ปลัดมท.-นายกสมาคมแม่บ้าน มท. ขับเคลื่อนสืบสานพระปณิธาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พร้อมเน้นย้ำข้าราชการต้องพัฒนาคนด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่มลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับภาค จุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองเอกปราโมทย์ ธัญพืช นายวันชัย จันทร์พร นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางจริญญา กังน้อย รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และสื่อมวลชน ร่วมในงาน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวด ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายศิริชัย ทหรานนท์ นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน นายกรกลด คำสุข นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นางสาวแพรวา รุจิณรงค์ และนายพลพัฒน์ อัศวะประภา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับภาค ที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นพื้นที่ที่ยิ่งน่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งสายธารพระมหากรุณาของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงฟื้นฟูสิ่งที่เป็นรากเหง้าภูมิปัญญาความสามารถของพี่น้องในชนบท นั่นคือ “การทอผ้า” ให้กลับมาเป็นเครื่องมือในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จนกระทั่งก่อเกิดเป็น “กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม และกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 60 ปีที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมให้ประชาชนได้ทอผ้า รื้อฟื้นนำเอาความรู้ความสามารถมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ทั้งนี้ “ผ้าไทย” ก็มีลักษณะเหมือนวัฏจักร (Bell Curve) ชีวิตคนเรา ที่เมื่อมีความเจริญเติบโต มีความแข็งแรง เรี่ยวแรงก็จะลดลงตามอายุขัย เมื่อเริ่มเข้มแข็งสูงสุด ก็จะเสื่อมถอย จนอ่อนแอ แต่นับเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นแสงประทีปนำทางให้พวกเราได้เห็นแสงสว่าง เห็นช่องทาง วิธีการ และแนวทางที่ถูกต้อง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรมผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเสด็จพระราชดำเนินใน 4 ภูมิภาค ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อันเป็นการย้ำเตือนและพระราชทานกำลังใจให้พวกเราทุกคนในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนำพื้นฐานจากสิ่งที่พี่น้องประชาชนเป็นอยู่ โดย “เข้าใจ” ทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อน เข้าไปรู้สภาพ ข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประเพณี วัฒนธรรม ความถนัด ความชอบ ของประชาชน สอดคล้องกับพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีที่ว่า คนมหาดไทยต้องรองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด “เข้าถึง” ด้วยการลงไปคลุกคลีตีโมงเข้าไปอยู่ในใจของประชาชนในพื้นที่ ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทำเป็นแบบอย่างให้กับพวกเราทุกคนแม้ว่าจะทรงมีพระราชกรณีกิจมากมายเพียงใดก็ตาม ด้วยการเสด็จไปพระราชทานกำลังใจ ให้คำแนะนำ เพื่อทำให้ประชาชนมีแรงบันดาลใจในการยกระดับ “พัฒนาตนเอง” ผ่านการ Coaching เช่น ทรงสอนในเรื่องความยั่งยืน โดยหากประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายผ้าที่ย้อมจากสีเคมี แม้ว่าจะสวยเพียงใด พระองค์จะไม่ทรงรับเลย เพื่อทรงอธิบายว่า มันไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันทำให้คุณภาพชีวิตคนที่สวมใส่ รวมถึงสุขภาพคนที่ย้อมผ้าเสียไปด้วย เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนการส่งเสริมผ้าไทยของกระทรวงมหาดไทย “ผ้าไม่ใช่เป้าหมายหลัก” แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่ “คน” โดยต้องเริ่มที่ตัวเรา คือ “ผู้นำต้องทำก่อน” การจะไปพัฒนาผู้อื่น ต้องพัฒนาตัวเราก่อน ถ้าจะรณรงค์ให้ใครสวมใส่ผ้าไทย เราต้องสวมก่อน จะรณรงค์ให้ปลูกผักสวนครัว เราต้องปลูกก่อน ข้าราชการต้องรอบรู้เรื่องผ้า รู้ถึงเหตุผลว่าทำไมเราต้องส่งเสริมเขา เพราะเรามีหน้าที่ทำให้เขาพ้นทุกข์ และมีความสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เขาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวเขาต่อไป โดยหากพี่น้องประชาชนมีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว เราก็ไปเสริมเติมองค์ความรู้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำงาน คือ อย่าคิดว่าเราเก่งคนเดียว เพราะ “ทีม” เช่น ผ้าเป็นเรื่องแฟชั่นที่จำเป็นต้องเชิญคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์มาช่วยงาน เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน คนทำงานในออฟฟิศ “เพราะเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง” เหมือนแขนงไม้ไผ่อยู่ตามลำพังมีความเปราะบาง