เวปไซต์ “the cloud” ได้สัมภาษณ์ ““เจริญ กุลสุวรรณ หรือนามปากกาว่า “ทยาลุ” ผู้อยู่เบื้องหลังวรรณรูปที่คนไทยชาวพุทธชินกันดี เช่นคำว่า “อย่าเห็นแก่ตัว -มีสติ-อย่าเผลอ-อยู่กับสติ” เพื่อส่งสัจธรรมชีวิตผ่านศิลปะ
เวปไซต์ “Thebudd” ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ดังมีรายละเอียด ดังนี้
เราเชื่อว่าอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งทุกคนต้องเคยเห็นภาพพระพุทธรูปที่ประกอบจากคำว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ บนอินเทอร์เน็ต ลายเสื้อ สติกเกอร์ตามที่ต่าง ๆ หิ้งพระในบ้าน หรือผลงานจากศิลปินที่หยิบมาเป็นไอเดียทำงาน
เจริญ กุลสุวรรณ หรือนามปากกา ทยาลุ เป็นคนจรดชอล์กวาดภาพนี้ลงบนกระดานดำ ครั้นเป็นพระอยู่สำนักวิปัสสนาเกาะฟาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทยาลุถือเป็นศิลปินเบอร์ต้น ๆ ในงานวรรณรูป (Concrete Poetry) ของไทย หรือบทกวีภาพ ศิลปะของการผสมผสานระหว่างภาพและตัวอักษร
ผลงานทยาลุหาดูไม่ยาก อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเราเจองานของเขาได้เกือบทุกที่และหลากหลายรูปแบบ แต่ข้อมูลชีวิตศิลปินคนนี้กลับเป็นสิ่งที่หาอ่านได้น้อยกว่าผลงาน นั่นเป็นโอกาสดีที่เราจะขอคุยกับเขา
ยอมรับว่าตอนแรกที่รู้ว่าจะได้คุยกับทยาลุ เรากังวลมาก ๆ ท่านเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ในความรู้สึกเรา ถึงขั้นได้รับตำแหน่งศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณรูป) พ.ศ. 2551 เราเกิดอาการเกร็งช่วงแรกหลังพบหน้า แต่รอยยิ้มและน้ำเสียงนุ่มนวล พร้อมแทนตัวเองว่าพ่อ เรียกเราว่าลูก เราเลยรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับญาติผู้ใหญ่ ช่วยให้บทสนทนาหลังจากนั้นคือการเล่าเรื่องความหลัง ปัจจุบัน และอนาคตของชายวัย 76 ปีให้คนอายุน้อยกว่าอย่างเราฟัง
อาจารย์เจริญ (อาจารย์แนะนำให้เรียกแทนท่านแบบนี้) เป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อย่างวาดรูป เขียนหนังสือ แต่งนิยาย แต่งเพลง แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือ ‘งานวรรณรูป’ จุดประสงค์ในการรังสรรค์งานทั้งหลายก็เพื่อเผยแผ่หลักธรรมอย่างคนที่มีโอกาสได้ศึกษาจนเกิดความเข้าใจ
ความยาวของบทสัมภาษณ์นี้อาจไม่ยาวเท่าระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงที่เราใช้คุยกับอาจารย์ เราตั้งใจเก็บรายละเอียดชีวิตและการทำงานของชายคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ของหลาย ๆ คน ผู้ซึ่งก็หวังว่าเรื่องที่ตัวเองพูดจะเป็นประโยชน์กับคนพอ ๆ กับงาน
เด็กอีสานที่เติบโตด้วยพุทธศาสนาและศิลปะ
