ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ปัญหาและท่าทีของพระพุทธเจ้า

ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ปัญหาและท่าทีของพระพุทธเจ้า : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หลักสูตรสันติศึกษา www.ps.mcu.ac.th รายงาน

ผู้ที่เรียนสันติศึกษาจะรู้จักวงกลมความขัดแย้งเป็นอย่างดีว่าประกอบด้วยความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ข้อมูล ความสัมพันธ์ ค่านิยม และโครงสร้าง

เมื่อกล่าวถึงความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง มักจะอธิบายในประเด็นต่อไปนี้ เช่น ความอยุติธรรมทางกฏหมายอันเกิดจากการยกเว้นและเลือกปฏิบัติ การแบ่งชั้นวรรณะ การเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ที่ควรมีควรได้ในสังคม เช่น การศึกษา ทรัพยากร และการรักษาพยาบาล รวมถึง ในขณะที่อีกคนอดอยากหิวโหย แต่อีกคนกอบโกยไม่รู้จักจบสิ้นฯลฯ

พระพุทธเจ้าเคยเป็นเจ้าชายเป็นลูกกษัตริย์ แต่เมื่อบวชเป็นพระใช้ชีวิตหลังจากออกบวช และหลังจากบรรลุธรรมแล้ว ได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความแร้นแค้น ขาดโอกาศ ยากจนหิวโหย สภาพสังคมที่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ผู้ชายเป็นใหญ่ซึ่งผูกขาดความเป็นไปของสังคม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พระองค์มองว่าตัวแปรเหล่านั้นนำไปสู่การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และขวางกั้นโอกาสในการนำมนุษย์เข้าถึงธรรม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีดุลยภาพ

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระองค์ออกแบบสังคมสงฆ์ขึ้นมาใหม่ ทั้งที่พระองค์เคยเป็นลูกกษัตริย์ รูปแบบขององค์กรสงฆ์ควรจะแบบรวมศูนย์ทั้งหมดเอาไว้ที่พระองค์ แต่เมื่อถึงจังหวะหนึ่งพระองค์กลับกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปที่พระสงฆ์ โดยมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่

เมื่อมองลึกเข้าไปในฐานคิดของพระองค์กลับพบว่า ได้ปฏิเสธระบบวรรณะ ที่ออกแบบโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน จนทำให้พระองค์ต้องย้ำว่า ดีชั่วไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูล หรือเป็นพราหมณ์ หากแต่อยู่ที่การกระทำ หรือแม้จะเป็นกษัตริย์ ถ้าบวชหลังต้องกราบจัณฑาลที่บวชก่อน อันเป็นการให้ค่าที่ความดีของคน

วรรณะตามมุมมองของพระองค์ไม่ได้เกิดจากใครมาบันดาลหรือกำหนด วรรณะของพระองค์ต้องไม่ใช่กับดักไม่ให้มนุษย์งอมืองอเท้า วรรณะของพระองค์จึงไม่ใช่ตัวขัดขวางการพัฒนาตัวเอง ชุมชน และสังคม แต่วรรณะเป็นการแบ่งหน้าที่การทำงาน ตามบทบาทหน้าที่ ของกลุ่มคนต่างๆ และสามารถเอื้อให้มนุษย์ดูแลและใส่ใจกันและกัน

แม้ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ สตรีที่เบื่อหน่ายกับวิถีโลกและมุ่งมาดปรารถนาจะบวชเพื่อเข้าถึงพระองค์ก็เปิดทางให้สตรีได้บวช แต่ก็ได้วางกรอบเอาไว้อย่างรัดกุมเพื่อให้เอื้อต่อการขัดเกลาและพาตัวเองเข้าถึงความจริงสูงสุด ในขณะที่หลักอปริหานิยธรรมก็กระตุ้นให้สังคมดูแลและใส่ใจสตรี

วินัยหรือกฏหมายที่พระองค์ได้วางรากฐานไว้นั้น ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนนั้นจะเคยเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร มาก่อน โดยยกตัวอย่างน้ำที่ไหลมาจากสายต่างๆ เมื่อไหลลงสู่ทะเลก็เป็นน้ำชนิดเดียวกัน และยอมถึงขนาดที่ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสงฆ์สามารถถอนสิกขาบทที่พระองค์บัญญัติได้ด้วย ถ้าสงฆ์เห็นสมควรแก่เหตุและปัจจัย

นักวิชาหลายคนพากันอธิบายว่า สังคมของพระสงฆ์คือสังคมอุดมคติ ที่พระพุทธเจ้าได้ออกแบบไว้ เพราะยากต่อการเข้าถึง แต่หากมองให้ลึกซึ้ง พระองค์ได้ออกแบบสังคมตัวอย่างในสมัยพุทธกาล และเชื่อว่าสังคมเช่นนี้ จะนำไปสู่การเปิดกว้างให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเอื้อต่อการเข้าถึงความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนา

สังคมของพระองค์ จึงเปิดกว้าง หยิบยื่นความเท่าเทียม ยกย่องคนดีมากกว่าวรรณะ หรือยศตำแหน่ง เปิดโอกาสและเอื้อให้คนทำความดี ให้ความยุติธรรม และเป็นธรรมแก่มนุษย์ เพื่อให้ขับเคลื่อนศักยภาพออกมาได้โดยไม่ปิดกั้นและกักขังผู้อื่นและตัวตนอยู่คุกแห่งอวิชชาคือความมืดบอด

สังคมที่ออกแบบไว้จึงเป็นสังคมแห่งอิสรภาพ และสันติภาพอย่างแท้จริง คนที่มีมากกว่าก็เอื้ออาทรคนยากจนหรือน้อยกว่า การยกย่องคนอยู่ที่ธรรมะหรือการทำหน้าที่มากกว่าวรรณะหรือยศศักดิ์ การให้โอกาส การไม่เลือกปฏิบัติ และการหยิบยื่นความยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม

Leave a Reply