วันที่ 10 ก.พ. 67 มีผู้ใช้เฟชบุ๊คท่านหนึ่ง นามว่า Apinyawat Phosan ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการสร้างคนเพื่อสืบทอดศาสนาทายาทของคณะสงฆ์ไทย โดยที่ไม่มีการวางแผน ซึ่งมีหลายประเด็นน่าคิดเป็นอย่างมาก
เว๊บไซต์ “Thebuddh” ขอนำมาเผยแพร่ต่อ มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อคณะสงฆ์ไทยฝึกฝนความรู้ให้แก่พระภิกษุและสามเณรให้มีภูมิรู้แบบจารีตนิยมพุทธ โดยเรียนนักธรรมเพื่อเป็นฐานสอบเปรียญธรรมหรือประโยคบาลีตั้งแต่ชั้นต่ำไปถึงชั้นสูงสุด การเรียนประโยคบาลีได้สูงสุดถึง ปธ.9 จึงถือว่า ผู้สอบได้เป็นผู้มีภูมิรู้สูงสุดและสุดยอดตามทัศนะของคณะสงฆ์ไทย แม้ว่าจะมีความรู้แค่จำด้านภาษาบาลีใน 3 เรื่องสำคัญเท่านั้น คือ 1) แปลบาลีเป็นไทย 2) กลับไทยเป็นบาลี และ 3) แต่งฉันทลักษณ์บาลีจากภาษาไทยที่กำหนดให้ มิได้มีความรู้ในวิชาการสาขาอื่นๆ และมีวิธีวิทยาอื่นๆ นอกจากวิธีจำได้ก็ตามเถอะ แต่ก็นับว่าเป็นผู้ทรงภูมิรู้ด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาพุทธพจน์และภาษาที่พระสงฆ์ใช้สวดสาธยายในการทำพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
แต่…เป็นผู้ทรงภูมิรู้สูงสุดและสุดยอดในทัศนะของผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์แล้วอย่างไรละครับ? ระบบทางโลกและศาสนาอื่นให้การศึกษาหรืออบรมบ่มเพาะความรู้ให้แก่คนของเขาก็เพื่อให้ทำการบางอย่างตามที่มุ่งหมายทั้งนั้น ดังนี้
1) ทหารและตำรวจ มีโรงเรียนฝึกฝนทหารและตำรวจของพวกเขา ที่เรียกว่า โรงเรียนเตรียม โรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็เพื่อฝึกฝนคนของพวกเขาอย่างสูงเพื่อให้จบออกมาเป็นนายทหารและนายตำรวจ มีงานให้ทำหรือรองรับให้ทำเมื่อจบออกมา แต่จะไต่เต้ามียศสูงถึงที่สุดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานและผลงานของแต่ละท่านเป็นสำคัญ นอกจากว่าเป็นคนของ
2) ศาสนาคริสต์มีโรงเรียนสำหรับเป็น “แหล่งเพาะกล้า” ของความเป็นพระหรือบาทหลวง ซึ่งต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและศาสตร์แห่งการตีความทางเทววิทยา รวมทั้งวิชาการอื่นๆ ประกอบ เพื่อให้เป็นพระหรือบาทหลวงผู้มีความสามารถทางการศึกษา มีภูมิรู้ทางศาสนาอย่างดี และมีภูมิรู้ในศาสตร์อื่นๆ ประกอบ เมื่อจบออกมา ก็ถูกส่งไปช่วยงานทางศาสนาและประกาศศาสนา พระหรือบาทหลวงที่สามารถในการบริหารและจัดการ ก็ถูกส่งออกไปเป็นเจ้าอาวาสประจำคริสตจักรต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองไทย จะมี “มหาวิทยาลัยแสงธรรม” ซึ่งเป็นแหล่งเพาะกล้าแห่งความเป็นพระหรือบาทหลวงผู้ทรงภูมิรู้ขั้นต่ำระดับปริญญาตรีขึ้นไป ก่อนจะถูกส่งออกไปประจำคริสตจักรต่างๆ ในประเทศไทย
ย้อนกลับมาดูที่คณะสงฆ์ไทย ฝึกฝนพระภิกษุและสามเณรอย่างชาววัด ฝึกฝนกันเองแบบพี่สอนน้อง ใช้วิธีการแบบเก่าโบราณ สำนักเรียนวัดต่างๆ จัดสอนกันเอง แต่มีแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นผู้อำนวยการออกข้อสอบและจัดสอบตามจังหวัดต่างๆ จากนั้นจึงตั้งกรรมการตรวจและมีประกาศผลสอบ ในลักษณะว่า สอบได้สอบต่อ สอบตก ก็สอบซ้ำชั้นในปีต่อไป จนกว่าจะสอบได้ จนถึงชั้นสูงสุด ปธ.9 แต่เมื่อจบถึง ปธ.9 แล้ว ก็ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของผู้จบ ปธ.9 แต่ละรูป งานไม่มีให้ทำหรือไม่มีงานที่คิดไว้รองรับตามแผน เหมือนอย่างระบบทหาร ตำรวจ และศาสนาคริสต์