อาจารย์เจริญเป็นคนบ้านน้ำคำ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เติบโตมาในบ้านที่เปิดเป็นร้านขายของชำ เป็นความตั้งใจของพ่อแม่ที่อยากให้ฐานะทางบ้านมั่นคง ชีวิตของลูก ๆ ทั้ง 6 คนมีโอกาสก้าวหน้า จากทำนาก็เปลี่ยนมาค้าขาย จากเริ่มต้นด้วยร้านขนาด 1 คูหาก็ขยายเป็นตึกแถว 2 ชั้น 3 คูหา ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดประจำอำเภอ โดยไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจของผู้เป็นพ่อที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาแรงกล้า
“คุณพ่อบวชตอนอายุย่างเข้าเบญจเพส ท่านเล่าให้ฟังว่าจุดมุ่งหมายในการบวชเพื่อศึกษาธรรมะ และฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คุณพ่อเลยไปอยู่วัดป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านบวชอยู่หลายปีจนรู้สึกว่าเข้าใจธรรมะเพียงพอที่จะใช้เป็นแสงไฟส่องทางชีวิต จึงตัดสินใจลาสิกขากลับมาเป็นแรงงานช่วยปู่ย่าทำสวนทำนา”
การเลี้ยงลูกของพ่ออาจารย์เจริญพยายามส่งเสริมเรื่องศาสนาพุทธให้ลูก ๆ ทุกวันขึ้นและวันแรม 8 คํ่า หรือเรียกกันว่าวันพระเล็ก ในเวลาพลบค่ำ พ่อจะพาลูก ๆ สวดมนต์ เล่านิทานธรรมะก่อนเข้านอน แต่ก็มีบางเรื่องเล่าไม่จบ เพราะเด็กชายเจริญร้องไห้ก่อน
อาจารย์อธิบายว่าร้องไห้เพราะเรื่องมันเศร้า สงสารชะตาชีวิตตัวละคร อย่างเช่นเจ้าหญิงที่ถูกยักษ์ทำร้าย อาการอ่อนไหวไวต่อความรู้สึกติดตัวอาจารย์ตั้งแต่เด็ก เวลาเห็นใครกำลังทุกข์ก็ทำให้อาจารย์ทุกข์ด้วย (อาจารย์บอกเราว่าให้จำเรื่องนี้ดี ๆ เพราะมีความเชื่อมโยงกับชีวิตท่านตอนหลัง)
ถ้าเป็นวันขึ้นและวันแรม 15 คํ่า หรือวันพระใหญ่ พ่อจะพาทั้งครอบครัวไปวัด ชวนลูกชายทั้ง 3 คนไปสนทนาธรรมกับพระ ด้วยความที่ยังเด็ก ๆ อายุไม่ถึง 7 ขวบ พวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่พระพูด แต่สิ่งที่จำได้แน่ ๆ คือทุกครั้งที่ก้มกราบ พระท่านนั้นจะเอามือลูบหัวพร้อมให้พร มือที่ค่อย ๆ ลูบหัวไปมากลายเป็นความอบอุ่นทำให้คนได้รับบันทึกไว้เป็นความทรงจำ
“ทราบตอนหลังว่าเป็นเจตนาของคุณพ่อ อยากให้ลูกชายซึมซับบุญกุศลที่เป็นผลของการเข้าหาพระรัตนตรัย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกชายคนนี้ศรัทธาในพุทธธรรมนับตั้งแต่นั้น”
อาจารย์เจริญออกบวชครั้งแรกตอนอายุ 22 ปี เป็นการบวชตามประเพณีที่ลูกชายเมื่อถึงวัย 20 ปีจะอุปสมบทอุทิศส่วนบุญกุศลให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย บวชได้ 1 ปีอาจารย์ก็ลาสิกขากลับมาช่วยงานที่บ้าน ระหว่างที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับสนใจศาสนาพุทธมากขึ้นเรื่อย ๆ ศิลปะก็เข้ามาในชีวิตอาจารย์และส่งผลต่อชีวิตที่เหลือเช่นเดียวกัน จังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ในภูมิภาคอีสาน อาจารย์เรียกว่าเป็นดินแดนของช่างศิลป์ พื้นที่แห่งนี้เลยหล่อหลอมจิตวิญญาณอาจารย์เจริญให้ชอบงานศิลปะ
