เปิดมุมมองนักวิชาการ ‘ศาสนา-เสรีภาพ-การเมือง’

ช่วงปีที่ผ่านมา สังคมได้เห็นพระสงฆ์ออกมาแสดงความเห็นหรือแม้กระทั่งออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวพุทธไทยไม่คุ้นเคย เพราะถูกสั่งสอนมานานว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยิ่งกว่านั้น ถึงไม่มีการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาพุทธก็ผูกพันกับรัฐในฐานะเครื่องมือทางอุดมการณ์

ปัจจัยที่กล่าวมาสร้างผลกระทบล้ำลึก ทั้งต่อพระ ผู้คนไม่ว่าจะศาสนาใด และอุดมการณ์ชาติ เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง คำถามต่อศาสนาพุทธภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ย่อมเลี่ยงไม่ได้

Nitihub จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ศาสนา-เสรีภาพ-การเมือง’ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘ประชาไท’ เก็บบางประเด็นมาถ่ายทอด

วิทยากรร่วมเสวนาออนไลน์ดังกล่าว

มหาเถรสมาคม พระสงฆ์ ในฐานะลูกหาบของรัฐไทย

สิบปีย์ ชยานุสาสนี จันทร์ดอน ประธานสาขาปรัชญาสังคมและวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า พุทธศาสนาในรูปแบบของรัฐไทยมีความเป็นรัฐศาสนากลายๆ ซึ่งส่งผลเสีย เช่น พุทธศาสนาถูกจำกัดอาณาบริเวณโดยรัฐ เมื่อใครก็ตามตีความคำสอนแตกต่างจากพระไตรปิฎกหรือจากการตีความของรัฐก็กลายเป็นประเด็นและปัญหาใหญ่โตอย่างกรณีของธรรมกายหรือสันติอโศก หรือการทำอาลัวเป็นรูปพระเครื่อง ปัญหาต่อมาคือการถูกเลือกปฏิบัติ กล่าวคือฝ่ายสนับสนุนรัฐกับฝ่ายที่ขัดแย้งกับจะได้รับการปฏิบัติคนละแบบ

“พุทธศาสนาในประเทศไทยมีความแนบแน่นกับสังคมไทยมานานโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่แนบแน่นแบบนี้จึงสามารถมีความใกล้ชิดกับรัฐมากกว่าศาสนาอื่น ผมสรุปได้ว่าศาสนาพุทธที่ถูกบัญชาการโดยรัฐไม่มีทางจะเป็นศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยได้ แล้วจะมีปัญหาอื่นๆ อีกมากตามมาและจะยังมีปัญหากับศาสนาอื่น”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการออกแบบการเรียนของคณะสงฆ์ให้เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเป็นความพยายามสลายความแตกต่างเพื่อให้ปกครองได้ง่าย ขณะที่ในช่วงสงครามเย็นก็มีการสนับสนุนคณะธรรมยุติกนิกายและสายวัดป่าให้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ มองในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่าพระสงฆ์ไทยเป็น ‘ลูกหาบของรัฐไทย’

“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยก็คือการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2560 ที่เปลี่ยนจากการเสนอแต่งตังสมเด็จพระสังฆราชที่เลือกเอาจากสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด แต่เปลี่ยนมาให้อยู่ในพระราชอำนาจ แล้วในปัจจุบันนอกจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว แม้แต่พระราชาคณะทุกรูปก็เป็นพระราชอำนาจที่จะทรงวินิจฉัยและเลือกขึ้นมาได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นการเลือกโดยระบบ เป็นภาพชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ารัฐหรือผู้มีอำนาจพยายามเข้าไปควบคุมคณะสงฆ์ไทยชัดขึ้นเรื่อยๆ”

ด้าน เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นไปในทำนองเดียวกัน เขากล่าวว่า รูปแบบการปกครองของพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเถรวาทหรือมหายานไม่ได้มีองค์กรกลางอย่างมหาเถรสมาคมเข้ามาควบคุม แต่ละวัด แต่ละนิกายต่างควบคุมกันเอง ถ้าไม่พอใจหรือขัดแย้งกัน เช่น การตีความคำสอนหรือการถือวัตรปฏิบัติก็จะทำการแยกนิกายออกไป เป็นตลาดที่ศาสนิกทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะขึ้นกับนิกายไหน วัดไหน ไม่มีอำนาจส่วนกลาง ดังนั้น มหาเถรสมาคมและ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จึงไม่ใช่สภาพปกติของพุทธศาสนา

 

เข็มทอง เสริมว่า ถ้าดูประวัติการเกิดขึ้นของมหาเถรสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวมหาเถรสมาคมก็เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐเพื่อรับใช้พุทธศาสนาในรูปแบบที่สอดคล้องหรือเป็นมิตรกับอุดมการณ์รัฐไทย การพูดว่าเป็นลูกหาบของรัฐก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

