สมณศักดิ์ชั้น “พระครู” หลายปีที่รอคอย??

จำไม่ได้แล้วว่าสมณศักดิ์ระดับพระครูในประเทศไทย ไม่ได้รับโปรดกล้าฯจากพระมหากษัตริย์มาแล้วกี่ปี ตอนหลัง ๆ มานี้ชาวพุทธมักเห็นการโปรดเกล้า ฯ สมณศักดิ์มีแต่ระดับชั้นเจ้าคุณสามัญขึ้นไปเท่านั้น

      ส่วนระดับพระครู น่าจะว่างเว้นมาแล้ว 3 -4 ปี เพราะเหตุใดไม่ทราบ ทั้ง ๆ ที่สมณศักดิ์ระดับพระครูนี้คือ “มดงานศาสนา” แท้ ๆ เลย การขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาทุกอย่าง ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงทาน,เผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด,เรื่องการเรียนการสอนบาลี ทุกอย่าง หลัก ๆ  ล้วนมาจากพระสังฆาธิการระดับพระครู เกือบทั้งสิ้น

      ช่วงในวาระสำคัญ ๆ ของประเทศ พระภิกษุสงฆ์ในฐานะ “สมมุติสงฆ์”  ก็หวังเฉกเช่นเดียวกันกับญาติโยมรอบข้างวัดว่า ปีนี้ท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูเจ้าอาวาส จะได้เป็นพระครู จะได้เลื่อนชั้น เลื่อนชั้นหรือไม่

      ซึ่งเป็นปกติธรรมดา..พระอุปัชฌาย์ คู่สวด พระอาจารย์ใคร..ใครก็คาดหวังอยากให้ได้สมณศักดิ์

     และการถวาย “สมณศักดิ์” ให้พระภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็น “จารีตประเพณี”  ที่มีมาในสังคมพุทธไทยมาอันยาวนาน

      ทุกวันนี้..ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ สมณศักดิ์ระดับพระครู..ห่างหายไปจากวงการคณะสงฆ์

      ทั้ง ๆ ที่สมณศักดิ์ คือ เครื่องมือหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างสถาบันสงฆ์และสถาบันพระมหากษัตริย์

      ทั้ง ๆ ที่สมณศักดิ์คือ เครื่องมือหนึ่ง ในการสร้างขวัญและกำลังใจ ที่ดียิ่งให้กับพระภิกษุสงฆ์ในการขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา

     เดียวนี้เวลาไปต่างจังหวัด มักได้รับเสียงบ่นจากพระต่างจังหวัดเรื่องสมณศักดิ์ระดับพระครูว่า ทำไมขาดหายไป เกิดอะไรขึ้นกับคณะสงฆ์

     เจ้าคณะปกครองบางพื้นที่ก็บ่นว่า ทำงานลำบาก เพราะพระระดับเจ้าอาวาสไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะไม่มีแรงจูงใจ กระทบไปหมด

    และคนบางกลุ่มอย่าดัดจริตบอกว่า พระบวชมา ต้องละเรื่องเหล่านี้ คนละส่วนกัน

     ในอดีต การพิจารณาแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์เป็นพระราชอำนาจและเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเห็นหรือทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า พระภิกษุรูปใดมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก มีศีลาจารวัตรน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการปกครองหมู่คณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประชาชนแล้ว ก็จะพระราชทานสมณศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ ในการจะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป

       ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงเวลาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายกอยู่นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใด ก็จะทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าก่อนทุกครั้ง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงให้พระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอความคิดเห็นได้

    “เปรียญสิบ”  เกิดและทันในยุคสมัยที่การพิจารณาสมณศักดิ์ผ่านระดับเจ้าคณะปกครองปกครองตามลำดับชั้น ตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไป โดยมีผลงานงานก่อสร้าง สาธารณสงเคราะห์ งานการศึกษา เป็นต้น แนบขึ้นไปให้เจ้าคณะปกครองพิจารณาเป็นปึก ๆ จนถึง มหาเถรสมาคม

      หลายปีมานี้ธรรมเนียมปฎิบัติแบบนี้ขาดหายไป รู้สึกใจหายแทนพระภิกษุสงฆ์ พระสังฆาธิการ

      เรื่องสมณศักดิ์ระดับพระครูนี้ มหาเถรสมาคม ต้องทำอะไรสักอย่างบ้าง ไม่อย่างนั้น พระสังฆาธิการระดับล่าง ขวัญเสียหมด..เกิดเกียร์ว่าง” งานไม่เดินกระทบต่อภารกิจของคณะสงฆ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    อย่าลืม!! ได้ใจพระ ก็ครองหัวใจ ประชาชนได้??

ข้อมูลภาพ:เพจพระครูสัญญาบัตร ทั่วสังฆมณฑล ,tnews.co.th/

Leave a Reply