ความจริงนี่มิใช่ครั้งแรกของ “เปรียญสิบ” ในการเดินทางมายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งจังหวัดยะลาด้วยแล้ว เดินทางมาแล้วหลายครั้งครั้งแรกมากับ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน สมัยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.ยส.จชต.) น่าจะประมาณพุทธศักราช 2548 หรือไม่ก็ใกล้เคียง
ตอนนั้นมาผลิตรายการ “กรองสถานการณ์” ช่อง 11 ถ่ายทอดสดกันหน้าโรงแรม CS ปัตตานี ของอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล อดีตกลุ่ม 40 สว.นั่นแหละ ได้ลิ้มรสโรตีและชาชัก อันเลื่องลือก็ตรงนี้
หลังจากนั้นเดินทางร่วมคณะกับทีมงานรัฐมนตรีหลายครั้งหลายคณะ รวมทั้งเคยรับจ้างทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับ ศอ.บต.ด้วยก็หลายวาระด้วยกัน หรือแม้กระทั้งเดินทางมาบันทึกรายการที่ มอ.ปัตตานี กับ “จอม เพชรประดับ” ก็เคยมี
แต่!!ไม่มีครั้งใดเลบที่เดินทางมาคนเดียวแบบนี้และไม่มีครั้งใดที่ออกไปรับประทานอาหารกลางคืนที่คน “ส่วนกลาง” หรือ “ต่างถิ่น” บางคนมองว่า “จังหวัดยะลา” เป็นแดนอันตราย??
เมื่อพัฒนาการจังหวัดยะลา “พีร ฤทธิ์เดช” ชวนออกไปทานข้าวและพาไปสัมผัสยามค่ำคืน “ห้าแยกยะลา” ที่ท่านบอกว่า “ครึกครื้น” พร้อมกับการันตีว่าปลอดภัย ซ้ำบอกต่ออีกว่าเดิมท่านอยู่จังหวัดสระแก้ว เพิ่งย้ายมาได้ประมาณ 2 เดือนก็คิดเหมือนที่เราคิด แต่เวลามาอยู่จริง สัมผัสจริง ไม่เป็นไปดังที่คนส่วนใหญ่คิด
“ร้านแอ๋วอีสาน” ตั้งอยู่ในชุมชนตัวเมืองยะลานั่นแล เป็นร้านใหญ่บรรยากาศมีคนพอสมควรที่นี้ “พี่รัตนา” หรือ น.ส.รัตนา ไมมัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน มาร่วมทานอาหารอีสานด้วยกัน
จาก “ศพช.” มาที่ร้านแห่งนี้ระยะทางน่าจะประมาณ 3 กม. ตลอดเส้นทางสังเกตวิถีชีวิตชาวบ้านเหมือนกับต่างจังหวัดทั่วไป ไหน !! มีคนบอกว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ 1 ทุ่มปิดประตูเงียบแล้ว พวกเรานั่งรับประทานอาหารกันเสร็จประมาณ 21.00 น. พัฒนาการจังหวัดชวนไปห้าแยกละยา ไปดื่มน้ำชาและกินโรตี ท่านย้ำว่าไม่ต้องลงก็ได้ พาไปดูบรรยากาศห้าแยกมายะลา กลางคืน ต้องมาที่นี่ไม่งั้นไม่ถึงยะลา
“ห้าแยกยะลา” มีร้านค้ามากมาย มีผู้คนครึกครื้น หนุ่มสาว วัยทำงาน นั่งดื่มน้ำชา กินโรตีหลากหลายชีวิต เมื่อไปถึงลงไปดื่มน้ำชากินโรตี เห็นหนุ่มสาวโต๊ะข้าง ๆ คุยกันอย่างสนุกสนาน บางโต๊ะคุยภาษาท้องถิ่น บางโต๊ะคุยภาษากลาง ตอนแรกนึกว่าเป็นเด็กจากกรุงเทพมาเรียนที่นี่ สอบถามบอกว่า “คนที่นี่” คิดไปคิดมาอิทธิพลเมืองหลวงทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม ช่างมี ศักยภาพและอิทธิพล จริง ๆ ขนาดคนมุสลิมที่ว่าแข็งแกร่งที่สุดแล้วในการรักษาวัฒนธรรมยัง “แพ้พ่าย”
ที่ห้าแยกยะลามีโบสถ์คริสต์ด้วย ตั้งอยู่ท่ามกลางคนมุสลิม คนพุทธ ดูแล้วช่างมี “เสน่ห์” และน่าปลื้มใจแทนศาสนิกชนเขาจริง ๆ เราในฐานะชาวพุทธก็อดใจไม่ได้ที่ต้องอนุโมทนาที่มีตัวแทนศาสนาคริสต์มาร่วมสอนให้คนร่วมกันทำความดีในพื้นที่แบบนี้
กว่าจะถึงที่พัก 4 ทุ่มกว่า เตรียมตัวเข้านอน พรุ่งนี้จะไปพบ “ป้าผิว” หญิงแกร่งแห่งปฐพี ตัวจริง เสียงจริง ที่สู้ชีวิตจนได้ดี ทั้งที่ในอดีตสามีถูกยิงตาย ดิ้นรนเลี้ยงลูก 3 คน หากิจกรรมสร้างสัมพันธ์ร่วมกันในชุมชน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน จนทุกวันนี้ “ประสบความสำเร็จ” กลายเป็น สังคมรู้รักสามัคคี กลายเป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้ผืนแผ่นดินเดียวกัน..
