วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565 นางรฎาวัญ(ลดาวัลลิ์) วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียน จากประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง ถึงความวิตกกังวล ต่อข่าวสารและการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ของประเทศนับถือมาเป็นเวลายาวนาน และขอให้ช่วยปกป้องคุ้มครองการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาให้ด้วย เนื่องจากลำพังภาคประชาชนฝ่ายเดียวคงไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง และจะให้ฝ่ายสงฆ์ดำเนินการก็ยิ่งมีข้อจำกัด มีอุปสรรคมากมาย ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วในยุคดิจิทัลปัจจุบันนี้ ตลอดจนการใช้ช่องทางต่างๆที่ไม่ชอบด้วยความถูกต้องเป็นธรรมถูกนำมาเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความเชื่อถือศรัทธาพระพุทธศาสนาอย่างน่าเป็นห่วง
นางรฎาวัญ กล่าวในเวทีเสวนา”การคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” จัดโดยนายประมวล พิมเสน ประธานองค์กรคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ณ วัดสว่างคงคา จังหวัดกาฬสินธุ์ มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ ตัวแทนองค์กรส่งเสริมพระพุทธศาสนา และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย นางรฎาวัญกล่าวถึงแนวทางคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาที่ดีนั้นรัฐต้องส่งเสริมและสนับองค์กรพุทธภาคประชาชนให้มากกว่านี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบศาสนาอื่น ต้องหลีกเลี่ยงสร้างความขัดแย้ง โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้พุทธบริษัท 4 ซึ่งหมายรวมถึงประชาชนชาวพุทธหญิงและชายหรือที่เรียกว่าพุทธศาสนิกชนทุกคน,มีส่วนรับผิดชอบแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกันกับภาครัฐ เช่น กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาทุกระดับ ส่งเสริมการนำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิต ส่งเสริมเด็ก เยาวชนบรรพชาได้โดยง่ายเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนร่วมป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ทางด้านนายพนพภณฎษ์ ทองคำ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเสมอภาค กล่าวว่า การคุ้มครองและรักษาพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องยึดหลักการในข้อบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย” ดังนั้นตนจึงได้ยกร่าง “ร่าง พระราชบัญญัติพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ…..” ให้พรรคเสมอภาคพิจารณาผลักดันให้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ ปัญหาต่างๆที่วิตกกังวลกันก็จะได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายฉบับนี้
สาระสำคัญโดยย่อมีดังนี้ 1.กฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ที่ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ยึดพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้เป็นหลัก 2.ให้มี”คณะกรรมการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้ที่ศรัทธานับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น 3.ให้มหาเถรสมาคมส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์ให้มีความรู้ความสามารถและทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ สอนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาต่างๆ ทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา รวมถึงการอบรมสั่งสอนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด 4.ให้มีคณะกรรมการพระพุทธศาสนาแห่งชาติระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล 5.ให้พุทธศาสนิกชนสามารถ แจ้งเบาะแสหรือแจ้งความเอาผิดผู้บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาได้เมื่อ มีพยานหลักฐานชัดเจน 6. ให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณสมทบตั้ง”กองทุนพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และการดำเนินการต่างๆตามกฎหมายนี้
ส่วนนายประมวล พิมเสน ประธานองค์กรคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า ตนมีประสบการณ์ ส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว มีความเห็นตรงกันกับทุกฝ่าย ว่าพุทธศาสนิกชนจะต้องให้ความสำคัญและร่วมแรงร่วมใจกันให้มากยิ่งขึ้น ชาวพุทธทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะต้องร่วมมือกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา และเห็นด้วยกับพรรคเสมอภาค ที่จะใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาของชาติ ในนามภาคประชาชน ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และจะขอความร่วมมือพี่น้องชาวไทยพุทธใน 20 จังหวัดภาคอีสานมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Leave a Reply