“ปลัดและนายกสมาคมแม่บ้านมท.” สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลงพื้นที่ขับเคลื่อน “ดอนกอยโมเดล” จากสีครามเข้มสู่คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย

กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อน “ดอนกอยโมเดล” จากสีครามเข้มสู่คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย พร้อมขยายผลไปยังทุกอำเภอในจังหวัดสกลนคร และทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2565 เวลา 09:00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ผศ.ดร. ศศิธร จันมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร. ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ดร. ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นายวิชาญ อิทธิฤกษ์มงคล นายอำเภอพรรณนานิคม ข้าราชการ และคณะสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมฯ โดยมี นางถวิล อุปรีย์ ประธานกลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่ม พี่น้องประชาชนบ้านดอนกอย และนักเรียนโรงเรียนบ้านดอนกอย ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทุกครั้งที่พวกเราทุกคนได้มีโอกาสมาเยือนบ้านดอนกอย จะสัมผัสได้ถึงความสุขและภาพจดจำที่น่าขนลุกด้วยความประทับใจในน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อย่างไม่ลืมเลือน ครั้งที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อพี่น้องชาวดอนกอย ด้วยทรงเสด็จมาเยี่ยมพี่น้องชาวดอนกอย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และพระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มทอผ้าย้อมครามได้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านอย่างไม่ถือพระองค์เอง โดยจุดแรกที่เสด็จคือที่บ้านแม่ถวิล อุปรีย์ ทรงไปประทับนั่งเข็นฝ้ายคู่กับยายเจียงจันทร์ แล้วเสด็จไปใต้ถุนบ้านซึ่งมีพี่น้องสมาชิกกลุ่มกำลังช่วยกันทอผ้า ย้อมผ้าอยู่ ด้วยสีพระพักตร์ที่แช่มชื่น พร้อมทรงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งสวมเอี๊ยม สวมถุงมือ แล้วมัดย้อม และย้อมคราม แล้วทรงไปที่กี่ทอผ้า เพื่อพระราชทานขวัญกำลังใจให้ทุกคนด้วยการทรงลงมือทอผ้าด้วยพระองค์เอง ทำให้พวกเราทุกคนได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในด้านงานหัตถกรรมไทย

“ตลอดระยะเวลาที่เสด็จนั้น แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวเพียงใด แต่สีพระพักตร์ของพระองค์ท่านก็ทรงแย้มพระสรวลอยู่ตลอดเวลาด้วยสายพระเนตรแห่งความสุขที่ได้อยู่กับพสกนิกรชาวดอนกอยซึ่งเป็นที่รักของพระองค์ และสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ คือ ฝาผนังใต้ถุนบ้านของแม่ถวิล จะมีภาพลายผ้าโบราณของผ้าย้อมคราม เช่น ลายนกนางแอ่น ลายต้นสน ลายต้นกล้วย ลายฟันปลา ลายพิกุลทอง ประมาณ 30 – 40 ลาย โดยทรงตรัสชมเชยแม่ถวิลและกลุ่มดอนกอยว่า “ดีมากที่รู้จักในการจัดแสดง เก็บรวบรวมลายผ้าเอาไว้เป็นภาพ และมีคำอธิบาย” อันเป็นการสงวนรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษ พร้อมทั้งทรงมีพระราชดำรัสแนะนำในการปรับปรุงลายผ้า ให้มีขนาด มีรูปร่างที่ถูกใจวงการแฟชั่นเพิ่มมากขึ้น คือ การใช้ลายเก่า ด้วยการรู้จักลดขนาด ย่อขนาด เอาลวดลายมาผสมผสานให้มีความกลมกลืน และได้ตรัสชม ลูกหลานชาวดอนกอยว่า “ดีมากที่ทางครูช่วยกันในการที่ส่งเสริมให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้สวมใส่ผ้าย้อมคราม และให้กำลังใจให้สวมใส่กันต่อไป”นำมาซึ่งความปลื้มปีติของชาวดอนกอย ที่ต้องเขียนบันทึกไว้เป็นพินัยกรรมให้ลูกหลานว่า เรามีประเพณี วัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา อาหารการกิน ที่เป็นความภาคภูมิใจในความเป็นคนดอนกอย สะท้อนผ่านเครื่องนุ่งห่ม “ที่มีครามกับผ้าฝ้ายเป็นหัวใจ” และพระองค์ยังทรงพระราชทานพระวโรกาสร่วมร่ายรำไปกับแม่ถวิลและพี่น้องชาวดอนกอยอย่างไม่ถือพระองค์ โดยการเสด็จในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นและจุดจบในวันเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นแสงสว่างที่ถูกจุดขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่ได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือดอนกอยโมเดลเล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาศึกษาเรียนรู้ได้ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เป็นบุญของพวกเราทุกคนที่ตลอด 60 ปีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยโดยมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้พวกเรามีความเป็นไทย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถรักษาการหัตถศิลป์หัตถกรรมให้มั่นคงสถาวรไว้ได้ และนับเป็นโชคดีของคนไทยทุกคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระทัยมั่นในการสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสิ่งที่เป็นโชคดีของพี่น้องช่างทอผ้าทุกคน คือ แสงประทีปได้ถูกจุดอย่างต่อเนื่องด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสานแนวพระราชปณิธานของสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน ด้วยการลงมาช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ “บ้านดอนกอย” แห่งนี้ ที่พระองค์ท่านทรงลงมาสอนด้วยพระองค์เองตั้งแต่ต้นจนจบ และยังทรงเชื้อเชิญให้ผู้มีความสามารถด้านการออกแบบ ดีไซเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ซึ่งทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ ลงมาคลุกคลีตีโมง Coaching ให้ความรู้ในการพัฒนาต่อยอด ด้วยวิธีการ Learning by doing พัฒนาจากผ้าครามสีเข้ม กลายเป็น 6 เฉดสี กลายเป็นสี earth tone ที่มีลวดลายหลากหลาย รวมถึง packaging ที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของคนดอนกอย เพื่อให้สินค้าไม่เป็นเพียงสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ แต่สามารถขายไปทั่วโลก ทั้งยังได้นำความรู้จากการศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงที่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และประสบการณ์ส่วนพระองค์ มาศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ พระราชทานเป็นแนวพระดำริในการพัฒนาต่อยอดให้กับพี่น้องผู้ทอผ้า โดยพระราชทานลายผ้ามัดหมี่ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” อันเป็นการสอนให้เรารู้ว่า ลายใหม่เกิดขึ้นได้จากรากฐานลายเก่า ทั้งทรงบูรณาการองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระตุ้นปลุกเร้าให้พี่น้องประชาชนช่วยกันปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เช่น คราม สอดคล้องกับหลักการพึ่งพาตนเอง อันเป็นความมั่นคงที่แท้จริง เฉกเช่นเดียวกับวิชาลูกเสือที่สอนให้มีความมั่นคง รู้จักช่วยเหลือตนเอง รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักตัดกระบอกไม้ไผ่มาหุงข้าว และที่ยากที่สุด คือ ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนในการไม่สนับสนุนการใช้สีเคมี ด้วยทรงไม่รับผ้าที่ย้อมด้วยสีเคมี เพื่อทรงสอนให้รู้ว่า สีเคมีเป็นอันตรายต่อคนทำผ้า คนย้อมผ้า และอันตรายต่อผู้สวมใส่ และพวกเราต้องศึกษาเรียนรู้การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิต และโลกใบเดียวนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราชาวมหาดไทย อันประกอบด้วย ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทุกคน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ได้ร่วมกันสนองแนวพระราชดำริ และแนวพระดำของทุกพระองค์ ด้วยการมุ่งมั่นทำงานในฐานะผู้ให้การสนับสนุนพี่น้องประชาชน ด้วยใจ ด้วย Passion ที่พวกเราอยากให้พี่น้องประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้นจนหมดไป ทุ่มเทพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ดังที่บรรพบุรุษของกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 130 ปี เพื่อพวกเราทุกคนสืบสานปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ก้าวสู่ปีที่ 131 132 ในการมุ่งมั่นพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงมีพระดำริในการ “พัฒนาคน” ที่บ้านดอนกอยแห่งนี้ ซึ่งหาอ่านไม่ได้ในตำรา โดยช่วยกันทบทวน จดบันทึก ถอดบทเรียนหลักการทรงงานที่บ้านดอนกอย “ดอนกอยโมเดล” ขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดสกลนครทั้ง 18 อำเภอ รวมถึงทุกอำเภอทั่วทั้งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป

