สำนักงานเลขาสมเด็จพระสังฆราชประกาศ “แนวทางปฎิบัติการจัดกิจกรรม” เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ “พระสังฆราช” วันที่ 26 มิ.ย.นี้            

วันที่ 8 มิ.ย. 65 เนื่องในมงคลสมัยคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะเวียนมาบรรจบในวันอาทิตย์ ที่ 26 มิถุนายน 2565 มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน แสดงเจตจำนงจะเฝ้าถวายสักการะ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ สนองพระเดชพระคุณเหมือนเช่นทุกปี เพื่ออนุวัตมาตรการด้านสาธารณสุขของทางราชการ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จึงประกาศแนวทางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ดังต่อไปนี้

1.เปิดให้เข้าลงนามถวายสักการะที่พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งแต่วันพุธ ที่ 22 ถึงวันเสาร์ ที่ 25 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น.

2.คณะสงฆ์ซึ่งประสงค์จะจัดกิจกรรมถวายพระกุศล สามารถดำเนินงานสาธารณสงเคราะห์ เพื่อสนองพระดำริได้ตามกำลังความสามารถของแต่ละวัด และ/หรือประชุมกันเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาถวายพระกุศล ภายหลังจากการทำวัตรเย็นตามปรกติของแต่ละวัด ในวันอาทิตย์ ที่ 26 มิถุนายน 2565

3.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ประสงค์จะเฝ้าถวายสักการะ ขอให้เข้าประสานความร่วมมือกับวัดในชุมชน เพื่อร่วมกันสนองพระดำริในการจัดกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ และ/หรือเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาถวายพระกุศล ภายหลังจากการทำวัตรเย็นในวันอาทิตย์ ที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่แต่ละวัดจัดขึ้น แทนการเข้าเฝ้า

พระชาติกำเนิด

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อเวลารุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ 1 ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนก(บิดา) มีนามว่า นายนับ ประสัตถพงศ์ (แซ่ตั๊ง) พระชนนี (มารดา) มีนามว่า ตาล ประสัตถพงศ์ สกุลเดิม วรกี เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน คือ 1) นางสุนีย์ บูรพาพร 2) สมเด็จพระสังฆราชฯ 3) นางสุมนรัตน์ อ่อนโยน (เสียชีวิต) 4) พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร จังหวัดราชบุรี 5)นางเพ็ญศรี วิเชียรทอง (เสียชีวิต) 6) นายสวัสดิ์ ประสัตถพงศ์ 7) นพ.สุนันท์ ประสัตถพงศ์ 8) นางเตือนจิตต์ มิ่งคำเลิศ และ 9) นางพิณรัตน์ เปี่ยมราศีสกุล

ในวัยเยาว์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย พระชนกพระชนนี มีบุตรธิดามาก จึงได้ฝากท่านได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี กับ นาวาอากาศโท ทรัพย์ วรกี ผู้เป็นลุง ซึ่งมารับราชการทหารอากาศ อยู่ที่ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป.4 ในปี พ.ศ. 2480

การบรรพชาอุปสมบท

เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสตถิ์ สุมิตฺตเถร) เป็นพระอาจารย์คอยอบรมพระธรรมวินัย

ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามโดยมี พระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม

ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2488

เมื่อ พ.ศ. 2490 ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี และภายหลังอุปสมบท พระองค์ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

หลังเป็นเปรียญ 5 ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท  ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

Leave a Reply