หนังสือกราบทูล “สมเด็จพระสังฆราช” จาก “จำนงค์ ทองประเสริฐ” ราชบัณฑิต

            วันนี้ (19 เม.ย.64)   “ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ”  ราชบัณฑิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือกราบทูล “สมเด็จพระสังฆราช” ในฐานะ “สกลมหาสังฆปริณายก” และ “กรรมการมหาเถรสมาคม” เพื่อนำเสนอหลักคิดและข้อปฏิบัติต่อกรณีที่พระบางรูปถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์และประชาชน  มีใจความว่า

           กราบทูล   เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และกราบนมัสการกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป

          เกล้ากระหม่อม ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขอประทานอนุญาตกราบทูลเสนอ      หลักคิดและข้อปฏิบัติต่อกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมและมีการสร้างความเข้าใจ       ที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์และประชาชนเรื่องการขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคมต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกล่าวหาพระภิกษุในพระอารามหลวงอย่างน้อย ๓ พระอาราม ประกอบด้วย วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร     วัดสามพระยา วรวิหาร และ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหารอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจาก มูลความจริง การที่เกิดกรณีดังกล่าวเช่นนี้ขึ้น จะมีมูลมาจากเหตุใด เกล้ากระหม่อมมิอาจทราบได้  แต่เชื่อว่ากรรมการมหาเถรสมาคมควรจะต้องเป็นผู้ทราบสาเหตุอันแท้จริงและจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้น ตลอดจนความเสียหายต่อวงการพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย  เพราะเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรก หากแต่มองย้อนกลับไปเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เคยเกิดกรณีมาแล้วที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรื่อง พระเดชพระคุณพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อันเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงกระทบความมั่นคงต่อศาสนจักรและราชอาณาจักรไทยในขณะนั้น แต่เมื่อปรากฏจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแล้ว

         “พระพิมลธรรม” ท่านมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ต่อมา รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้มี                    การประกอบพิธีคืนสมณศักดิ์ให้กับท่าน นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า การกล่าวหาและดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกพระพิมลธรรมในครั้งนั้น เป็นการจงใจใส่ความจับกุมคุมขังและดำเนินคดีพระพิมลธรรมอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม ก็มิอาจทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระภิกษุได้ กล่าวสำหรับกรณี ที่เกิดขึ้นกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในพระอารามหลวงทั้ง ๓ พระอารามในปัจจุบันนี้ ก็เฉกเช่นเดียวกัน  เพราะแทนที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะทำหน้าที่คอยปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหา  โดยไม่เป็นธรรม แต่กลับทำหน้าที่ในทางทำลายพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาในทุกรูปแบบ โดยที่รัฐบาลปัจจุบันกลับเพิกเฉยคล้ายกับจะละเว้นความรับผิดชอบ หากเป็นจริงดังนี้ เกล้ากระหม่อม   ก็มีความเห็นว่า มหาเถรสมาคมจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหา อย่างไม่เป็นธรรมตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเพิกเฉยหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมถอยต่อวงการพระพุทธศาสนา  และกระทบไปถึงภาพลักษณ์ของมหาเถรสมาคมอย่างรุนแรง

           พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ได้เกิดความสับสนจากการที่เจ้าหน้าที่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อสารมวลชน  รวมทั้งให้ความเห็นต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมไปในทำนองปรักปรำแฝงไปด้วยข้อกล่าวหาซ้ำเติม พระภิกษุ สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นจากการเบี่ยงเบนประเด็นทั้งในหลักคิดและหลักปฏิบัติ   ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพระภิกษุ ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแจ่มชัดโดยเฉพาะ      มหาเถรสมาคม เกล้ากระหม่อมจึงขอประทานอนุญาตนำเสนอหลักคิดและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมและการสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์และประชาชนเรื่องการขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่ ดังข้อมูลที่เกล้ากระหม่อม    เคยนำเสนอเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการสละสมณเพศตามหลักกฎหมายไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว   มีข้อความ ดังนี้

             กรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ส่งผลให้สังคมเข้าใจว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นมติของมหาเถรสมาคม  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสมือนได้ประกาศให้สังคมเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ถูกคุมขัง           ได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้วตามผลของกฎหมายมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง การตีความข้อกฎหมายโดยใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไป ในข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจส่งผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง

              การให้พระภิกษุสละสมณเพศตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๙ นั้น ต้องดำเนินการ   ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ประกอบกับต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ  ตามแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ ที่ได้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานว่า การจะขาดจากความเป็นพระภิกษุตามมาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปนั้น ต้องมีการกล่าวคำลาสิกขา”

             จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เป็นการยืนยันได้ว่า ถ้าไม่ได้จัดการลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัยประกอบกับต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขา ต้องถือว่าไม่เป็น การสละสมณเพศ ให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ตามบทบัญญัติในมาตรานี้

            แต่ปรากฏว่า พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาวัดสามพระยา วรวิหาร กับวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา และในวันที่ถูกคุมขัง ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้มีพระสงฆ์รูปใด จากวัดใด มาดำเนินการให้ลาสิกขา ทั้งไม่ปรากฏพยานเอกสารและพยานบุคคล และไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ว่า พระภิกษุทุกรูปที่ถูกกล่าวหาได้ลาสิกขาไปแล้ว

             อีกทั้ง ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการนำสืบคดีต่อศาล มีการสอบพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกปาก ตั้งแต่ตำรวจที่จับกุม ก็เบิกความต่อศาลว่า ขณะจับกุม ยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจ      ที่ทำการสอบสวน ก็เบิกความต่อศาลว่า “ขณะที่สอบสวน ก็ยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจทุกปาก   ยืนยันตรงกันว่า ไม่ได้มีการจัดให้ท่านกล่าวคำลาสิกขา ทั้งขณะส่งตัวไปศาล ก็ปรากฎต่อศาลว่า     “ท่านยังใส่จีวร” และก่อนจะนำตัวท่านไปที่เรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ยังเห็นท่านใส่จีวร  เช่นเดียวกัน

            ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้อธิบายกฎ ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่า ไม่สามารถอนุญาตให้ใส่จีวรเข้าไปในเรือนจำ จึงขอให้เปลี่ยนเป็นชุดขาวตามที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ให้   โดยพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาทุกรูป ก็ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา

           จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้  มีการลาสิกขา ตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ ที่ได้วางแนวทางปฏิบัติไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

          ในกรณีที่มีการดำเนินการให้ลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่        ผู้มีอำนาจตามกฎหมายปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล ต้องรายงานการดำเนินการดังกล่าว     ต่อศาลตามมาตรา ๓๐ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่า ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำตามกฎหมายไม่ได้รายงานเรื่องการลาสิกขาให้ศาลทราบแต่อย่างใดทั้งสิ้น

            ทั้งนี้องค์ประกอบของการลาสิกขาตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้ครบองค์ประกอบตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ กล่าวคือ พระภิกษุต้องมีเจตนาลาสิกขา พร้อมทั้งได้กล่าวคำลาสิกขาตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๙ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจ ตามกฎหมายต้องรายงานต่อศาลตามมาตรา ๓๐ ถ้าปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๒ มาตรานี้ อย่างครบถ้วน ต้องถือว่า ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ดังนั้น จึงเป็นการยืนยัน ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง ประเด็นข้อกฎหมาย ตลอดจนพระธรรมวินัย และแนวทางปฏิบัติ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการดำเนินการให้ท่านลาสิกขา ตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เคยแถลงต่อสื่อสารมวลชนอันเป็นเท็จในกรณีของ วัดสามพระยา วรวิหาร โดยอ้างว่า เป็นมติของมหาเถรสมาคมซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏเป็นเพียง การรายงานความเห็นอันเป็นเท็จให้แก่มหาเถรสมาคมได้รับทราบเท่านั้น หาใช่เป็นมติของ มหาเถรสมาคมแต่อย่างใดไม่ สำหรับกรณีดังกล่าวนั้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงหลักพระธรรมวินัย ว่าด้วยการอุปสมบทและการลาสิกขา (สึก) ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น

             อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันในหมู่ฆราวาสว่า “การสละ สมณเพศ” และ “การสึก” ซึ่งปรากฏถ้อยคำสองคำนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทำให้เกิดความสับสนตีความหมายไปคนละทิศคนละทาง จึงขออธิบายความให้เข้าใจตรงกันว่า

