แนะนำหนังสือ “เมื่อความชรามาเยือน” เรียบเรียงโดย “พระมหาเทอด” วัดสระเกศ ฯ

หนังสือ ชรัง อนตีโต เมื่อความชรามาเยือน เป็นหนังสือที่แต่งโดย อดีตพระราชกิจจาภรณ์ หรือ “พระมหาเทอด ญาณวชิโร” วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ในนามปากกา “ญาณวชิระ” ซึ่งเป็นหนังสือนามเดียวกับผู้แต่ง “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ที่ออกมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้

หนังสือ “เมื่อความชรามาเยือน” เป็นหนังสือเขียนแบบเรื่องเล่าว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา ซึ่งก็หมายถึง “พระมหาเทอด” กับ “โยมบิดา” เป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลิน สอดแทรกด้วยสาระ  ผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านแล้วจินตนาการตามได้รสชาติบรรยากาศแห่งวิถีชนบทของคนอีสานในอดีต  เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าของ “พระมหาเทอด” ในวัยเด็ก  ณ บ้านบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งวิถีคนอีสานทั่วไป มีทั้งหมด 55 ตอน เช่น ตอนว่าด้วย ให้ไก่สองตัวเป็นค่าพาไปบวชเณร ,บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำเลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน หรือตอนว่าด้วย ลูกหลานว่านเครือ แม่ใหญ่จูม(บุตรสง่า) วงศ์ชะอุ่ม เป็นต้น

เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือดังกล่าว ขอยก “คำนำ” ในหนังสือ “เมื่อความชรามาเยือน”  พอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

เมื่อพ่อใหญ่แม่ใหญ่*อายุใกล้ 80 ปี (*ปู่กับย่า คือ พ่อใหญ่โทน-แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม) คิดว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า ต้องทำอะไรที่จะเป็นการวางจิตของโยมทั้งสอง ลงสู่ฐานะอันควร จึงเริ่มเขียนเล่าเรื่องธรรมะสิ่งละอันพันละน้อย ถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ผ่านจดหมายขนาดยาว 4 ฉบับ เหมือนการพูดคุยผ่านตัวหนังสือ (พ.ศ.2542-2546)

อีกไม่กี่ปีถัดมา พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ทยอยจากไปทีละคน นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว

ต่อมา จดหมายถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทั้ง 4 ฉบับ ได้ถูกนำมาปรับปรุงให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”(พ.ศ.2547)

“ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากโทษของวัฏฏะอย่างหนักหน่วง กินระยะเวลายาวนานหลายปี (พ.ศ.2561-2567 : ขณะเขียนคำนำ) บางช่วงบางเวลา มีโอกาสได้นั่งทบทวนอะไรบางอย่าง วันคืนก็ล่วงไป ล่วงไป ไม่ได้ล่วงไปเปล่า แต่กำลังได้ถดถอยลงไปด้วย อายุมากขึ้น ชีวิตก็เหลือน้อยลงทุกขณะ อะไรที่ทำแล้ว และอะไรที่เคยตั้งใจเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็ควรลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท..”

“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ” (พระพุทธพจน์)

การมาของวัยชราทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้ ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง แม้ระหว่างนี้จะยังอยู่ในช่วงที่โทษของวัฏฏะตามบีบคั้นอย่างไม่ลดละ สถานการณ์ชีวิตพลิกผันไปตามความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในแต่ละวัน แต่เมื่อคำนึงถึงพระพุทธพจน์ข้างต้น ก็ทำให้ไม่อาจวางใจลงในความประมาทได้ จึงหาเวลาสนทนากับโยมพ่อด้วยเรื่องสัพเพเหระ ตามโอกาสอันควร อันจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาในใจให้ถึงความบริบูรณ์

บางแง่มุมในการสนทนา ก็เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชราของโยมพ่อ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านอันธรรมดา แต่ก็แฝงไว้ด้วยปูมหลัง พื้นประวัติ ภูมิปัญญา คติชน และความเชื่อ อันเป็นรากฐานของชุมชน บางแง่มุมในการสนทนาของบางวัน กลับดิ่งลึกลงไป ในความคิดอันแหลมคม ทำให้เห็นชีวิตในความหมายของคำว่า “พ่อ” ยิ่งกว่าบทเทศนาว่าด้วยความกตัญญูใด ๆ

จากวันนั้นเป็นต้นมา (พ.ศ.2564) หลังการสนทนาจบลงในแต่ละครั้ง จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มเรียบเรียงถ้อยคำของโยมพ่อ ออกเป็นตัวหนังสือ เป็นที่มาของ 55 ความเรียงจากบทสนทนา ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา

“นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พ.ศ. 2527) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พ.ศ.2535) ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ ทำให้ไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง จึงทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำหน้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร..”

เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น

บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย..

ปัจจุบัน หนังสือ  ชรัง อนตีโต เมื่อความชรามาเยือน ที่แต่งโดย  “พระมหาเทอด ญาณวชิโร” วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ยังไม่นำออกมาเผยแพร่ อย่างเป็นทางการ  หากเผยแพร่เมื่อไร จะนำมาลงรายละเอียดอีกครั้ง

Leave a Reply