มหาดไทย สานพลัง “บวร” บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เด็กเยาวชน และประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ 7 ส.ค.65 กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนงบประมาณให้กับทางจังหวัด ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค, โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะกรรมการโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบให้ใช้จุดแข็ง ความสำเร็จและกลไกของกลุ่ม องค์กรต้นแบบต่างๆ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ หรือ “บวร” ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ยกตัวอย่างเช่น 1)กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคก หนอง นา วังอ้อ อำเภอเขื่องใน โดยใช้จุดแข็งบุคคล และหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ต้นแบบปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามกิจกรรมการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวมถึงจุดแข็งที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบถนนสายวัฒนธรรม นำสู่ทาน ศีล ภาวนา และความพอเพียง ของจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ขับเคลื่อนภารกิจ MOU วัด มหาดไทย สจล. บทบาทการเกื้อหนุนวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เป็นฐานในการพัฒนาสร้างรายได้แก่คนในชุมชน

2)กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอินทรีย์วิถีไทย อำเภอเขื่องใน ได้ใช้จุดแข็งด้านองค์ความรู้ วิทยากรกระบวนการ ด้านการตลาด “บวร” earthsafe ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอินทรีย์วิถีไทย ที่ดำเนินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2559 เป็นหลักในการขับเคลื่อน และใช้จุดแข็งของศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่มีครุภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เครื่องผสมปุ๋ย เครื่องอัดกระป๋อง เครื่องหีบอ้อย เครื่องขึ้นรูปจานใบไม้ เครื่องกลั่นสมุนไพร เครื่องคั่วกาแฟ ของกรมการพัฒนาชุมชน ให้ชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เข้ามาใช้ประโยชน์ ฝึกอาชีพ และทำให้ มีราย ลดรายจ่ายได้ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

3)วัดวังอ้อ อำเภอเขื่องใน ได้ใช้จุดแข็งของหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบถนนสายวัฒนธรรม นำสู่ทาน ศีล ภาวนา และการสงเคราะห์ ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นต้นแบบคลังยาและอาหารชุมชน ก่อนสานข่าย ขยายผล ไปยัง 18 ตำบลในอำเภอเขื่องใน ให้มี 1 ตำบล 1 ถนนสายวัฒนธรรม 1 คลังยาและอาหารชุมชน เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอำเภอเขื่องใน ให้มีสุขภาพดี จิตใจสดใส สังคมอบอุ่น ชุมชนพอเพียง มีพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น มีบุญ มีทาน มีเก็บแปรรูป ถนอมการอาหาร มีขายเพิ่มรายได้ และมีเครือข่ายคุณธรรม

4)ชุมชนบ้านท่าไห อำเภอเขื่องใน มุ่งเน้นให้คนในชุมชนเรียนรู้การวางแผนการผลิตสินค้า การฝึกอาชีพ ที่สอดคล้องกับ วัตถุดิบที่หลากหลายตามภูมิสังคมที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของปัจจัยพื้นฐาน ด้านศักยภาพ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์

5)ชุมชนบ้านหนองจาน อำเภอเมืองอุบลราชธานี และเครือข่ายกินสบายใจ มุ่งให้คนในชุมชนบ้านหนองจาน และเครือข่ายกินสบายใจ สามารถวางแผนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร การฝึกให้เป็นอาชีพที่มั่นคง ที่สอดคล้องกับต้นทุนที่มีอยู่ รวมทั้งให้มีทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ สู่การเพิ่มรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

6)เครือข่ายสถานศึกษา ในอำเภอเขื่องใน 11 แห่ง และอำเภอเดชอุดม 5 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ได้ขยายผลเกษตร เพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เด็ก เยาวชน มีโภชนาการที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งสถานศึกษาได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเขียนเป็นตำราลงบนแผ่นดิน ตลอดจนผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียน ได้บูรณาการขับเคลื่อนภารกิจอำเภอบูรณาการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ คณะกรรมการโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งส่วนราชการ หน่วยงาน และอำเภอ เพื่อโครงการฯ ต่อทางจังหวัดฯ ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานและอำเภอ ได้เสนอโครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 5 โครงการ และโครงการขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 16 โครงการ ซึ่งโครงการและกิจกรรมทั้งหมดนี้ ถือเป็นการบูรณาการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ทุกเครือข่าย ทั้งเครือข่ายหมู่บ้าน(บ) เครือข่ายวัด(ว) เครือข่ายโรงเรียนและราชการ(ร) ส่งผลให้พลัง “บวร” ทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นอย่างดี และเป็นต้นแบบการดำเนินงานไปทั่วประเทศ

 

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอำนวยอวยพรต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมอันดีงาม และผู้สนับสนุนโครงการว่า “ขออนุโมทนาแด่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนแห่งบุญทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนส่งเสริมและนำโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงสู่พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งได้ขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเน้นไปที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นอำเภอต้นแบบ ในการบูรณาการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน ก่อนสานข่าย ขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป”

Leave a Reply