ศาสนาประจำชาติและ พ.ร.บ.อิสลาม

เข็มทอง กล่าวถึงประเด็นศาสนาประจำชาติและ พ.ร.บ.อิสลาม ว่า ศาสนาประจำชาติมี 2 แบบ แบบแรกคือศาสนาประจำชาติในฐานะความเชื่อหรือความจริงสูงสุด อีกแบบคือศาสนาประจำชาติในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งดูเหมือน 2 แบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่า

“วิธีคิดของคริสต์ศาสนามาจากทฤษฎีที่เรียกว่า สองดาบอาญาสิทธิ์ หรือ two swords theory เริ่มจากตอนที่พวกฟาริสีแกล้งลองถามพระเยซูในมหาวิหารว่า เหรียญทองนี้ถวายให้ใคร พระเยซูตอบว่าของไหนเป็นของซีซ่าร์ก็ถวายให้ซีซ่าร์ จ่ายภาษีต้องจ่ายให้ซีซ่าร์ แต่ของไหนเป็นของพระเจ้า ถวายให้กับพระเจ้า ชัดเจนว่าในคริสต์ศาสนาวิธีคิดตั้งแต่สมัยโบราณที่เขียนไว้ในไบเบิ้ลแยกกันระหว่างโลกกับธรรม

“จะเห็นว่าในยุคกลางนักบวชในคริสตจักรเป็นคนของอีกสังกัดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับกษัตริย์ในดินแดนนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคริสตจักรทำในฐานะคู่สัญญาที่เท่าเทียมกันที่เราเรียกว่า concordat เพราะฉะนั้นคริสต์ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจรัฐแน่ๆ แม้กระทั่งในสหราชอาณาจักร มีเฉพาะอังกฤษที่มี Church of England ในสก็อตแลนด์ เวลล์ ไอร์แลนด์ บางที่ก็ยกเลิกศาสนาประจำชาติไปแล้ว อันนี้เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่ง”

ขณะที่วิธีคิดที่เป็นรากฐานของศาสนาอิสลามคือ คำสอนทางศาสนากับกฎหมายเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเป็นกฎหมายย่อมต้องผ่านการบังคับโดยกลไกบ้านเมือง รัฐกับศาสนาต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในรัฐอิสลามหลายที่จึงมีสภาศาสนาที่ผู้นำศาสนาเข้ามามีบทบาทในการสร้างนโยบายหรือชี้นำทางการเมืองสูง ศาสนาอิสลามไม่ปฏิเสธการเข้ามาของรัฐ

อย่างสมัยรัชกาลที่ 5 ที่คริสต์เข้ามาทำไมถึงมีปัญหามาก เพราะพอคุณถือคริสต์ คุณถือว่าย้ายสังกัดจากคนของพระเจ้าแผ่นดินเป็นคนของพระเจ้า แปลว่าคุณไม่ไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ไม่ยอมไปเกณฑ์แรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงในรัฐสมัยโบราณ แต่มุสลิมไม่มีแนวคิดเช่นนั้นก็เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

“สมัยก่อนความสนใจของรัฐไทยอยู่กับมุสลิมเปอร์เซียที่เป็นชีอะห์ที่เข้ามารับราชการในราชสำนัก พวกนี้เป็นมุสลิมสายเก่า แต่หลังอยุธยาล่มถึงรัชกาลที่ 5 ความสนใจของรัฐไทยต่อมุสลิมที่กลับเข้ามาใหม่ไม่ใช่มุสลิมสายเก่าอย่างเดียว แต่เป็นมุสลิมที่เราเพิ่งผนวกเข้ามาใหม่ก็คือมุสลิมมลายูจากภาคใต้ และด้วยการต่อสู้ทำให้อัตลักษณ์อิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเข้มข้นขึ้น”

เข็มทอง กล่าวว่า พ.ร.บ.อิสลาม จึงเกิดขึ้นจากเหตุผลด้านความมั่นคงมากกว่าเหตุผลด้านศาสนา จะเห็นว่าการสิทธิพิเศษแก่ชาวมุสลิม บางสิทธิพิเศษให้แก่มุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ เช่น การเอากฎหมายสมรสและกฎหมายเยาวชนของอิสลามมาใช้ หรือวันหยุดพิเศษอย่างวันรายอ ไม้เรียวก็ให้แต่ภาคใต้เหมือนกัน โครงสร้างพิเศษ ทหาร นโยบายของรัฐไทยกับอิสลามในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยปัจจัยความมั่นคงจากมุสลิมกลุ่มเดียว ทั้งที่จริงๆ มีมุสลิมหลายกลุ่มมาก แต่รัฐไทยมองเห็นแค่มิติเดียว