“ผมชอบนั่งดูช่างทำงาน ดูเขาทำลายซุ้มประตูเข้าวัด แกะลายกระจังทำเกล็ดพญานาค ไปดูเขาสับลายติดโลงศพ ตัดลายเอ้บั้งไฟ ที่ชอบมากสุดก็คือไปดูเขาวาดภาพพระเวสสันดรบนแผ่นผ้าสำหรับประดับศาลา”
พื้นที่ทำงานศิลปะแรกของอาจารย์เป็นประตูในบ้าน พ่อมักเลือกใช้ประตูสังกะสีสีขาว มันเลยดึงดูดเด็กคนหนึ่งให้ลองหยิบดินสอวาดรูปต่าง ๆ ลงไป ตอนจบลงเอยที่อาจารย์โดนแม่ตีเพราะทำประตูเลอะ ส่วนพ่อเห็นแววความชอบลูกซื้อสมุดดินสอให้วาดแทน
ช่วงที่อาจารย์อยู่มัธยมต้น เส้นทางเดินจากบ้านไปโรงเรียนต้องผ่านร้านวาดภาพร้านหนึ่ง อาจารย์ชอบหยุดแวะดูทุกครั้ง เจ้าของร้านเป็นคุณลุงรับวาดภาพเหมือนลงบนกระดาษปอนด์ ใช้พู่กันจุ่มสีดำบรรจงร่างลายเส้นลงไป ฝีมือของคุณลุงคนนี้อาจารย์บอกว่า “ล้ำเลิศ” อาจารย์อยากวาดได้แบบเดียวกัน แต่กลัวไปถามแล้วจะรบกวนเวลาทำงาน อาจารย์อาศัยดูคุณลุงวาดรูป พอกลับถึงบ้านลองทำตาม
“ไม่รู้สีที่เขาใช้เป็นสีอะไร รู้แต่ว่าคล้าย ๆ เป็นผงถ่าน ผมทำเองเอาเทียนไขจุดไฟแล้วลนสังกะสีมันจะได้ฝุ่นดำ ๆ ก็ขูดออกมาได้ทีละช้อน แต่ว่าไม่ละเอียดเท่าสีที่คุณลุงเขาใช้นะ
“ที่พิสูจน์ได้ว่าเราได้อะไรจากสิ่งนี้ คือวันหนึ่งมีคนมาเห็นภาพเรา แล้วบอกว่าใช้ได้แล้วนี่ เขาจ้างเราวาดรูปชิ้นแรกเลย ดีใจมาก ๆ ราคาก็ถู๊กถูก สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ส่วนค่ารูปตอนนั้นน่าจะไม่เกินบาทสองบาท”
จากนั้นอาจารย์ก็รับวาดรูปเหมือน ไปเป็นลูกศิษย์เรียนกับอาจารย์ช่างต่าง ๆ จนมีอาชีพเสริมในวัยก่อน 20 ปี คือรับงานประดับโลงศพด้วยลายไทย และรับจ้างวาดผ้าผะเหวดให้วัดต่าง ๆ
ทำงานเป็นนักวาดโปสเตอร์หนัง
ย่างเข้า 23 ปี อาจารย์เจริญในวัยหนุ่มตัดสินใจเข้ามาตามหาฝัน ณ กรุงเทพฯ เมืองที่ใครก็ต่อว่าเป็นเมืองสวรรค์ อาจารย์มีโอกาสลงเรียนคอร์สสั้น ๆ ที่วิทยาลัยเพาะช่างและวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยวิจิตรศิลป ไม่ใช่เพื่อเพิ่มฝีมือ แต่เพื่อ “เวลาเขาถามว่าเรียนอะไรมาบ้าง จะได้โชว์ใบพวกนี้ให้เขาดู” อาจารย์ว่า
ที่ผ่านมาอาจารย์เจริญทำงานจ้างรายชิ้นตามแต่ลูกค้าสั่งมา แต่กรุงเทพฯ ทำให้อาจารย์ได้ลองเป็นมนุษย์เงินเดือน ผ่านตำแหน่งคนวาดภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ประจำโรงหนังเครือเอเพ็กซ์ งานของอาจารย์อยู่ที่การวาดรูปใบหน้านักแสดง
“ผมได้อยู่ใกล้ ๆ คุณตาเปี๊ยก โปสเตอร์ ด้วย ท่านเป็นผู้สร้างตำนานการทำโปสเตอร์หนังเลยนะ ได้ไปศึกษากับท่านแป๊บหนึ่ง ถือว่าเป็นบุญที่ได้อยู่ใกล้ศิลปินเอก”
การเล่าช่วงเวลานี้ต้องให้เวลาอาจารย์นึกย้อนสักหน่อยว่า เคยวาดรูปหนังเรื่องอะไรบ้าง
“ที่ผมวาดส่วนมากเป็นหนังฝรั่งนะ อย่างเรื่อง ขุมทองแมคเคนน่า (Mackenna’s Gold) ทุกวันนี้ยังวนกลับมาฉายอยู่เลย ถ้าวาดของโรงศาลาเฉลิมไทยจะต้องเป็นหนังของ มิตร ชัยบัญชา
