สสส.หนุนพระ”มจร”ทำวิจัย”ลดเหล้า บุหรี่”เชิงพุทธเมืองปราจีนบุรี

สสส.หนุนพระ”มจร”ทำวิจัย”ลดเหล้า บุหรี่”เชิงพุทธเมืองปราจีนบุรี พร้อมภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ถอดบทเรียนเซ็น MOU “บวร”เกาะมะไฟประจันตคาม สืบสานเจตนารมณ์หลวงพ่อพระครูประโชติพรหมธรรม “อย่าเอาวัดมาทำบาร์ อย่าเอาศาสนามาทำบ่อน”

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา นำโดย พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ, ผศ.ดร.หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว และผู้อำนวยการหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มจร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมการถอดบทเรียนและพิธีลงนามความร่วมมือ โครงการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ (การบำบัดพฤติกรรมทางความคิดและสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดเหล้า บุหรี่ เชิงพุทธบูรณาการในจังหวัดปราจีนบุรี) ที่วัดเกาะมะไฟ ต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรีโดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 150 รูป/คน

โดยโครงการนี้คณะครุศาสตร์ มจร ได้ร่วมกับวัดเกาะมะไฟ โรงเรียนวัดเกาะมะไฟ องค์การบริหารสวนตำบลบ้านหอย ชุมชนตำบลบ้านหอยและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะแดง ทั้ง 6 หน่วยงาน ได้ตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบอันเกิดจากการบริโภคบุหรี่และสุรา ในฐานะปัจจัยเสี่ยงที่มีผลเสียต่อสุขภาพ จึงได้มีการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนเกี่ยวกับ “การบำบัดพฤติกรรมทางความคิดและสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดเหล้า บุหรี่ เชิงพุทธบูรณาการในจังหวัดปราจีนบุรี” ขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่วัดเกาะมะไฟ โดยมีพระครูสถิตธรรมกิจ รองเจ้าคณะอำเภอประจันตคาม วัดเกาะแดง เป็นประธาน มีพระครูประโชติพรหมธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะมะไฟ และผู้แทนภาคีเครือข่าย เป็นวิทยากรหลัก จากนั้นภาคีเครือข่ายได้มีการดำเนินการขยายพื้นที่จากชุมชนวัดเกาะมะไฟออกไปเป็น 5 พื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของ บ้าน วัด และหน่วยงานราชการ ผลจากการดำเนิการเบื้องต้นก่อให้เกิดบุคคลต้นแบบ จำนวน 13 คน บุคคลที่เลิกเหล้าตลอดชีวิตจำนวน 18 คนและบุคคลที่ลด ละ เลิก เหล้า ในพรรษา จำนวน 27 คน

โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นในเวลา 13.30 น.ด้วยกิจกรรมการถอดเรียน “การขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ” โดยผู้แทนภาคีเครือข่าย บุคคลต้นแบบ บุคคลที่เลิกเหล้าตลอดชีวิตและบุคคลที่ลด ละ เลิก เหล้า ในพรรษา โดยมีพระปลัดสรวิชญ์เป็นผู้ดำเนินการ

ผลจากการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนพบว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น วัด ผู้นำหมู่บ้าน หน่วยงานรัฐ อสม. อบต. ตลอดจนเยาวชนและสถานศึกษาในชุมชนเกาะมะไฟ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา โดยให้ทุกคนเห็นถึงประโยชน์ในการลด ละ เลิก สุราและบุหรี่ ผลจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4-5 ปีของกลุ่มผู้นำชุมชน ภาคีเครือข่าย และประชาชนในชุมชน ทำให้ปัจจุบันมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 300 คน จาก 5 หมู่บ้าน และมีผู้ที่สามารถลดละเลิกการดื่มสุราและยาเสพติดได้ถึง 250 คน

โดยผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นโครงการที่ดีและมีผลการดำเนินงานดีขึ้นตามลำดับในช่วงเริ่มโครงการ 2 ปี โดยผู้นำชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความสำคัญและเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการผลักดันโครงการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม แม้แต่หน่วยงานเล็กๆ เช่น โรงเรียน ซึ่งเยาวชนเองก็สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจไปถึงครอบครัวได้ นอกจากนั้น การให้ความช่วยเหลือของผู้จัดตั้งโครงการ และผู้นำชุมชน ยังมีทัศนคติในการแก้ปัญหาว่า คนในชุมชนสามารถดูแลกันได้ โดยการพัฒนาบุคคลากรให้มีความสามารถในการดูแล ด้วยการอบรมหลักการชมเป็น ถามเป็น และแก้ปัญหาเป็นให้คนในชุมชน

ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาที่ยังคงพบได้ในชุมชนคือ วิถีและค่านิยมในการดื่มของคนไทยยังคงมีอยู่ ซึ่งถือเป็นค่านิยมทางสังคมอย่างหนึ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นหลังเพื่อให้เกิดค่านิยมที่ถูกต้อง นอกจากนี้สุราในท้องถิ่นของชุมชนยังหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกง่ายต่อการซื้อหามาดื่ม

ที่สำคัญภาวะจิตใจของผู้เข้าร่วมโครงการเองก็มีผลต่อการทำงานและการเข้าร่วมจนจบโครงการ โดยพบว่าที่ผ่ายมา มีบางรายได้ออกจากโครงการไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถทนต่อภาวะทางจิตใจของตนเองได้ และการสร้างการรับรู้สำหรับผู้ที่ติดสุราให้พร้อมเผชิญและกล้าที่จะเข้ามาบำบัด หรือเข้าร่วมโครงการ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทีมทำงานในโครงการนี้ให้ความสำคัญเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่จะทำให้คนในชุมชนสามารถลด ละ เลิก การดื่มสุรา และบุหรี่ได้นั้น ต้องอาศัยกำลังใจ และความเข้มแข็งของสติและปัญญา เห็นคุณและโทษของอบายมุข โดยการใช้กระบวนการชุมชนบำบัด (community therapy) โครงการนี้ถือเป็นโครงการต้นแบบสำหรับชุมชนเกาะมะไฟ และสามรถขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ได้ เป้าหมายคือการให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้ มีการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ซึ่งความต่อเนื่องในการดำเนินงานโครงการและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันต่อการขยายผลโครงการและความสำเร็จของโครงการในระยะยาวจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศไทยได้อย่างมั่นคง และยั่งยื่นต่อไป

ต่อมาเวลา 15.30 น. มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างคณะครุศาสตร์ มจร ร่วมกับ วัดเกาะมะไฟ โรงเรียนวัดเกาะมะไฟ องค์การบริหารสวนตำบลบ้านหอย ชุมชนตำบลบ้านหอยและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการสร้างและพัฒนาเครือข่ายการสร้างสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และสุราในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และพัฒนานโยบายเพื่อการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และสุราในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานจำนวน ๒๐ รูป/คน

และเวลา 16.00 น. พระพิศาลศึกษากร,ดร. ในนามพระเดชพระคุณพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 7 ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ส่วนกลาง เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ได้เมตตาเดินทางมาเป็นประธานมอบประกาศนียบัตรให้ บุคคลต้นแบบ บุคคลที่เลิกเหล้าตลอดชีวิต,บุคคลที่สามารถ ลด ละ เลิก เหล้า ในพรรษาและผู้แทนภาคีเครือข่ายและกล่าวให้โอวาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตอนหนี่งว่า ท่านทั้งหลายได้ตัดสินใจเลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จะทำให้มีสุขภาพกายดีสุขภาพจิตและการนอนดีขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นประหยัดเงินในกระเป๋าเป็นการปกป้องสุขภาพของคนในครอบครัวลดอุบัติเหตุ และลดอาชญากรรมในชุมชน โดยเฉพาะการรักษาศีล 5 ถือว่าเป็นเกาะป้องกันไม่ให้เราตกไปสู่อบายมุขหรือทางแห่งความเสื่อมขอให้ท่านทั้งหลายจงเจริญในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์กับสังคมและชุมชน สืบต่อไป

จนกระทั้งเวลา 17.00 น. มีการประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปผลการจัดโครงการฯ โดยมีพระปลัดสรวิชญ์เป็นประธานพร้อมสรุปว่า หน้าที่ของเราคือการดำเนินตามวิถีแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์ หวังช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ทางกายและใจ สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในเพื่อโยงใยไปสู่ภายนอกผ่านภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสาทำความดีที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน จัดทำฐานข้อมูลเพื่อขยายผลไปในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดในที่สุดก็จะทำให้เกิดบุคคลที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีทั่วประเทศต่อไป ที่สำคัญเราต้องนึกถึงหลวงพ่อ หลวงพ่อพระครูประโชติพรหมธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะมะไฟ ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ทำงานเพื่อผู้อื่นท่านฝากเราทั้งหลายว่า “อย่าเอาวัดมาทำบาร์ อย่าเอาศาสนามาทำบ่อน” ถึงท่านไม่อยู่พวกเราก็ต้องสานต่องานท่าน ถือว่าเป็นความกตัญญู ผ่านการปฏิบัติบูชา

Leave a Reply