วันนี้ 11 ก.พ. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงการเผยแพร่รายงานประจำปี 2023 ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Annual Results Report of UN Country Team Thailand) ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยระบุว่าสหประชาชาติมีความร่วมมือที่สำคัญกับผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทยทั้ง 76 จังหวัดผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ส่งผลให้มีความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับสูง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดยได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 1,000 แห่ง ได้มีกลไกในการพัฒนาแผนการดำเนินการของ SDGs ในระดับย่อย ทำให้ประชาชนในระดับครัวเรือนสามารถคัดแยกขยะที่ต้นทางจนประสบความสำเร็จในกว่า 14 ล้านครัวเรือน ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนอันส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเทียบเท่ากับเครดิตคาร์บอน ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศไทยได้ให้การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของการดำเนินงานดังกล่าว และมีธนาคารรวมถึงภาคีเครือข่ายภาคเอกชนของกระทรวงมหาดไทยรับซื้อคาร์บอนเครดิต ทำให้เงินที่ได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป และไม่เพียงเท่านั้นความร่วมมือระหว่าง UN Thailand กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ยังขยายไปสู่การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 76 จังหวัดที่ส่งเสริมอัตราการนำขยะกลับไปใช้ใหม่ (Recycling Rate) ของขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม โดยประเทศไทยได้นำตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีนี้ไปแสดงในงาน COP28 อีกด้วย ซึ่งหากกล่าวถึงในภาพกระทรวงมหาดไทยและสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณร้อยละ 6.8 ซึ่งถือว่าบรรลุผลการผ่านการลดคาร์บอนของ UNEP และ UNIDO และการจัดการป่าที่มีความยั่งยืนของ FAO อีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ฯ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ปรากฏในรายงานฯ ของสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งได้กล่าวยกย่องพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานพระดำริ “แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion)” ซึ่งองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำพระดำริสู่การขยายผลเพิ่มทักษะในด้านแฟชั่นที่ยั่งยืนให้กับช่างทอผ้าสตรีจำนวน 2,000,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งจากการประเมินค่า Carbon footprint ของผืนผ้าไทยที่น้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรการผลิตผ้าด้วยการส่งเสริมการใช้สีที่ย้อมจากธรรมชาติ โดยนำลวดลายผ้าพระราชทานมาผสมผสานลวดลายที่ได้รับการออกแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ช่างทอผ้าสตรีได้รับรายได้ที่มากขึ้น เป็นการยกระดับผ้าไทยในระดับโลกที่ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น และอีกความสำเร็จที่สำคัญ คือ คนรุ่นใหม่มีการยอมรับการปฏิบัติที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของสิ่งทอหมุนเวียนที่ยั่งยืน (Sustainable and circular textile value chains) ของ UNEP
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประการหนึ่งของการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย คือ พัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่ง UNICEF ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ พุ่งเป้าพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย โดยมีเป้าหมายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวน 4.3 ล้านคน เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่าอัตราการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยแตกต่างกันทั่วประเทศ โดยเด็กอายุ 36-59 เดือนได้รับการศึกษาในระดับปฐมวัยไปแล้วร้อยละ 75 และเด็กอายุ 24-59 เดือนที่ได้รับการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 78 ในขณะที่ทักษะการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 คิดเป็นร้อยละ 47 และทักษะการคำนวณอยู่ที่ร้อยละ 40 นอกจากนี้ รายงานฯ ของ UN ประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ ซึ่ง UNDP ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยการสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินการในระดับจังหวัดให้มีความสอดคล้องกับระบบตัวชี้วัดท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในด้านมนุษยธรรมต่อผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ภผร.) UNHCR ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้เริ่มการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อปรับปรุงข้อมูลของผู้ลี้ภัยและยืนยันประชากรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในอนาคตสำหรับผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบจากพม่าที่อยู่ชายแดนไทยและพม่าทั้งหมด 9 แห่ง มากขึ้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า พวกเราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,058 หมู่บ้าน มี Passion ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน โดยน้อมนำเอาแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ด้วยการจับมือกับภาคีเครือข่ายอันสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 17 คือ Partnership หรือ “หุ้นส่วนการพัฒนา” มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาคนด้วยการใช้ “หมู่บ้าน” ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุด บูรณาการทีมงานตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับหมู่บ้านทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พวกเราต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคนให้สำเร็จก่อนเป้าหมายที่ทุกประเทศสมาชิก UN ตั้งเป้าไว้ในปี 2573 ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อนร่วมกับทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยในปี 2567 นี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีตามเป้าหมาย SDGs ในทุกข้อ ทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ UN กำลังขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เข้มข้น คือ การสร้างความร่วมมือช่วยกันบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างเครดิตคาร์บอนสำหรับชุมชน การขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยและการนำขยะและพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของคนมหาดไทยในการบูรณาการภาคีเครือข่ายทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยการ Action Now ในทุกเวลา ทุกนาที เพื่อโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน
Leave a Reply