วันที่ 27 ส.ค.2562 พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหาดร.บุญช่วย สิรินธโร ) อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai เกี่ยวกับการ “เรียนรู้อย่างบูรณาการ เพื่อคุณภาพบัณฑิตสู่อาเซี่ยน” ซึ่งเป็นตอนที่ 3 แล้วความว่า “จาก ‘ห้องน้ำ’ ถึง ‘ศาสนทายาท’”
การเดินทางพร้อมกับคณาจารย์และนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตและพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สาขาวิชาปรัชญา และ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เพื่อศึกษาเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีท้องถิ่นเมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือ การทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนสมทบทุนก่อสร้างห้องน้ำของวัดสิลิมูน และวัดบ้านขวาง ในเขตชานเมือง “เมืองสิงห์”
วัดสิลิมูน ตั้งอยู่ในเขต 4 ทางตอนเหนือของเมืองสิงห์ ห่างจากชายแดนจีนประมาณ 5 กิโลเมตร ในขณะที่วัดบ้านขวาง ตั้งอยู่ในเขต 1 ทางตอนใต้ของเมืองสิงห์ บนเส้นทางเมืองสิงห์สู่เมืองลอง
ผ้าป่าครั้งนี้ เริ่มจากปรารภการเดินทางเมื่อสองปีก่อน ซึ่งคณะได้แสดงความจำนงที่จะเป็นเจ้าภาพสร้างห้องน้ำ ที่ตอนนั้นมีสภาพทรุดโทรม เมื่อคณะต้องการใช้ห้องน้ำในการปลดทุกข์หนัก-เบา สามเณรต้องใช้จีวรขึงเป็นประตูให้ ด้วยความประทับใจระคนด้วยความรู้สึกเห็นใจในสภาพความเป็นอยู่ที่อาจเสี่ยงภัยต่อสุขอนามัยของพระภิกษุสามเณรภายในวัด พวกเราจึงตัดสินใจจัดทำกองผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนสร้างห้องน้ำทั้งสองวัดดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ก็ฝืนความรู้สึกที่พยายามจะไม่เน้นการสร้าง “วัตถุ” แต่ให้ความสำคัญกับการสร้าง “คน”
กิจกรรมการศึกษาเรียนรู้และการทอดผ้าป่า ณ เมืองสิงห์ คราวนี้ ได้รับความสนใจจากทั้งคณาจารย์และนิสิตไม่น้อย โดยมีผู้ร่วมเดินทางจำนวน 24 รูป/คน ได้รับเงินบริจาคสมทบองค์ผ้าป่ากว่า 200,000 บาท แบ่งถวายเป็นทุนตั้งต้นสำหรับการก่อสร้างห้องน้ำวัดละ 100,000 กว่าบาท คิดเป็นเงินกีบได้วัดละราว 30,000,000 กีบ
การเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะได้มีโอกาสเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของพี่น้องไทลื้อทั้งสองชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันท่ามกลางพหุวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจการตลาดสองเช้า ณ ตลาดใหม่เมืองสิงห์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคณาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมรับใช้มวลมนุษยชาติและพระพุทธศาสนา ท่ามกลางกระแสการปรับตัวครั้งใหม่ของสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้กระทรวงใหม่ที่ชื่อว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
แม้ว่า “เมืองสิงห์” จะเป็นดินแดนพระพุทธศาสนาที่สำคัญของแขวงหลวงน้ำทา แต่กิจการพระพุทธศาสนาในเมืองสิงห์ยังคงเป็นไปในลักษณะแห่งประเพณีนิยม ด้วยเหตุที่ขาดพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่จำพรรษา และเป็นผู้นำในการพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างในด้านการพัฒนาบุคลากรทางพระพุทธศาสนา ที่จะเป็นศาสนทายาทสืบต่อพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้
ข่าวอันเป็นมงคลในการเดินทางเที่ยวนี้คือ ในวันที่ 2 กันยายน ปีนี้ จะมีพิธีเปิด “โรงเรียนพระปริยัติธรรม” ประจำเมืองสิงห์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดหลวงเจียงใจ กลางใจเมืองสิงห์ ด้วยอาคารเรียนชั้นเดียว ประกอบด้วยห้องเรียนจำนวน 6 ห้อง และห้องสำนักงานรวมกับห้องพักครูจำนวน 1 ห้อง ช่วงที่พวกเราแวะไปเยี่ยม พบว่าห้องเรียนมีการเตรียมโต๊ะและเก้าอี้นั่งแบบนั่งสองคนไว้พร้อมแล้ว ส่วนตัวอาคารยังคงไม่ได้ติดตั้งเพดาน แถมกระดานดำก็ยังไม่มี ส่วนในห้องสำนักงานยังคงมีสภาพเป็นห้องโล่ง ๆ ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ เลย
การเปิดโรงเรียนครั้งแรกของเมืองสิงห์ในครั้งนี้ คาดว่าจะเปิดระดับมัธยมต้น ม. 1 ม. 2 และ ม. 3 ระดับละหนึ่งห้อง คาดว่าจะมีสามเณรนักเรียนประมาณ 80 – 100 รูป
มีคำถามว่า แล้วก่อนหน้านี้ น้อง ๆ สามเณรไปเรียนกันที่ไหน ???