“ไม่เคยนึกเคยฝันว่าการที่เราทำงานศิลปะแล้วจะมีคนมามุงดู วันนั้นผมเอาโปสเตอร์หนังไปติดหน้าโรง จำได้ว่าเป็นโรงหนังสยาม หนังฉายรอบแรกคนเลยเยอะมาก ๆ ทีนี้มีจุดที่หัวหน้าอยากให้แก้ในโปสเตอร์ แต่คนทำกลับบ้านไปแล้ว งานเข้าเลยเหลือเราคนเดียว ผมก็เอาพู่กันจุ่มสีเขียนแก้ หนุ่ม ๆ ยืนมุงกันใหญ่เลยนะ เขาว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ ผมทั้งตื่นเต้นทั้งมือสั่นเลย”
อาจารย์ทำงานตำแหน่งนี้ได้ประมาณ 11 เดือนก่อนไปต่อเส้นทางถัดไป คือการออกบวชครั้งที่ 2
ออกบวชรอบ 2 ทำให้เข้าใจธรรมะและเริ่มต้นเป็นศิลปิน
การออกบวชรอบ 2 เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อาจารย์ที่อยู่เหตุการณ์นั้นด้วย ได้เห็นคนเจ็บคนตาย จึงรู้สึกสะเทือนใจ เกิดเป็นคำถามว่ามีทางออกอื่นนอกจากการใช้ความรุนแรงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เริ่มเบื่อชีวิตในเมืองสวรรค์แล้ว
เที่ยวก็เที่ยวที่เดิม เหล้าก็กินยี่ห้อเดิม อะไรก็เดิมๆ ผมนั่งคิดว่าเราจะอยู่ตรงนี้อีกนานไหม เลยตัดสินใจเข้าวัดมหาธาตุไปอยู่ตรงลานอโศก สมัยนั้นเขายังไม่ได้สร้างอะไรมากมาย อาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ จะมีพระอาจารย์ดัง ๆ ผลัดกันขึ้นมาพูดท่านละชั่วโมงสองชั่วโมง แฟนคลับนั่งฟังกันเพียบเลย ผมเห็นครั้งแรกก็แปลกใจว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ ไปยืนฟัง ๆ เฮ้ย พูดเรื่องธรรมะ แถมภาษาง่าย ๆ ภาษาที่คนพูดทั่วไปไม่ใช่ภาษาพระ ฟังแล้วสนุก มีลูกล่อลูกชน เราเลยเข้าวัดนี้บ่อย ๆ
“ผมไปเจอรถเข็นขายหนังสือเป็นของชายสูงวัย ขายหนังสือธรรมะเล่มบาง ๆ ของพระอาจารย์ทั้งหลาย เราแวะไปดูเจอปกเล่มหนึ่งเขียนว่า นิพพาน ข้างล่างใส่ชื่อคนเขียนว่า พุทธทาส อีกเล่ม อย่าเห็นแก่ตัว ชื่อคนเขียนเดียวกัน ชีวิตนี้ผมไม่เคยเจอคำว่านิพพานมาก่อน แล้วหนังสือแทนที่จะพูดเรื่องทางไปสวรรค์หรือวิธีทำบุญ กลับเอาเรื่องนี้มาพูด เราลองเปิดอ่านดูก็ถูกใจทุกเรื่องที่ท่านพูดเลย ภาษาท่านไม่เหมือนพระทั่วไป ยกตัวอย่างเจ็บทุกดอก
“อ่านจบแล้วมีประโยคหนึ่งที่โดน คือ ความเห็นแก่ตัวเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วทั้งปวง โอ้โฮ อ่านแล้วน็อกเลย มันเป็นความชั่วทั้งปวงจริง ๆ ถ้าเห็นแก่ตัว ผมตัดสินใจควักเงินซื้อหนังสือติดกระเป๋าไว้”
อาจารย์บอกว่าหนังสือ 2 เล่มนี้จุดประกายการเดินบนเส้นทางธรรมครั้งที่ 2 พอดีกับที่มีประกาศรับสมัครบวชภาคฤดูร้อนที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อาจารย์ที่อยากศึกษาธรรมะอย่างจริงจังเลยตัดสินใจโดยไม่ได้บอกใครแม้แต่ครอบครัว
การบวชครั้งนี้ อาจารย์ได้ไปอยู่สำนักวิปัสสนาบนเกาะฟาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ราว 2 พรรษา ถ้าเป็นหนังคงถึงจุดไคลแม็กซ์แล้ว เพราะที่นี่ทำให้อาจารย์ได้สร้างผลงาน ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ วรรณรูปชิ้นแรกในชีวิต
