คณะองคมนตรี ประชุมร่วม ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ “อุทกภัย” ในฤดูฝน

 วันที่ 7 มิ.ย. 65  เวลา 14:00 น.ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ นายอำพน กิตติอำพน และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมสังเกตการณ์ ให้คำแนะนำ และข้อห่วงใย ในการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ซึ่งมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลอากาศโท โชคดี สมจิตต์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการร่วม ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์ในปี 2559 ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งวาตภัย อุทกภัย ฝนแล้ง และภัยหนาว จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะองคมนตรี ขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เข้าสังเกตการณ์ในที่ประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อฟังการพยากรณ์ การเตรียมการจัดทำแผนช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ โดยหากระหว่างการประชุมท่านองคมนตรีซึ่งมีประสบการณ์จากการปฏิบัติราชการ รวมถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน นำถุงพระราชทานไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน และได้รับฟังปัญหาข้อมูลจากประชาชนมา จะได้นำเรียนในที่ประชุมนี้ได้ทราบด้วย อันจะยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน และคณะองคมนตรี ได้มอบข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยและดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการนำเสนอภาพรวมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝนปี 2565 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำและกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และจะเป็นการติดตามผลการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ

 “รัฐบาลโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้น้อมนำพระราชแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ในกรณีอุทกภัย เพื่อให้หน่วยงานราชการถือเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ได้น้อมรับมาปฏิบัติ โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมมาตรการและแนวทางต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 รับทราบและเห็นชอบมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือในช่วงฤดูฝนปี 65 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนด และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเน้นย้ำเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุ กำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องของการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ การดำเนินการเมื่อเกิดสถานการณ์ และการสำรวจฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อบรรเทาผลกระทบของพี่น้องประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขโดยเร็ว ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ตามแผนเผชิญเหตุ เตรียมการระบายน้ำ การแจ้งเตือน และเมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

จากนั้น เป็นการสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ของหน่วยงานกลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ ปี 2565 มีปริมาณฝน 557.3 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 52% (ค่าปกติ 336.0 มิลลิเมตร) โดยประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 และคาดว่าจะสิ้นสุดในกลางเดือนต.ค. 65 ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังภาวะฝนทิ้งช่วงบริเวณพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากในช่วงปลายเดือนมิ.ย. 65 – ก.ค. 65 และเฝ้าระวังผลกระทบจากปริมาณฝนสะสมรวมทั้งอาจมีพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค. 65 – ก.ย. 65

ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะผู้อำนวยการกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ 13 พ.ค. 65 – 2 มิ.ย. 65 ได้เกิดอุทกภัยพื้นที่ 31 จังหวัด 103 อำเภอ 313 ตำบล 1,654 หมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการจัดการพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยนำข้อมูลพื้นที่มีประวัติการเกิดอุทกภัยตั้งแต่ปี 54 – 63 ตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ของกรมการปกครอง มาวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงอุทกภัยที่สำคัญ ในพื้นที่ 33,176 หมู่บ้าน/ชุมชน แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงสูงมาก 2,914 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงสูง 9,908 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 20,354 หมู่บ้าน โดยจำแนกตามลักษณะเกิดอุทกภัยเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง 16,237 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 10,481 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงน้ำไหลหลาก/น้ำท่วมฉับพลัน 13,879 หมู่บ้าน/ชุมชน และสำหรับในด้านการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ได้สั่งการทุกจังหวัดปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับพื้นที่ พร้อมจัดระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในทันที และประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยให้กับพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดทีมติดตามประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พร้อมทั้งแจ้งเตือนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ  เพื่อสร้างการรับรู้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบ

ในช่วงท้ายของการประชุมฯ เป็นการนำเสนอการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดสุโขทัย พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งทุกพื้นที่ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ครอบคลุมทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ด้วยการเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร ยานพาหนะ การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานที่รองรับน้ำ ระบบระบายน้ำ การสำรวจและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ รวมทั้งปรับปรุงแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจะดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อวางแผนการป้องกันและบริหารสถานการณ์ในปีต่อไป

Leave a Reply