คำตอบก็คือ ไปเรียนในโรงเรียนประจำเมืองของรัฐบาล ซึ่งการเรียนก็เน้นเฉพาะวิชาสามัญเท่านั้น ส่วนวิชาการพระพุทธศาสนาก็ต้องจัดกันตามศักยภาพในแต่ละวัด สามเณรที่จบการศึกษาทั้งชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย ก็อาจต้องลาสิกขาไปเรียนต่อสายวิชาชีพในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชน หรือหากครอบครัวมีความสามารถก็อาจส่งไปเรียนต่อที่ประเทศจีน
การมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ที่มีหลักสูตรกำหนดให้สามเณรได้เรียนทั้งวิชาสามัญและวิชาพระพุทธศาสนาควบคู่กันไปนั้น จะช่วยสร้างศาสนทายาทและทำให้มีพระภิกษุและสามเณรอยู่มั่นคงในพระพุทธศาสนาในระยะยาวเพิ่มขึ้น เพราะการมีโรงเรียนก็เป็นเหตุให้พระหนุ่มที่สำเร็จการศึกษามาจากนครหลวงเวียงจันทน์และจากต่างประเทศได้มีงานทำ ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนและบริหารการศึกษา ส่วนสามเณรในพื้นที่ก็มีสถานที่เรียนใกล้บ้าน ภายใต้การอุปัฏฐากอุปถัมภ์โดยผู้ปกครองและชุมชน ไม่จำเป็นต้องเดินทางระยะไกลเกินไป หรือต้องเข้าไปพักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย ประการสำคัญคือ ทำให้มีพระภิกษุสามเณรอยู่พำนักในวัดวาอาราม เป็นที่พึ่งทางจิตใจของ “พ่อออกแม่ออกศรัทธา” มิได้ขาด
เพียงแค่ได้เห็นความตั้งใจของคณะสงฆ์เมืองสิงห์ ในการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อสร้างศาสนทายาทสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา คณะผู้ร่วมเดินทางเที่ยวนี้ก็มีศรัทธาตั้งใจจะประสานขอรับบริจาค เครื่องคอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ และอุปกรณ์สำนักงาน เพื่อให้การสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม รวมถึงประสานข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน จำนวนนักเรียน จำนวนครู สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น อัฏฐบริขารภัตตาหารเพล และอื่นใด อันจะทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้บอกบุญผู้ที่มีความเชื่อศรัทธาในการสร้าง “คน” กล่าวคือ “ศาสนทายาท” มากกว่าการสร้าง “วัตถุ” ได้ช่วยกันอุปถัมภ์ตามกำลังศรัทธาและกำลังทุน ต่อไป
การสร้าง “เครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม 4 ประเทศ” (ไทย สปป.ลาว พม่า และจีน) โดยโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อปลายปี 2561 ซึ่งปัจจุบันมีสามเณรจากประเทศเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ มาศึกษา ณ โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาฯ เป็นปรากฏการณ์การมองอนาคต (วิสัยทัศน์) ที่น่าสนใจยิ่งนัก
น่าสนใจตรงที่ “มุมมอง” ของความคิดริเริ่มดังกล่าว นำไปสู่ปฏิบัติการที่มีเป้าหมายอยู่ที่ “ความมั่นคง” ของ “พระพุทธศาสนา” ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ มากกว่าการมุ่งหมายประโยชน์ส่วนตนผ่านธุรกิจการศึกษา อย่างที่หลายสถาบันกำลังพุ่งเป้าปฏิบัติการกันอยู่ในระยะนี้
ขอบคุณภาพ และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่:กลุ่มศึกษาเรียนรู้เมืองสิงห์
Leave a Reply