วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ร่วมประชุมสนทนากลุ่มในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “รูปแบบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาอาชีววิถีพุทธ” จัดโดย สำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ มจร วิทยาลัยเขตขอนแก่น โดยกล่าวเปิดการประชุมสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยพระโสภณพัฒนบัณฑิต, รองศาสตราจารย์ ดร. รองอธิการบดีวิทยาเขตขอนแก่น มจร และแนะนำผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมสนทนากลุ่มโดย อาจารย์นิรุต ป้องสีดา ผู้อำนวยการส่วนสนับสนุนวิชาการ มจร วิทยาลัยเขตขอนแก่น
โดยมีพระมหานพดล ธมฺมานนฺโท, ดร. นักวิชาการพระสอนศีลธรรม กลุ่มงานพัฒนาพระสอนศีลธรรม สำนักงานพระสอนศีลธรรม มจร ดำเนินรายการประชุมสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องรูปแบบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาอาชีววิถีพุทธ โดยมีคำถามสำหรับการประชุมสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยสอบถามผู้เชี่ยวชาญ “ด้านการจัดค่ายคุณธรรม การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และวิทยากรกระบวนการฝึกอบรม” เพื่อศึกษารูปแบบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาอาชีววิถีพุทธ
ในเบื้องต้นตั้งคำถามว่า “ค่ายคุณธรรมที่เหมาะกับอาชีวศึกษาวิถีพุทธควรเป็นค่ายลักษณะใด” ถึงเวลาปรับค่ายคุณธรรมให้ตอบโจทย์กับความต้องการเด็กและเยาวชนหรือยัง โดยการจัดค่ายคุณธรรมถือว่าเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร เราจึงมุ่งจัดค่ายคุณธรรมที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน โดยจะใช้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเป็นต้นแบบในการจัดค่ายคุณธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูนักเรียนผู้ปกครองและสังคม แต่สิ่งสำคัญคือ มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ถือว่าเรามาร่วมกัน เป็นการทำบุญเชิงโครงสร้างนโยบาย ค่ายคุณธรรมต้องเป็นธรรมะกำมือเดียว เราต้องเน้นตัวรู้อย่าเน้นความรู้ จึงต้องเอาเครือข่ายมาทำงานร่วมกัน เราจึงต้องจัด #ค่ายคุณธรรมเชิงนโยบาย โดยมีการออกแบบค่ายคุณธรรมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต้องร่วมรับรู้รับทราบร่วมออกแบบด้วย เราต้องไปปล่อยให้ใครก็ได้มาจัดค่ายคุณธรรม วิทยากรต้องผ่านพัฒนาอย่างเป็นระบบ จึงต้องตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณธรรมโดยต้องดึงภาคีเครือข่ายมามีส่วนร่วม เราต้องเริ่มจากการพัฒนาครูผู้บริหารก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน โดยส่วนตัวในฐานะวิทยากรต้นแบบสันติภาพและเป็นวิทยากรฝึกอบรมในการจัดค่ายคุณธรรมมายาวนานจึงขอสะท้อนรูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมออกเป็น ๓ รูปแบบ อันประกอบด้วย
๑) #รูปแบบค่ายภาวนา เน้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเน้นความสงบ รักษาศีล ๘ หรือ ศีล ๕ เน้นห่มขาว ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้า เหมาะกับเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มอันมีพฤติกรรมดีแต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปและเข้าใจในวิถีปฏิบัติแบบเชิงพุทธ เน้นการฟังธรรมบรรยาย เรียนรู้ธรรมะตามฐานเรียนรู้ต่างๆ ศึกษาธรรมะจากธรรมชาติ ศึกษาธรรมะจากปริศนาธรรม ธรรมาธิษฐานและบุคลาธิษฐาน เช่น วัดปัญญานันทาราม มีการจองค่ายคุณธรรมแบบข้ามปี ส่วนตัวเคยไปเรียนรู้ที่นี่สมัยยังเป็นสามเณร ถือว่าเป็นวัดต้นแบบของการจัดค่ายคุณธรรมที่ดีมากๆ ยังรักษาคุณภาพมายาวนาน เน้นการเรียนรู้แบบคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดีๆ การเข้าถึงพระรัตนตรัย #ถือว่าเป็นค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา เพราะเยาวชนเกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตใจตามแนวทางของภาวนา ๔ ประกอบด้วย พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา และมีวัดอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้รูปแบบในลักษณะนี้