“คำว่าเห็นแก่ตัวที่อ่านจากหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาส มันยังคาอยู่ในใจ เป็นคำที่ผมอยากให้คนอื่น ๆ เข้าใจเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะใช้วิธีไหนดี แต่คิดได้ว่าเราเป็นศิลปินคนหนึ่ง คำนี้น่าจะออกมาในแบบของงานศิลปกรรม
“ใช้เวลาคิด 2 ปีก็ยังหารูปแบบมารองรับคำว่าอย่าเห็นแก่ตัวไม่ได้ คิดไปถึงต้นไม้ ใบไม้ ลูกช้าง ก้อนหิน ดอกไม้ เทวดา คิดไปหมด แต่พอจะเอามาวางกลับวางไม่ลง
“วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2518 ช่วงบ่าย ผมจำได้เลย ตอนนั้นกำลังอยู่ในศาลาโรงธรรม คนอื่น ๆ นั่งทำงานตัวเอง ผมยืนอยู่หน้ากระดานดำ มีชอล์กมีอุปกรณ์ครบ เลยคิดว่าน่าลองไหม เท่านั้นแหละ มีประโยคหนึ่งแวบเข้ามาในหัวว่า ทำไมไม่ลองเอา 3 คำนี้ใส่เข้าไปในรูปพระพุทธรูป..”
“ผมต้องลองทำตามที่หัวใจบอก ถ้าเป็น เสก โลโซ คงบอกว่าใจสั่งมา แต่ถ้าในเชิงวิทยาศาสตร์ คือความคิดมันตกผลึกหลังจากใช้เวลาคิด 2 ปี สุดท้ายไม่ว่าอะไรก็ตามจะต้องตกผลึกออกมา ผมหยิบชอล์กแล้วร่างเป็นรูปพระพุทธรูปบนกระดานดำ จากนั้นคิดต่อว่าจะใส่คำยังไง เอาคำว่า ‘อย่า’ ใส่ลงใบหน้าสิ ไม้เอกให้เป็นเศียร แล้วสระเอไว้ตรงไหน เอาเป็นแขนข้างขวาสิ… ดูซิมันจะอะไรขนาดนั้น ทำเสร็จน้ำตาคลอเลยนะ”
หลังวาดเสร็จคนที่เหลือในศาลาต่างมายืนดูรูปนี้ ต่างคนต่างใช้เวลาทำความเข้าใจภาพนี้เป็นของตัวเอง สำหรับอาจารย์เจริญ ถือเป็นการเริ่มหนทางเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากพุทธศาสนา
พระเจริญออกเดินทางไปศึกษาธรรมกับ พระอาจารย์มหาสำเริง สุทธวาสี ศิษย์รุ่นแรก และสำคัญของท่านอาจารย์พุทธทาส ณ สำนักสงฆ์เล็ก ๆ บนเกาะสมุย และเดินทางต่อไปที่เกาะแตน อยู่กับ พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพุทธทาสอีกรูปหนึ่ง ที่นี่มีห้องสมุดเก็บรวบรวมหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาสให้อาจารย์ศึกษา และการบวชครั้งนี้ก็ทำให้อาจารย์เข้าใจหลักธรรมและสัจธรรมชีวิตมากยิ่งขึ้น
“ทุกวันหลังทำกิจวัตรประจำวันเสร็จ ผมจะอ่านหนังสือวันละประมาณ 6 ชั่วโมง พอถึงบ่าย 3 ไปเดินจงกรมที่หาดริมทะเลประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อบ่มเพาะสติสมาธิ การเดินจงกรมทำให้รู้ว่าสมาธิที่เกิดจากการเดินมั่นคงและมีพลังเข้มแข็งกว่าสมาธิจากการนั่งหลับตา
“ทุกสิ่งคือธาตุ กายนี้แท้จริงก็คือธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตนของเรา ที่เห็นอยู่นี้มีแต่ธาตุซึ่งเป็นธรรมชาติล้วน ๆ ผมเข้าใจผิดมาตั้งนาน ถ้าไม่ได้มาอ่านมาศึกษาก็คงจะโง่ต่อไป ดีนะที่ไม่ตายไปเสียก่อน”
ศิลปินวรรณรูปที่ตั้งใจเผยแพร่สัจธรรมชีวิต
