มหาดไทยเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน : SDGs” ตามกรอบ UN กระจายสู่ภูมิภาคทุกจังหวัด

วันที่ 8 มิ.ย. 65  เวลา 08.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานลดโลกร้อนกระทรวงมหาดไทยเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานฯ โดยมีที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ประกอบด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นายประสพโชค อยู่สำราญ และ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน และคณะทำงาน ได้แก่ นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม

โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐเมริกา นายสตีเฟ่น ดูจาร์ริค โฆษกประจำตัวนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้แถลงถึงพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทยร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 โดยกล่าวว่า “การลงนามฯ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายที่มุ่งเน้นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ อันเป็นการยกระดับบทบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของ UN โดยความร่วมมือกับทีมงานของ UN และหน่วยงาน รวมถึงพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดย UN จะร่วมสนับสนุนการทำงานในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนตามธรรมชาติ ทั้งการเผาไหม้ชีวมวลและการลดมลพิษ การทำฟาร์มอัจฉริยะ และการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนผ่านการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งคำแถลงสำคัญของหน่วยงานระดับโลกที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการสานพลังทุกภาคีเครือข่ายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ดร.วันดีฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ล้วนเกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น แต่นับว่าเป็นโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) และทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี หรือมากกว่า 4,000 โครงการ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งพระวิสัยทัศน์และน้ำพระราชหฤทัยของทั้ง 2 พระองค์ ล้วนเป็นการพัฒนาที่ทรงมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “พัฒนาคน” ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยิ่งเป็นบุญของคนไทยที่สิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำใส่เกล้าฯ มาขับเคลื่อนปฏิบัติ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” หรือโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง รวมถึงพระราชกระแสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานกำลังใจและพรอันประเสริฐให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา ภายหลังจากกราบทูลถวายรายงานการขับเคลื่อนงานตามพระราชดำริใน 5 เรื่อง คือ 1) การน้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” มาขับเคลื่อนให้ครัวเรือนได้ปลูกผักสวนครัว ซึ่งขณะนี้มี 12 ล้านครัวเรือน จาก 20 ล้านครัวเรือน 2) การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และมากที่สุด 3) การส่งเสริมสุขอนามัยแม่และเด็ก ด้วยการเติมเต็มให้เด็กได้มีสารอาหารเพื่อได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย และจิตใจ พร้อมสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ตามช่วงวัย 4) การขัดแยกขยะ ด้วยการรณรงค์จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน และเรื่องที่ 5) คือ การน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านในทุกที่ถิ่นชนบทได้ใช้ฝีไม้ลายมือที่ตกทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมาถักทอผืนผ้าโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้วยการใช้สีธรรมชาติเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกโอกาส เพื่อเม็ดเงินก็จะหมุนเวียนกลับสู่ครอบครัว ชุมชน ทำให้มีรายได้เลี้ยงดูจุนเจือลูกหลานในครอบครัว โดยพระราชดำริเหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับเป้าหมาย (Goals) ของ UN โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 1) No Poverty และ 2) Zero Hunger  ซึ่งหากพวกเราสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานทุกพื้นที่ของประเทศได้สำเร็จ ก็จะสามารถปลดล็อคไปสู่การพัฒนาตามเป้าหมายอีก 16 ข้อได้สำเร็จ ตาม MOU ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมกันลงนามกับ UN เมื่อวานนี้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย

“SDGs ทั้ง 17 ข้อ ได้แก่ 1) No Poverty ขจัดความยากจนทุกรูปแบบ 2) Zero Hunger ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร การเกษตรยั่งยืน 3) Good Health and well-being การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกช่วงวัย 4) Quality Education การศึกษาเท่าเทียม ทั่วถึง ตลอดชีวิต 5) Gender Equality ความเท่าเทียมทางเพศ  6) Clean Water and Sanitation การมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7) Affordable and Clean Energy การมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ 8) Decent Work and Economic Growth ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและจ้างงานที่มีคุณค่า 9) Industry Innovation and Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 10) Reduced Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำ11) Sustainable Cities and Communities เมืองมีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา 12) Responsible Consumption and Production การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13) Climate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14) Life Below Water อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล 15) Life on Land ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16) Peace and Justice Strong Institutions สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ 17) Partnerships for the Goals สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้คือเป้าหมายของสหประชาชาติที่ทั่วโลกจะทำให้ได้ภายในปี 2030 ผ่านวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย เช่น Society 5.0 ญี่ปุ่น  Smart Nation สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย 4.0 เป็นต้น” ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ

ดร.วันดีฯ กล่าวต่ออีกว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมให้พันธะสัญญาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยประกาศว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 และได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะ “เราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

“จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีข้างต้น และเป้าหมาย/แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกจังหวัดของประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายที่สุดในตอนนี้ คือ “การคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ” โดยท่านผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน นำนโยบายของรัฐบาล ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย มาดำเนินการร่วมกับแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดจากมติการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวในช่วงท้าย

 จากนั้นที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อลดภาวะโลกร้อนของกระทรวงมหาดไทย โดย ศ.ดร.ชนาธิปฯ กล่าวว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) คือ ทุกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องมีกิจกรรมทดแทนที่ยั่งยืน ด้าน นางประเสริฐสุขฯ เน้นย้ำว่า Carbon Neutrality คือ มาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นศูนย์ที่อาจกำหนดกรอบเวลา และวัดเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) หากปล่อยเท่าไหร่และทำกิจกรรมทดแทนแล้วยังลดไม่หมด ก็สามารถซื้อ carbon credit มาทดแทนได้ ซึ่งที่ใกล้ตัวพี่น้องประชาชน คือ การแยกขยะ สิ่งที่มีกลิ่นออกมา คือ ก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพทำให้โลกร้อนมากกว่า Co2 ที่ออกจากรถยนต์ถึง 28 เท่า รวมถึงกิจกรรมด้านเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน การทำปศุสัตว์ ที่เกิดจากการเคี้ยวเอื้องและการเรอหรือการผายลมของสัตว์ หรือการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ดังนั้น การจัดการขยะ/ของเสียตั้งแต่ครัวเรือน จะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ และประชาชนจะได้ประโยชน์จากการคัดแยกขยะโดยตรง ทั้งนี้ Net Zero ต้องเกิดผลยั่งยืน ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น เพิ่มพื้นที่ป่าหรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเก็บก๊าซเรือนกระจกไว้ใต้ดินไม่ให้ขึ้นมาสู่ชั้นบรรยากาศอย่างยั่งยืนยาวนาน

ด้าน รศ.วรวรรณฯ ได้กล่าวถึงการดำเนินการกลไกกระทรวงมหาดไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อที่ในทุกพื้นที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งต้องสื่อสารทำความเข้าใจแนวปฏิบัติหรือกรอบการทำงานให้ชัดเจนเพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึง ผศ.พิเชฐฯ ได้กล่าวว่า ในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยมีฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ แพลตฟอร์ม ThaiQM ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) อย่างมีทิศทางและนำไปสู่ความยั่งยืน

ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานลดโลกร้อนกระทรวงมหาดไทยฯ จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกันระหว่างคณะทำงานฯ ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และผู้แทน UN ประจำประเทศไทย ก่อนกำหนดกรอบการทำงาน (Framework) เพื่อกระทรวงมหาดไทย และทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน อันส่งผลให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้มีอายุที่ยืนยาว เพื่อลูกหลานในอนาคตได้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน

Leave a Reply