“บ้านเจาะตีเมาะ” เดิมชื่อว่า “จาเราะติเมาะ” จาเราะ แปลว่า ลำธาร ซึ่งมีอยู่ 2 ลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ “ติเมาะ” แปลว่า ดีมุก รวมทั้งสองคำแล้วแปลว่า “สายน้ำที่มีดีมุก” สภาพดินและป่าแถวนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เย็นร่มรื่น อากาศชื้น ๆ เหมือนป่าดงดิบ เหมาะแก่ทำเกษตร ต่อมามีการเข้ามาอยู่อาศัยทำสวนยางพารา คนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้ชื่อจาก “จาเราะติเมาะ” เพี้ยนไปเป็น “เจาะติเมาะ”
“ป้าผิว เสาะสุวรรณ” เช่นเดียวกันเดิมเป็นคนจังหวัดปัตตานี เป็นคนพุทธ โยกย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านเจาะติเมาะนี้ตั้งแต่บรรพบรุษ ยึดอาชีพทำสวนยางพารา เมื่อปี 2541 สามีถูกยิงเสียชีวิต เป็นแม่เลี้ยงเดียวดูแลลูกน้อย 3 คนประเภทปากกัดตีนถีบไม่ยอมมีสามีใหม่ เนื่องจากลูกชายคนโตของร้องไว้ว่า “แม่อย่ามีสามีใหม่” ป้าผิวเล่าว่า
บริบทของชุมชนบ้านเจาะติเมาะเป็นแบบชุมชน 2 วิถี มีทั้งพุทธและมุสลิม พุทธมี 38 ครัวเรือน มุสลิมมี 200 กว่าครัวเรือน ซึ่งอยู่ร่วมกันได้ พุทธเลี้ยงหมา มุสลิมเลี้ยงแพะ เป็นแบบนี้มานาน จนตอนหลังมีเหตุการณ์รุนแรง ทำให้ชุมชนมีการแตกแยกกัน โดยส่วนตัวแล้วก็คิดหาวิธีทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนเราอยู่ร่วมกันได้ ไทยพุทธบางคนก็ย้ายออกไปจากพื้นที่แต่ตัว บางคนก็ย้ายทะเบียนบ้านออกไปเลย จึงมีความคิดที่ว่าถ้าเราอยู่แบบนี้ หากจะหนีไปด้วยก็คงเป็นไปไม่ได้ จึงคิดจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา
โดยเริ่มแรกเป็นกลุ่มสัมมาชีพ เอาน้อง ๆ ที่เป็นแกนนำของมุสลิมเข้ามาร่วมด้วย พวกผลผลิตทางการเกษตรนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็ทำให้ผลผลิตราคาตกต่ำ ยางพาราก็ราคาตกต่ำเหมือนกัน จึงมีความคิดที่จะทำกลุ่มพัฒนาน้ำยางของตนเองก่อน เรามารวมกลุ่มกัน จากนั้นก็เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น กล้วยของ ตำบลละแอ ส่งในตลาดได้หวีละ 18 บาท ต่อมาลดเหลือ 16 บาท จากนั้นลดลงอีกเรื่อย ๆ เพราะกล้วยของเรามีเม็ด จึงเกิดความคิดว่า อย่างนั้นเราต้องเอาสตรีที่มีอยู่ในชุมชน รวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดสันติสุขในชุมชนให้ได้ ตอนวันที่ 12 มกราคม 2560 ได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มสัมมาชีพและได้เข้าไปอบรมกับกรมพัฒนาชุมชนเป็นเวลา 5 วัน
กลับมาจากอบรมแล้วก็เริ่มทำแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของไทยพุทธ และมุสลิม ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็เริ่มดีขึ้น ในกลุ่มของเรา มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 13 ชิ้น ซึ่งพวกเรามีความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ชิ้นล่าสุดของเราที่มีที่เดียวใน ตำบลละแอ จังหวัดยะลา ที่ยังไม่มีที่อื่นในประเทศไทย คือ กาละแมหน่อไม้ ที่นำหน่อไม้ไผ่หวานมาทำเป็นกาละแม และไม่ผสมแป้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ส่งเสริมให้ปลูก
