วิพากษ์กระบวนการเรียนรู้ที่มีสติสมาธิ เป็นฐานปฏิรูปสอนพุทธในร.ร.สังกัด สพฐ. พบอดีตดุจโลงศพ เหตุผู้สั่งไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้สั่ง
วันที่ 12 เมษายน พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาุจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หนึ่งในบรรดาของใช้สอยนั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ #ผู้สั่งไม่ได้ใช้ #ผู้ใช้ไม่ได้สั่ง สิ่งที่ว่านั้นคือ #โลงศพ การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็เฉกเช่นเดียวกัน ผู้เรียนไม่ได้ออกแบบ และผู้ออกแบบไม่ได้เรียน
คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการฯ จึงได้จัดให้มีการโฟกัสกรุ๊ประหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2562 ที่อาการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องและเป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นผู้ใช้หลักสูตรโดยตรง ประกอบด้วยกลุ่มนักเรียนผู้ใช้หลักสูตร นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา นักกิจกรรมออกแบบการเรียนการสอน ครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา และครูพระสอนศีลธรรม โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนบอกความต้องการแต่เริ่มแรกว่า วิชาพระพุทธศาสนาที่นักเรียนต้องการควรมีรูปร่างหน้าตาย่างไร จึงจะสมารถตอบโจทย์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้
ความใส่ใจต่อข้อเรียกร้องของผู้ใช้หลักสูตรดังกล่าว จึงเปิดพื้นที่ให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมมาร่วมกันบอกถึงความต้องการในการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการควบคู่ไปกับผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง รวมถึงครูพระสอนศีลธรรม
หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ทั้งด้านหลักสูตร ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านประเมินผล ด้านสื่อการสอน ด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตร และด้านพัฒนาครูผู้สอน จึงได้นำความต้องการทั้งหมดไปออกแบบ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการ โดยใช้เวลาทุ่มเททำงานอย่างหนัก ทั้งสิ้น 5 เดือน จนในที่สุด จึงสามารถให้กำเนิด (ร่าง) กิจกรรมการเรียนการสอนออกมาในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะทำให้ร่างดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา จึงเปิดใจกว้างจัดเวทีทำ Focus Group เพื่อวิพากษ์ร่างกิจกรรมการเรียนการสอน โดยได้เชิญผู้แทนของเด็กนักเรียนมาร่วมวิพากษ์สิ่งที่คณะทำงานได้ออกแบบเอาไว้ โดยใช้ระยะเวลา 2 วันเต็ม
ผลลัพธ์จากการวิพากษ์ ทำให้คณะอนุกรรมการฯ ได้รับโจทย์ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นของการออกแบบกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตื่นรู้ และสอดรับกับวิถีของกระบวนการเรียนรู้ที่มีสติ และสมาธิเป็นฐานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อที่จะนำมานั้น ต้องสอดรับกับวิถีของนักเรียนในยุคดิจิทัลมากขึ้น
สิ่งที่คณะอนุกรรมการฯ มองว่าน่าจะง่ายและตอบโจทย์ตั้งแต่เริ่มแรก กลับกลายเป็นประเด็นที่เด็กนักเรียนได้ร่วมเติมเต็มให้สมบูรณ์ในรายละเอียดต่างๆ ให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้น การตัดเสื้อครั้งนี้ จึงต้องตัดให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่
นักเรียนคือผู้สั่งตัดเสื้อโดยตรง ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่ในการวัดตัว และตัดเสื้อทุกตัวให้ผู้สั่งสามารถมีความสุข สะดวก และสบายในการสวมใส่ โดยไม่รู้สึกว่า อึดอัดและถูกยัดเยียดให้ใส่ จะเห็นว่า ตั้งแต่แรกแล้วที่คณะอนุกรรมการพยายามค้นคว้า ศึกษา และวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อจะได้ตอบโจทย์ของผู้รับบริการในครั้งนี้
“จากนี้ไป คณะทำงานจะใช้ระยะเวลาอีกสองสัปดาห์ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และนำข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิ และนักเรียน ไปเติมเต็มกิจกรรมการเรียนการสอน ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหญ่ เพื่อที่จะนำไปทดลองใช้พัฒนาครูผู้สอน และทดลองใช้สอนเด็ก ก่อนที่จะประกาศใช้ในปีการศึกษา 2562/1 ในโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ที่สติและสมาธิเป็นฐานโอกาสต่อไป” รองประธานคณะกรรมการการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระบุ
Leave a Reply