ช่วงปีท้าย ๆ ของการบวช อาจารย์เจริญออกธุดงค์และเริ่มทำงานศิลปะเพื่อเผยแผ่หลักธรรมะ ไม่ว่าจะเขียนหนังสือ แต่งนิยาย แต่งเพลง วาดวรรณรูป แต่ชีวิตศิลปินดูจะขัดกับการเป็นพระ อาจารย์นั่งทบทวนว่าเมื่อตัวเองเข้าใจหลักธรรมเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระหรือไม่ ตัวตนส่วนนี้ของอาจารย์ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์เจริญยังเผยแผ่คำสอนได้ตามความตั้งใจ เขาจึงตัดสินใจสึกออกมาเป็นศิลปินเต็มตัว
“วันนี้ผมรู้ว่างานอื่นของเราอาจไม่ล้ำเลิศเท่าครูบาอาจารย์ท่านอื่น ๆ หรือศิลปินแห่งชาติทั้งหลาย แต่สิ่งที่เป็นตัวเราโดยเอาไปเทียบกับใคร คือการทำวรรณรูป”
ทยาลุเป็นนามปากกาที่คนส่วนใหญ่รู้จัก หมายถึง ความเอ็นดู เป็นความหมายเดียวกันกับคำว่าเมตตา ซึ่งตรงกับนิสัยของอาจารย์ จึงเลือกใช้คำนี้เป็นนามปากกางานเขียนเกี่ยวกับธรรมะและภาพวาด
“สมัยเป็นนักเรียนผมชอบเขียนกลอน ตอนนั้นใช้นามปากกา จร เจ็ดจ้าว ถ้าเป็นงานดนตรีใช้นามปากกา มนต์ วิมุตติ, คำอุ่น กุลสุวรรณ ส่วนงานธรรมะใช้นามปาก ยะเยือก เย็นนิรันดร์ และทยาลุ”
งานศิลปะเริ่มต้นจากความตั้งใจอยากส่งต่อคติธรรมดี ๆ ให้คนนำไปใช้ในชีวิต ศิลปะวรรณรูปดูจะเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คติธรรมเหล่านี้เข้าถึงคนมากขึ้น
“แล้วกำลังจะถามใช่ไหมว่าทำไมต้องเป็นรูปพระ” อาจารย์เจริญถามดักเราทันที
“พุทธศาสนิกชนคนไทยศรัทธาและให้ความเคารพพระพุทธรูปอยู่แล้ว กลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่เห็นพระพุทธรูปที่ไหน แม้แต่เป็นลายเสื้อ คนก็เตือนใจตัวเองว่าระวังนะ ห้ามเดินข้าม เป็นพลังที่เรามองว่าเอามาผสมกับสัจธรรมดี ๆ เพื่อคนจดจำและนำไปใช้ได้”
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของทยาลุคงหนีไม่พ้นภาพอย่าเห็นแก่ตัว คนสร้างบอกว่าเห็นทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ติดอยู่บนรถเมล์ เหรียญบูชา ภาพบนหิ้งพระ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน คนทำเอ่ยปากว่าขออนุโมทนาด้วยทั้งนั้น ขอเพียงไม่เอาภาพไปทำผิดกฎหมายก็พอ
คำที่อาจารย์ชอบใช้ทำวรรณรูป คือ คำว่า ‘สติ’ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน ชีวิตที่ขาดสติก็จะเกิดปัญหาได้ เลยเป็นเรื่องที่อาจารย์อยากย้ำทุกคนให้มีสติ (อาจารย์บอกว่ารวมถึงเราด้วย) เช่น มีสติอย่าเผลอ อยู่กับสติ มีสติแก้ปัญหา ฯลฯ
“ล่าสุดมีภาพที่กำลังจะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานใดก็ได้ที่สนใจ คือ ‘มีสติเลิกทุจริต’ เป็นภาพพระพุทธรูปนั่งยกมือขวาห้าม เพื่อเขาเอาไปใช้ได้”
ทยาลุได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านวรรณรูป เราไม่พลาดที่จะถามถึงเคล็ดลับในการทำงาน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายยาก แต่อาจารย์ก็พอเล่าการทำงานคร่าว ๆ ให้ฟังว่า ไอเดียเกิดจากนึกคำขึ้นได้แล้วมาวาด หรือมีคนขอมา รูปแบบที่วาดส่วนใหญ่เป็นคน ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปหันหน้าตรง บางทีก็ซ้ายบ้างขวาบ้างแล้วแต่อารมณ์ มีเป็นรูปชายหญิง รูปคนแบบต่าง ๆ