“รายได้ของเราจากเดิมที่เคยได้ 8,000-10,000 กว่าบาท ต่อยอดและขยายมาจนถึงตอนนี้รายได้เฉลี่ยเดือนละ 40,000 กว่าบาทแล้ว กาละแมหน่อไม้นี้ เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ระยะแรกยังไม่มีกลุ่มตลาด ไม่มีคนต้องการ ก็เริ่มขายจากงานแต่ง งานบวช งานเลี้ยง ต่อมามีหน่วยงานภาครัฐเข้ามา จึงมีโอกาสได้ออกรายการ “ปากท้องต้องรู้” ทำให้ได้มีการนำเสนอเรื่อง กาละแมหน่อไม้ ล่าสุดได้ออกรายการ “ตลาดแตก” ทำให้มีคนรู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น วิหากิจเรามี 25 คน มีพุทธ 7 คน อีก 18 คนเป็นมุสลิม จะเห็นได้ว่า เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เกิดความสามัคคีกันขึ้นในชุมชน ต้องขอบคุณกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ได้มอบโอกาสที่ดี นอกจากโคกหนองนาโมเดลแล้ว ยังทำให้ได้พัฒนาพืชผลทางการเกษตรที่มีอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ จริง ๆ แล้วอาชีพหลักคนที่นี่ คือ กรีดยาง พอช่วงบ่ายก็จะมาใช้ชีวิตที่กลุ่มกันอย่างมีความสุข ส่วนสามีที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมทำขนม ก็จะไปร่วมกิจกรรมโคกหนองนา..”
“อมร ชุมช่วย” นายอำเภอยะหา จ.ยะลา ที่เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์พร้อมกับนำทีม อส.ที่มีอาวุธครบมือมาดูแลความปลอดภัยให้คณะด้วย เป็นคนพื้นที่ชายแดนใต้เหมือนกันบอกว่า ตั้งแต่รับราชการมาก็อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่กับประชาชน ทำงานให้กับประชาชน พูดจาคล่องแคล่วฉะฉานสไตร์ คนมหาดไทยทั่วไปที่พูดจาฉะฉาน คล่องแคล่ว ประเภท “หมุนสมองให้ทันสมัย” อยู่เสมอ ซึ่งข้าราชการแบบนี้ในฐานะทำงานสื่อมาหลายสิบปีคลุกคลีกกับผู้คนมาทุกระดับชั้นนอกจากกระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงอื่น หาตัวยาก
ก่อนกลับเช่นเดิม “สปอนเซอร์หลัก” ที่ดูแลการเดินทางและค่าใช้จ่ายตลอดทริปนี้คือ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝากบอกไว้ว่า “การลงพื้นที่จริงหากมีโอกาสขอให้พี่ได้คุยกับชาวบ้านบ้าง เพื่อให้กำลังใจพวกเขาที่ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมและประเทศชาติ หรือหากชาวบ้านเขาเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลืออะไรหากช่วยได้ ก็จะได้ช่วยเหลือกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน..”
“เปรียญสิบ” ต่อสายให้ป้าผิวได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งคุยกับนายอำเภอและพัฒนาการจังหวัด ซึ่งหลังสนทนาจบป้าผิวชูกำปั้นด้วยความดีใจ พร้อมกับบอกว่า “ป้าจะสู้ต่อ ป้ามีกำลังใจที่จะทำแบบนี้ เพื่อหมู่บ้าน เพื่อลูกหลาน และเพื่อคนไทยเราด้วยกันเราจะร่วมกันสร้างสันติสุขด้วยกันจาก กิจกรรมเล็ก ๆ แบบนี้แหละ.”
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การทำเกษตร วิถีชีวิตประชาชน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ มุสลิมหรือคริสต์ ความจริงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพียงแต่ต้องไม่มีอะไรเข้าไปแทรกซ้อนหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง แล้วเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์สร้างความขัดแย้ง!!
……………
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]
Leave a Reply