ถูกหักได้ง่าย แต่ถ้ามีแขนงไม้ไผ่รวมกัน หักยังไงก็หักไม่ได้ เพราะแข็งแรง มีพลัง จึงจำเป็นต้องมีผู้รู้มาเป็นทีมขับเคลื่อน ซึ่งผู้รู้ที่พระองค์ท่านทรงเลือก คือ ผู้รู้ที่จะมาแก้ไขปัญหา แก้ไขจุดอ่อนของผ้าไทย คือ 1) คนอายุมาก ๆ ชอบซื้อมาสวมใส่ แต่คนที่มีกำลังซื้อที่เป็นวัยรุ่น ที่เป็นคนทำงานในออฟฟิศไม่ค่อยชอบ 2) ผ้าไทยมีความคลาสสิก ตัดเย็บมาก็จะเป็นแบบที่เราคุ้นตา แบบเดิม ๆ 3) ผ้าไทย เรามักสวมใส่ไปงานพิธี งานวัดงานวา ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ จะช่วยเสริมเติมเต็มให้ผ้าไทยได้รับการพัฒนา ตั้งแต่เฉดสี รูปแบบการตัดเย็บ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสมัยนิยม ดังที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระดำริ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ความหมายคือ ใส่ได้ทุกโอกาส ทุกช่วงวัย ทุกเวลา” นั่นเอง
“รูปแบบวิธีการที่พระองค์ท่านพระราชทานคำแนะนำ ไม่ใช่เพียงแค่การไปพูดในห้องแล้วปล่อยให้ผู้เข้ารับการอบรมกลับไป แต่เป็นการ Learning by Doing หรือการฝึกทำ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ Coaching เช่น ที่บ้านดอนกอย พระองค์ทรงลงไปคลุกคลีตีโมง ลงไปพระราชทานคำแนะนำอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งในปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย สามารถเพิ่มรายได้จากเดือนละ 700 บาท/คน กลายเป็นเดือนละ 12,000 บาท/คน ภายในระยะเวลา 3 เดือน แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม ดั่งคนโบราณกล่าวว่า ก๋วยเตี๋ยวดีแม้ว่าขายที่ซอยลึกลับแค่ไหนคนก็ตามไปกิน ทั้งนี้ สิ่งที่พระองค์ทรงลงไป “พัฒนาคน” ไม่ได้ยัดเยียดสิ่งใหม่ แต่เป็นการพัฒนาจากพื้นฐานเดิม ดอนกอยมีลวดลายมากมาย พระองค์ท่านก็พระราชทานคำแนะนำให้ดัดแปลง ลดขนาด ช่องว่าง ปรับโทนสีให้สอดคล้องกับรสนิยมผู้บริโภค ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ต้องแสวงหาผู้รู้ ทำตัวให้เป็นรวงข้าวที่สุกแล้วโน้มลงหาพระแม่ธรณี อย่าเป็นรวงที่เมล็ดข้าวแฟบ ชูยอดหาพระอาทิตย์อย่างเดียว เราไม่ต้องทำเป็น ขอให้เรารู้วิธีการ งานก็จะดี สร้าง Story Telling เกิดการพัฒนา Branding Packaging Marketing เพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ใจต้องเปิดรับสิ่งที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ ได้ขยายผลให้มีศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมแหล่งรวมวัตถุดิบ เป็นที่ทำงาน เป็นที่ศึกษาดูงาน และเป็นที่ขายของ อย่างครบวงจร อย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่ง ด้วยการผลักดันเข้าไปในแผนพัฒนาทุกระดับ ทำให้เกิดการพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาที่เป็นเท่าทวีคูณ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ข้าราชการทุกคนได้น้อมนำบทคำนำที่ได้พระราชทานในหนังสือดอนกอยโมเดลมาเป็นกำลังใจ และขยายผลให้สิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเป็นเจ้าของวัตถุดิบเองด้วย เพราะ Bio Circular Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว มีนัยยะว่าเราสามารถผลิตเอง ใช้เองภายในประเทศ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะตัดเย็บ ที่ไหน เงินก็จะหมุนเวียนในประเทศทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชนอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานไว้ให้และเกิดผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว เพื่อพวกเราทุกคน จะได้ช่วยกันตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการมุ่งมั่นปฏิบัติราชการเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับพี่น้องประชาชน อันเป็นการปฏิบัติบูชาที่สนองดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี ได้ขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน และส่งเสริมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ได้นำลายผ้าพระราชทานเป็นต้นแบบในการพัฒนาลายผ้า ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวอุดรธานีเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่ในอดีต ตัวอย่างเช่น จังหวัดอุดรธานีได้มีการค้นพบลายผ้าโบราณกว่า 100 ปี โดยมี “ผ้าหมี่ขิด” เป็นผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
นายสมคิด จันทมฤก เปิดเผยว่า ในส่วนของการประกวดฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ มีช่างทอผ้าและศิลปินร่วมส่งผลงานเข้าประกวด แบ่งเป็น ประเภทผ้า จำนวน 1,932 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 69 ชิ้น โดยคณะกรรมการจะทำการประกวดเพื่อคัดเลือกผลงานเข้าสู่การประกวดรอบคัดเลือกในวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผ้า ให้คงเหลือ 150 ผืน เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศต่อไป
Leave a Reply