อาจารย์ยกตัวอย่างงานวรรณรูปของรัชกาลที่ 9 สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ติดต่อขอให้อาจารย์ช่วยวาดรูปในหลวงจากคำว่ารู้รักสามัคคี งานนี้ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่ง อาจารย์เล่าว่าคิดอยู่นานจะวาดออกมายังไง เพราะมีเวลาทำเพียง 4 วัน ท่านก็ใช้วิธีแบบเดียวกับเวลาคนคิดงานไม่ออก คือให้ไปอาบน้ำ น้ำเย็น ๆ จะช่วยให้จิตใจสงบสมองปลอดโปร่ง อาจารย์นึกถึงภาพในหลวงที่เคยเห็นในวารสารเล่มหนึ่ง เป็นรูปในหลวงทรงหมวกหันด้านข้าง อาจารย์เกิดไอเดียวาดเป็นรูปขึ้นมา
“ให้อธิบายก็ยากนะว่าเอาคำไหนไว้ตรงไหน เรารู้แค่ว่าเอาคำว่า ‘รู้’ ไว้ที่หมวก ส่วน ‘รัก’ ไว้ตรงท้ายทอย ส เสือ ทำเป็นจมูกซะ ที่เหลือมันตามมาเอง”
ลักษณะของอักษรไทยมีศิลปินหลายคนออกปากว่าเอาไปวาดรูปยาก เพราะมีความโค้งงอหลายจุด สำหรับอาจารย์เจริญตัวอักษรที่ยากที่สุดเป็นอักษรจำพวก ฐ พ ฏ ฎ ฯลฯ
“จริง ๆ ผมอยากทำวรรณรูปของหลวงปู่พุทธทาสเป็นภาพแรก ๆ คิดมานานหลายปี แต่คิดไม่ออกว่าจะทำยังไง เพราะขึ้นต้นด้วย พ ทำหน้ายาก ผ่านมา 4 – 5 ปี ผมคิดได้ว่าก็ไม่ต้องเอาคำว่าพุทธทาสขึ้นสิ เอาคำอื่นที่เกี่ยวข้อง เลยเอาคำว่าอริยะขึ้นก่อน แล้วต่อด้วยพุทธทาส หน้าเหมือนท่านเลยนะ” อริยหรืออริยะ เป็นคำเรียกบุคคลที่บรรลุธรรมถึงขั้นโสดาปัตติมรรค เช่น พระอริยะ พระอริยบุคคล
ลายเส้นของอาจารย์ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะในภาคอีสานซึ่งร่ำเรียนมาเมื่อยังเด็ก อาจารย์เจริญได้ศึกษาเรื่องวรรณรูปจนค้นพบว่า ศิลปะนี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษลุ่มแม่น้ำโขงสร้างมานานแล้ว
“เมื่อพันกว่าปีก่อนในยุคอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ และ 700 กว่าปีก่อนในอาณาจักรล้านช้าง เป็นยุคที่พุทธศาสนาเข้ามาและเจริญรุ่งเรืองบริเวณลุ่มน้ำโขง ชาวบ้านเริ่มรู้จักภาษาบาลี-สันสกฤต ฝ่ายสงฆ์เริ่มศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
“แต่คำสอนมีเนื้อความยาว ยากแก่การจดจำ พระบางรูปเลยย่อเนื้อความให้สั้น บ้างก็ใช้อักษรตัวเดียวแทนเนื้อความในประโยค เช่น นะ โม พุท ธา ยะ ถือเป็นคาถาที่ทรงคุณค่านะ”
แต่ละคำจะมีความหมายของตัวเอง เช่น นะ ย่อมาจาก นะระวะระธัม หมายถึง ธรรมของผู้ประเสริฐ ส่วน โม ย่อมาจาก โมจะนะธัม หมายถึง ธรรมเพื่อปลดเปลื้องการยึดติดในตัวตน คาถานี้มีความหมายรวม ๆ ว่า คาถาอันประเสริฐที่จะพาปัญญาชนข้ามพ้นทุกข์