๒) #รูปแบบค่ายแบบกดดันค่ายยาเสพติด เน้นการลดละเลิกยาเสพติด ในกลุ่มเด็กที่มีการทะเลาะวิวาทมีการติดยาเสพติด มุ่งเน้นการกตัญญูต่อชาติต่อสถาบันการศึกษา ค่ายลักษณะนี้เกิดขึ้นจากในสภาพตอนนั้นมีการระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรงถึงขั้นค้ายาและเสพในกลุ่มเยาวชน และมีการทะเลาะวิวาทของกลุ่มเยาวชนทั้งโรงเรียนทั่วไปและระดับอาชีวศึกษา จึงเกิดค่ายรูปแบบกดดันโดยอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งบวชเป็นพระสงฆ์ในตอนนั้น ปัจจุบันลาสิกขาไปแล้วได้นำรูปแบบนี้มาใช้ รูปแบบนี้ยังมีการนำมาใช้อยู่ โดยส่วนตัวเคยไปศึกษาและติดตามดูงานหลายสถาบัน รูปแบบนี้มองว่าอาจจะสุดโต่งเกินไปและมีความเสี่ยงอันตรายในกิจกรรมที่สร้างขึ้นมา วิทยากรจะต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ เก่งจริงๆ มีประสบการณ์จริงๆ จะต้องสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด และใช้หลักจิตวิทยาสูงมาก คุณครู พี่เลี้ยงกับวิทยากรต้องทำงานร่วมกัน เยาวชนที่ผ่านค่ายนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเลิกยาเสพติดไปเลยแต่บางกลุ่มอาจจะกลัวไปเลย เพราะกระบวนการค่อยข้างตื่นเต้น ท้าทาย ต่อรอง รูปแบบนี้อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มทะเลาะวิวาท กลุ่มติดยาค้ายาเสพติด กลุ่มรักในวัยเรียน เป็นต้น ค่ายรูปแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเยาวชนที่มีพฤติกรรมดีอยู่แล้วเพราะอาจจะทำให้เกิดความกลัวจากการเข้าค่าย ซึ่ง #ค่ายลักษณะนี้มองว่าไม่ใช่ค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นค่ายยาเสพติดค่ายสำนึกรักสถาบันการศึกษา แต่บุคคลบางกลุ่มพยายามเหมารวมว่าเป็นค่ายคุณธรรมเพราะเห็นวิทยากรเป็นพระสงฆ์ผู้นำค่าย ค่ายคุณธรรมจะต้องให้เยาวชนเกิดศรัทธาในคำสอนพระพุทธศาสนา กล้าที่จะทำความดีมิใช่กลัวคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไม่ควรนำวิธีการแบบนี้มาใช้ในยุคปัจจุบัน
๓) #รูปแบบค่ายแบบพุทธบูรณาพัฒนาทักษะชีวิต เหมาะสำหรับเยาวชนในยุคดิจิทัล เน้นการประยุกต์คำสอนทางพระพุทธศาสนานำไปใช้ในชีวิตและการเรียนให้เกิดความสำเร็จ เป็นการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิต เน้นการนำธรรมะไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน เน้นความสนุก สาระ สงบ สำนึก สร้างสรรค์ ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มุ่งเน้นทางสายกลางสร้างความศรัทธาให้เกิดในคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ มีการบูรณาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในการแก้ปัญหา เช่น กิจกรรมความอ่อนน้อม กิจกรรมทางเสื่อมวัยรุ่น กิจกรรมกตัญญู กิจกรรมเป้าหมายชีวิต กิจกรรมทักษะชีวิต มีการผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม รูปแบบนี้โรงเรียนส่วนมากจะชอบสามารถตอบโจทย์ เพราะมุ่งทางสายกลางไม่เครียดไม่กดดันแต่มีความเพลิดเพลินรู้ตื่นและเบิกบานในการเรียนรู้ เช่น ค่ายใต้ร่มพุทธธรรมวัดสระเกศ ค่ายคุณธรรมธรรมะอารมณ์ดีวัดยานนาวา ค่ายคุณธรรมการเรียนรู้ในพุทธมณฑลนครปฐม เป็นต้น เป็นการปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา โดยนำคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้งแล้วนำศาสตร์สมัยใหม่มาสนับสนุน จึงเป็นการเรียนรู้ผ่านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และลงมือปฏิบัติ ถือว่าเป็นค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนาด้วยการใช้สติและสมาธิเป็นฐาน จึงใช้คำว่า #พุทธบูรณาการผ่านการเรียนรู้ เป็นการบูรณาการธรรมะเข้าสู่วิถีชีวิต ทำให้เยาวชนมองว่าธรรมะไม่ใช่ของน่าเบื่อแต่มองว่าธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตและการเรียนเพื่อไปสู่เป้าหมายนำไปสู่ความฝันของชีวิต วิทยากรจะต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายๆ
Leave a Reply