           สมณเพศ หมายถึง ผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มที่แสดงออกถึงความเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น การบังคับให้สละสมณเพศ จึงหมายถึง การถูกบังคับให้สละผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มออกจากร่างกายของพระภิกษุรูปนั้น ๆ แต่ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะมิได้มีการเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ

          ส่วนการสึก คือ การลาสิกขา หมายถึง การที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ อธิษฐานใจและ เปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ จึงสละเครื่องแต่งกาย คือ ผ้าไตรจีวรออก ทั้งในการสึก ตามพระวินัย และการถูกบังคับให้สึกตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

          มีข้อสังเกตจากบทบัญญัติในมาตรา ๒๘ ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ระบุว่า พระภิกษุ รูปใด ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน ๓ วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า บทบัญญัติในมาตรานี้ ได้เน้นย้ำคำว่า สึก คือ การลาสิกขา ไม่ได้ใช้คำว่า สละสมณเพศ นั่นย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า ความหมายของคำ ๒ คำนี้ เป็นคนละความหมายกัน เพราะในหลักกฎหมายทั่วไป หากต้องการจะให้มีความหมายเดียวกัน ก็ต้องระบุศัพท์เป็นคำเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีความสุจริตมาตีความกฎหมายเอาเองไปตามอำเภอใจ

           ส่วนการถูกคุมขังและการใส่ชุดขาวนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมากล่าวอ้างว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้ว เพราะสาระสำคัญของความเป็นพระภิกษุ จะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การถูกคุมขัง แต่อยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุ ตามพระธรรมวินัย

           อนึ่ง ที่ต้องใส่ชุดขาว ก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระภิกษุหมดไป เช่น เวลาพระสงฆ์อาพาธต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้อง ถอดจีวรเพื่อใส่ชุดตามระเบียบของโรงพยาบาล เมื่อหายอาพาธแล้ว ก็กลับมาใส่จีวรเหมือนเดิม หรือเมื่อมีโจรขโมยจีวรไป ก็สามารถใส่ชุดอื่นไปพลางก่อนได้

           นอกจากนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทย ย่อมทราบดีว่า การลาสิกขา หรือ สึก ของ พระสงฆ์ไทยจะต้องกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะไม่กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้า ฆราวาส ซึ่งผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมา ก็ย่อมรู้ว่า ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส แต่จะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์เท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังได้เคยอ้างถึงมาตรา ๒๘ ว่า “พระภิกษุรูปใด ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน ๓ วัน นับแต่ วันที่คดีถึงที่สุด” นั้น เป็นกรณีของพระภิกษุกับคดีล้มละลาย หรือพระภิกษุถูกศาลพิพากษา ให้เป็นบุคคลล้มละลาย กล่าวคือ พระภิกษุที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถใช้เงินคืนได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่วัดสามพระยา วรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ถูกกล่าวหา จึงไม่ควรนำมากล่าวอ้างโดยมุ่งประสงค์จะเป็นการชี้นำให้สังคม เกิดความสับสน

            สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามกฎหมายที่จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้น ต้องมีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มิใช่ปล่อยให้ถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก ที่อาจมีอคติกับพระภิกษุสงฆ์บางรูปในบางพระอารามหลวงอย่างมีเลศนัย ซึ่งก็ได้ปรากฎเหตุการณ์ เช่นนี้มาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังนั้น หน่วยงานนี้จึงควรทบทวนบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน ว่า จะต้องให้เกียรติกับมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรสงฆ์สูงสุด เพราะที่ผ่านมาในยุคนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้กระทำการบางอย่างที่ส่อไปในทางที่ไม่ให้เกียรติกับมหาเถรสมาคม ทำราวกับว่ามหาเถรสมาคมเป็นเพียงองค์กรทางผ่านเพื่อแจ้งให้ทราบเท่านั้น

             จึงขอประทานกราบทูลมาเพื่อโปรดกรุณาทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มหาเถรสมาคม จะต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นประการใดโดยไม่มีการละเว้นหรือเลือกปฏิบัติอันจะเป็นการ เปิดโอกาสให้บุคคลใด ๆ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญดำเนินการกับกรรมการมหาเถรสมาคม ประการหนึ่งประการใด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่งดงามอย่างยิ่งและจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการพระพุทธศาสนาที่ไม่มีใครต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น

              ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิต  ๑๙ เมษายน ๒๕๖๔..

 

Leave a Reply