสี่ครั้ง สองครั้งล่าสุดเป็นการแก้ไขในยุค คสช. มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาผ่านกฎหมาย

 

 

🟠 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง “มหาเถรสมาคม”

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งผ่านการแก้ไขมาแล้วสี่ครั้ง กำหนดโครงสร้างของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

กรรมการมหาเถรสมาคม ล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม มาจากการสถาปนาโดยพระมหากษัตริย์ มีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นอกจากบทบาทในการเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม

“มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

“มาตรา 8  สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม”

ขณะที่กรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

“มาตรา 12 มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”

“มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”

นอกจากพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ยังทรงมีพระราชอำนาจประกาศพระบรมราชโองการให้กรรมการมหาเถรสมาคมออกจากตำแหน่ง แต่กรรมการมหาเถรสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชโองการก็ได้ ได้แก่ มรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ และลาออก

ภายหลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ที่ผ่านการพิจารณาโดยสนช. 14 ตุลาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเนื้อความคือพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป โดยอาศัยอำนาจจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยพระภิกษุซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ล้วนสังกัดวัดที่อยู่ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

🟠 เปิดอำนาจมหาเถรสมาคม ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎ ข้อบังคับ คำสั่งได้ เท่าที่ไม่ขัดกฎหมายและธรรมวินัย

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 ตรี กำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้

1.ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม โดยการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

2.ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

3.ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

4.รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

5.ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งห้าประการข้างต้นก็ได้

นอกจากอำนาจทั้งห้าประการข้างต้น มาตรา 15 จัตวา กำหนดว่า มหาเถรสมาคมยังมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์

🟠 ย้อนดูความเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จากปี 2505 สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคคสช.

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เดิมกำหนดบทบาทของพระมหากษัตริย์ไว้เพียงแต่เป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชจะมีตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นผู้บัญชาคณะสงฆ์ และสามารถตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

ต่อมาพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถูกแก้ไขครั้งแรก โดยการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กำหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่ขยายความเพิ่มเติมว่า กรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกฯ เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เท่ากับเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญ ส่วนพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทสถาปนาตามแบบพิธีเท่านั้น

นอกจากนี้ในการแก้ไขครังแรก ยังขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับคณะสงฆ์ออกไปอีกสองกรณี

หนึ่ง กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่งหรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นใดตามพระราชอัธยาศัยก็ได้

สอง พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งตั้งพระสงฆ์ระดับพระสังฆราช แต่รวมถึงพระสงฆ์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้คณะสงฆ์ด้วย

การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งที่สอง ทำโดยการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2547 ลงนามโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งเดิมพ.ร.บ.คณะสงฆ์กำหนดรูปแบบของผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือปฏิบัติหน้าที่แทน เป็นรายบุคคลเท่านั้น โดยอาจเลือกจากสมเด็จพระราชาคณะ “รูปใดรูปหนึ่ง” แต่ในการแก้ไขครั้งที่สอง กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สามารถแต่งตั้งขึ้นมาเป็นรายบุคคลหรือองค์คณะก็ได้ โดยอาจเลือกจากสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป

การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สาม เกิดขึ้นในยุคของ คสช. โดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ริเริ่มเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 สมาชิก สนช. จำนวน 81 คน นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เสนอแก้ไขประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทในการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในยุคคสช.ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4873)

การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ เกิดขึ้นหนึ่งปีกว่าให้หลัง ในยุคของคสช. อีกเช่นกัน  โดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ริเริ่มเมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบ ประเด็นสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ คือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ โดยปรากฎอยู่ในมาตรา 5 ตรี ที่ระบุว่า “… พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม” ซึ่งตามกฎหมายเดิมกรรมการมหาเถรสมาคมมีที่มาจากสองส่วน คือ  มาจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” ทุกรูป และมาจากการพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” จำนวน 12 รูป โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้ง

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมใหม่ ซึ่งปรากฎในมาตรา 12 ระบุว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”

การแก้ไของค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเลือกจากพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เท่านั้น

อ่านทั้งหมดที่ https://www.ilaw.or.th/node/5990

แหล่งที่มา: iLaw

Leave a Reply