ทำไมจึงเป็นแบบนี้ ? ก็เมื่อยกย่องผู้จบ ปธ.9 อย่างสูงว่า เป็นผู้จบสูงสุดและสุดยอดในทัศนะของผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทย มีผู้บริหารสูงสุด คือ มส. หรือ มหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทย สามารถสร้างระเบียบปฏิบัติได้ และกำหนดนโยบายได้ มีคน คือ ผู้จบ ปธ.9 อยู่มากในประเทศไทย ทำไมไม่คิดแผนกำหนดนโยบายใช้คนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจการพระศาสนาเล่า? เหมือนอย่างทหารและตำรวจที่ใช้ผู้ที่จบจากโรงเรียนที่ผ่านการฝึกฝนมาดีตามระบบแล้ว (จบแล้ว) ไว้ในตำแหน่งงานเพื่อให้ทำงาน และเหมือนอย่างศาสนาคริสต์ที่ใช้ผู้ที่จบจาก “แปลงเพาะกล้า” แล้วให้ทำงานเป็นพระหรือบาทหลวงเพื่อกิจการทางศาสนาของพวกเขา เงินที่เป็นทุนหาได้ไม่ยากเลย ขอให้ทำจริงเถอะ เงินหาได้แน่ ๆ ทีทุนก่อสร้างในวัดก็ยังหาได้ไม่ยากนี่ครับ
ผู้ทรงภูมิรู้บาลีถึง ปธ.9 มีคุณค่าในการนำมาใช้ประโยชน์ ให้ใช้ประโยชน์พวกท่านเถิด อย่าปล่อยพวกท่านให้ดูไร้ค่าหรือไร้ความหมายในภูมิความรู้ที่จบมาเลย แม้จะเป็นความรู้แบบจำและจารีตนิยมก็เถอะ ผู้เขียนเสียดายภูมิรู้ในทางภาษาบาลีของพวกท่านครับ หากว่าถูกปล่อยทิ้งให้ดูไร้ค่าและไร้ความหมายหลังจบ ปธ.9 มาแล้ว
ในขณะที่ พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป ปธ.9 อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จ.นครปฐม เมื่อไม่นานมานี้ ได้ โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว Wat Pan Ken ว่า จำนวน ประโยค 9 ทั่วประเทศ พระภิกษุมี 1,741 รูป สามเณร 266 รูป
นับว่าเยอะพอสมควร มหาเถรสมาคมควร มีแนวนโยบายให้ท่านเหล่านี้ทำงานเพื่อพระศาสนา ด้านเผยแผ่ หรือด้านใดด้านหนึ่ง เพราะงบประมาณที่ได้รับ นิตยภัตเดือนละ 8.2 ล้าน ตกปีละ 98 ล้านเชียว http://maha9.mahapali.com/index.php
หรือแท้จริงแล้ว..การศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์ คือ ปธ. 9 ซึ่งใช้หลักสูตรการศึกษามาตั้งแต่ยุคสมัยรัฐกาลที่ 5 ไม่เหมาะกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้จำพวกพระเณรจบประโยค 9 จำนวนมาก ไม่เหมาะกับการขับเคลื่อนกิจการงานคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้านและรวมทั้งแนวคิด การทำงาน ไม่ทันต่อสังคมไทยและสังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เวลาเกิดปัญหาข้อถกเถียงองค์ความรู้ในพระพุทธศาสนา บรรดาคนจบประโยค ป.ธ. 9ไม่สามารถออกมาอธิบายหรือจี้แจงข้อกังขาเหล่านั้นได้เช่นกัน
เมื่อมองเข้าไปยัง “มหาเถรสมาคม” ปัจจุบันการดำรงตำแหน่งเป็น “กรรมการมหาเถรสมาคม” ไม่จำเป็นต้องจบ ปธ. 9 หรือจบเปรียญสูง แล้ว ระบบที่พระผู้ใหญ่วางกฎเกณฑ์ระบบไว้ “พังทลาย” ไปแล้วและทั้งการได้มาซึ่ง ตำแหน่งทาง “ปกครอง” หรือ “สมณศักดิ์” ยุคนี้ เปลี่ยนแปลงจากยุคกรรมการมหาเถรสมาคมอันมี “สมเด็จฟื้น” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ซึ่งท่านมักพิจารณาจากผู้จบประโยค 9 หรือผู้จบเปรียญธรรมสูง ๆ ก่อน..
หรือดังมีคำกล่าวกันว่า ยุคนี้คนถือย่าม ตุ๊ด แต๋ว..เดินตามหลังพระผู้ใหญ่ก็ได้ดีได้
เรียนไปทำไมบาลี..จบไปก็ตกงาน!!
ภาพ : เพจวัดโมลีโลกยาราม,วัดสามพระยา
Leave a Reply