พระสงฆ์ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้

ในประเด็นที่ห้ามพระสงฆ์ข้องเกี่ยวกับการเมือง ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะว่าประกาศห้ามพระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของมหาเถรสมาคมเป็นการห้ามฝ่ายที่คิดตรงข้ามกับรัฐ ถือ double standard ในกฎของคณะสงฆ์

ทีนี้ถ้าดูในพระธรรมวินัย นักบวชในทุกศาสนาเป้าหมายจริงๆ คือการหลุดพ้นจากสังคม ภาพนี้ถ้าเราย้อนไปพุทธกาล พระพุทธเจ้าช่วงแสวงหาสัจธรรมก็ต้องปลีกวิเวก พอตรัสรู้แล้วคำสอนหลายอย่างก็เหมือนชวนให้พระไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นเดรัจฉานกถาเพราะขัดขวางการบรรลุธรรม

“แต่ถึงขนาดห้ามเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงแม้เจตนารมณ์ของพุทธส่วนหนึ่งจะมีท่าทีแบบนั้น แต่ในพระวินัยก็ดูเหมือนพุทธศาสนาต้องข้องแวะเรื่องของรัฐหลายครั้ง และหลายครั้งพระพุทธเจ้าก็ไปยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินทางการเมือง การที่ไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็เหมือนเป็นการสกัดความเห็นต่างเสียมากกว่าที่จะมองเจตนารมณ์จริงๆ ของพุทธว่าแท้จริงแล้วพุทธควรข้องแวะกับการเมืองในระดับไหน ผมมองว่ามหาเถรฯ เป็นเพียงเครื่องมือเบรกคนเห็นต่างในระดับพระภิกษุด้วยกันมากกว่า”

 

 

คมกฤช กล่าว่า คำว่าการเมืองในที่นี้มีขอบเขตแค่ไหน เพราะถ้านิยามการเมืองว่าเป็นการที่แต่ละคนมีอำนาจเข้าไปจัดสรรทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับตน พระซึ่งเป็นคนในสังคมที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น นักบวชทุกศาสนาย่องมีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“เพียงแต่ว่าหลายศาสนามองนักบวชไว้ 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือนักบวชที่มีความเกี่ยวข้องกับทางโลกน้อย คือพยายามสร้างสิ่งแวดล้อม เงื่อนไขที่ทำให้นักบวชเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทางโลกน้อยที่สุด กับนักบวชที่ทำหน้าที่เป็นศาสนบริกร เช่นบาทหลวงที่ต้องดูแลศาสนิกชนในชุมชน แบบหลังเกี่ยวกับการเมืองชัดเจนเพราะอยู่ร่วมกับคนในชุมชน แต่นักบวชกลุ่มแรกก็ไม่ได้แปลว่าสามารถตัดขาดจากโลกได้อย่างเต็มที่ เพราะนักบวชเหล่านั้นยังมีพันธกิจต่อโลก

“ทุกศาสนาบอกให้ตัดจากโลกเพื่อเข้าถึงความจริง แต่เมื่อคุณเข้าถึงเป้าหมายในทางส่วนตัว ทุกศาสนาก็มีเจตนารมณ์ให้นักบวชเหล่านั้นทำประโยชน์กับคนอื่นซึ่งมุมนี้ก็คือการเมืองที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่นักบวชสามารถเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ แล้วยังสามารถเกี่ยวข้องกับการเมืองในมุมที่สร้างสรรค์ได้ด้วย เช่น พุทธศาสนาฝ่ายทิเบต องค์ดะไล ลามะ ก็พูดเองว่าคนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างสร้างสรรค์ อุทิศกายใจ เหมือนกับการทำภารกิจของโพธิสัตว์ คือสามารถตีความคำสอนทางพุทธศาสนาให้เป็นถึงขนาดนั้นได้ อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าพุทธศาสนาที่ออกไปในโลกสากลก็มองเห็นว่าการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย แต่มันเป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมของไทยโดยเฉพาะ”

ด้าน เข็มทอง กล่าวอย่างย่นย่อในประเด็นนี้ว่า

“หน้าที่ของพระก็ควรเป็นเสียงของศีลธรรมสาธารณะ อันไหนถูก อันไหนไม่ดี คุณต้องชี้ให้ได้ ทำกับพระให้เหมือนอาชีพหนึ่ง ในแง่หนึ่งเขาก็จะเสียสิทธิพิเศษบางส่วนไป ในแง่หนึ่งก็จะได้สิทธิเสมอภาคกับพลเมืองคนอื่นคืนมา คือสามารถยุ่งกับการเมือง กับเรื่องราวต่างๆ ในโลกได้ นั่นอาจจะทำให้สถานะของพุทธศาสนาไทยดีขึ้น”

 

ขอบคุณข้อมูล -ภาพ : https://prachatai.com/

Leave a Reply