คำย่อเหล่านี้เมื่อผ่านตาช่างศิลป์ก็พากันต่อยอดทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น ครุฑ พญานาค ใบโพธิ์ เป็นต้น ต่อมาก็นิยมทำเป็นยันต์ ซึ่ง ยันต์ แปลว่า เร็ว ง่าย คล่อง เพื่อให้คนที่จะศึกษาหลักธรรมจำได้เร็ว จำได้ง่าย และพูดได้คล่องติดปาก ในความคิดของอาจารย์เจริญ ยันต์ก็คือวรรณรูปแบบหนึ่ง
อุปกรณ์วาดรูปที่อาจารย์ยังใช้จนถึงทุกวันนี้ เป็นผ้าแคนวาสที่อาจารย์ย้ำว่าต้องใช้ของฝรั่งเศสเพราะเนื้อดี พู่กัน แปรง และสีน้ำมัน ซึ่งอาจารย์ก็ย้ำอีกว่าต้องเลือกใช้แบบคุณภาพดี ๆ เวลาวาดภาพขนาดใหญ่สีจะคมชัด ผลงานส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ให้ใครอาจารย์จะพับเก็บไว้ในกล่อง จนคู่ชีวิตอย่าง กัลยา กุลสุวรรณ บอกว่าให้เอาออกมาโชว์ดีกว่า ทุกวันนี้ผนังบ้านอาจารย์จึงเต็มไปด้วยงานตัวเอง
“ผมคิดว่างานศิลปะไม่ควรเก็บไว้แค่ในแกลเลอรี เพราะถึงภาพคุณจะราคาหลายล้าน แต่สุดท้ายก็ไปอยู่ในซอกหลืบเท่านั้น ช่วยอะไรสังคมได้ไหม หรือประโยชน์อยู่ตรงไหน นั่นไม่ใช่เรา งานเราต้องไปอยู่ในทุกที่ที่มนุษย์เห็น เช่น บนรถเมล์”
พุทธศาสนากับศิลปะจะว่าเป็นคนละเรื่องหรือเกี่ยวข้องกัน อาจแล้วแต่มุมมองใครมุมมองมัน สำหรับอาจารย์เจริญที่อยู่กับ 2 สิ่งนี้เกือบทั้งชีวิตนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือการถ่ายทอดความงามที่สร้างประโยชน์ให้โลก
“พุทธศาสนามีความหมายหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือพุทธศาสนาเป็นศิลปะ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยนะ ไม่ใช่เรายัดใส่ ‘อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาฌัง ปะริโยสานะกัลยาฌัง’ กัลยา แปลว่า ความงาม แปลรวม ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่งดงามในเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย มันลงตัวมาก ศิลปะ 2 สายมาเจอกันย่อมเป็นพลังมหาศาล เป็นแสงธรรมที่สอดส่องในสังคม”
วางแผนบั้นปลายด้วยการทำงานศิลปะและทิ้งมรดกไว้
อาจารย์เจริญในวัย 76 ปี ยังคงทำงานศิลปะทั้งจากความต้องการตัวเองและคนขอเข้ามา โดยมีลูกสาวคนเล็กเป็นคนประสานให้ผ่านเพจเรือนวรรณรูป
“ผมถึงบอกว่า ต่อให้ฉันจะห่มผ้าสีอะไร โกนหรือไม่โกนผมก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะลมหายใจของฉันคือการเผยแผ่ธรรมะ จนกว่าถึงวันสิ้นลมที่คงไม่ได้พูดแล้ว แต่ในงานศพน่าจะมีข้อคิดอะไรทิ้งท้ายไว้ให้นะ”
ความศรัทธาในศาสนาพุทธ ทำให้อาจารย์อยากใช้เวลาหลังจากนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธและสังคม ผลงานวรรณรูปเป็นสิ่งที่อาจารย์เจริญตั้งใจทิ้งเป็นเจดีย์ไว้บนโลกใบนี้
“พระพุทธเจ้าแบ่งเจดีย์ไว้ 4 ประเภท หนึ่งในนั้นคือธรรมเจดีย์ ผมว่าวรรณรูปที่ทำร้อยกว่าชิ้นคือเจดีย์ที่ผมสร้างเองกับมือ แล้วตอนที่เราสิ้นไปแล้ว เจดีย์นี้จะยังคงอยู่คู่สังคมไหม” คำถามที่อาจารย์ทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนา
ที่มา https://readthecloud.co
Leave a Reply