ด้าน นางถวิล อุปรีย์ ประธานกลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย กล่าวว่า ไม่เคยลืมเลือนความรู้สึกเมื่อครั้งพระองค์ท่านพระราชทานโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตพวกเราชาวดอนกอย ที่พระองค์ไม่ถือพระองค์เองเลย ทรงลงมาประทับนั่งกับชาวบ้านอย่างเรา ๆ ทรงให้คำแนะนำให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วยังส่งอาจารย์มาให้คำแนะนำ มากินนอน มาใช้ชีวิตร่วมกับพวกเราทุกคน เช่น อาจารย์โจ อาจารย์จ๋อม ทำให้เราได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร วัยรุ่นชอบแนวไหน ตลาดเสื้อผ้าเป็นไปในทิศทางไหน เอารสนิยมความชอบของคนมาผสมผสานกัน โดยไม่ทิ้งลวดลายดั้งเดิมของปู่ย่าตายาย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะพวกเรากลุ่มทอผ้าบ้านดอยกอย จากเดิมมีรายได้คนละ 700 บาทต่อเดือน และหลังจากพระองค์มาช่วย ทำให้พวกเรามีรายได้ 7,000-10,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยชาวดอนกอยจะขอเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และนำองค์ความรู้ที่พระราชทานมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพงานเพื่อเป็นไปตามพระราชประสงค์ คือ ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนดีขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ รับชมการแสดง “สาวน้อยรำเซิ้งย้อมคราม” และการขับร้องเพลง “บ้านดอนกอย ” โดยนักเรียนโรงเรียนบ้านดอนกอย การบอกเล่าประวัติความเป็นมาและนำเยี่ยมชมกลุ่ม โดยแม่ถวิล อุปรีย์ ประธานกลุ่มผ้าย้อมคราม และการร่วมกันร้องเพลง “กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย” โดยภาคีเครือข่ายผ้าย้อมคราม อำเภอพรรณานิคม พร้อมทั้งร่วมกิจกรรม “มหัศจรรย์แห่งแม่สี ภูมิปัญญาสร้างสรรค์” เยี่ยมชมกระบวนการผลิต 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเข็นฝ้าย ค้นหมี่ มัดหมี่ 2) การทำน้ำคราม ก่อหม้อ ย้อมคราม 3) การเตรียมเส้นด้ายและการย้อม 4) การมัดหมี่ 5) การค้นฮูก สืบฮูก ปั่นหลอด 6) การทอผ้าย้อมคราม และเยี่ยมชมบ้านหลังใหม่ชาวครามดอนกอย พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ (หว่านสวนคราม) บริเวณโดยรอบพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมคราม บ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”

Leave a Reply