“อุทิส ศิริวรรณ” ปลื้ม!!  มหานรินทร์ ยกเป็น “ครูบาลีของพระเณร” ทั่วสังฆมณฑล เป็นอดีตนาคหลวง “เจ้าหลักการ ยอมหักไม่ยอมงอ”

วันที่ 3 มีนาคม 2568 พระมหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ. 9 อดีตแอดมินเพจ alittlebuddha เจ้าอาวาสวัดไทยลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อเล่าเรื่องวิถีชีวิตและความยกย่อง “ศ.ดร.อุทิศ ศิริวรรณ” ว่าเป็น อดีตนาคหลวง แต่งหนังสือบาลีจนเป็นที่ยอมรับให้เป็นครูบาลีของพระเณรทั่วประเทศ เป็นศิษย์ก้นกุฎิสมเด็จวัดโพธิ์ เก่งกาจมีความสามารถ เป็นผู้ปิดทองหลังพระหาคนมาอุปถัมภ์การศึกษาบาลีวัดโมลีโลกยาราม คนเถรตรง ได้เป็นได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ เจ้าหลักเจ้าการ ยอมหักไม่ยอมงอ ยอมอย่างเดียว..แม่บ้าน  ดังมีรายละเอียดดังนี้

 ดร.อุทิส ศิษย์สมเด็จวัดโพธิ์  ในแวดวงนักการศึกษาภาษาบาลียุคใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ไม่มีใครไม่รู้จัก “สามเณรอุทิศ สิริวรรณ” ซึ่งปัจจุบันท่านมียศทางวิชาการเป็นที่ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ เพราะพระเณรที่ศึกษาบาลีประโยค 1-2 และ 3 ต้องใช้หนังสือพระธรรมบทแปล ของอาจารย์ ดร.อุทิส เป็นคู่มือ ซึ่งปัจจุบันได้ผลิตประโยค 9 ไปจนนับไม่ได้ จะบอกว่า “ดร.อุทิส เป็นครูบาลีของพระเณรทั่วประเทศไทย” ก็คงว่าได้ เพราะแม้แต่ครูสอนบาลีก็ยังต้องใช้ตำราของ ดร.อุทิส เป็นคู่มือ

อาจารย์ ดร.อุทิส นั้น เป็นศิษย์หลายวัด หลายสำนัก เป็นปลาหลายน้ำ ตั้งแต่ภูธรยันนครบาล วัดบุพพาราม ถนนท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็เคยไปใช้ชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ออกผจญภัยไปทั่วประเทศ แต่ฝีมือโดดเด่นเป็นอัจฉริยะ จึงกลายเป็นดาวเด่นในเวทีอบรมบาลีส่วนกลาง ณ วัดไร่ขิง เป็นทั้งนักเรียนทุนและอาจารย์ เป็นอีกหนึ่งตำนานในยุคของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (หลวงพ่อปัญญา) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นอานิสงส์ส่งมาจนถึง “หลวงพ่อแย้ม” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงองค์ปัจจุบัน

จากนั้นจึงวนกับมาเมืองหลวง ถึงกรุงเทพก็เข้าสังกัด “วัดเลียบ-ราชบุรณะ” ซึ่งสมัยก่อนนั้นเป็นวัดรวยที่สุดในประเทศไทย เพราะมีที่ดินเยอะมาก เลยแบ่งให้การไฟฟ้านครหลวงเช่าเป็นโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จึงเป็นวัดแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้ใช้ไฟฟ้าและใช้ฟรีมาจนปัจจุบัน แถมการไฟฟ้านครหลวงก็ต้องจ่ายค่าต๋งให้วัดทุกวันเดือนปีอีกด้วย

อีกส่วนหนึ่งนั้น วัดเลียบแบ่งพื้นที่ให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เช่าเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ว่ากันว่าใครสอบเข้าสวนกุหลาบได้ก็เก่งกว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปานนั้น ศิษย์เก่าวัดเลียบจึงเทียบเท่ากับศิษย์สวนกุหลาบ เพราะต้องมีคุณภาพเกรดเอ จึงจะสามารถเข้าไปอาศัยในอารามแห่งนี้ได้

ศิษย์เก่าวัดเลียบที่สำคัญก็คือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) ซึ่งต่อมาท่านได้ย้ายมาครองวัดชนะสงคราม สร้างวัดชนะให้ชนะเลิศด้านการศึกษาภาษาบาลี เป็นสำนักเรียนบาลีอันดับหนึ่งของประเทศไทย ในยุค พ.ศ.2525-2535 ตำแหน่งสุดท้ายท่านได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นตำนานที่ยังเล่าขานกันไม่จบ

และรุ่นต่อมา ก็น่าจะใช่ ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ นี่แหละ ที่สอบได้ปริญญาถึง 3 ใบในปีเดียว แถมยังสอบได้ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณร จึงเป็นเณรนาคหลวงบวชวัดพระแก้ว ไม่แคล้วว่า ถ้าไม่ลาสิกขาไปเรียนต่อด๊อกเตอร์ที่อเมริกา ป่านนี้ก็น่าจะได้เป็นรองสมเด็จ และอนาคตก็ต้องเป็นสมเด็จ อย่างมิต้องสงสัย เพราะเพื่อนร่วมรุ่น ดร.อุทิส นั้น ปัจจุบันเป็นรองสมเด็จไปแล้ว

หลังจากจบ Ph.D. ที่อเมริกาแล้ว ก็กลับเมืองไทย ใช้วิชาการที่ศึกษามาให้เป็นทั้งประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ที่ไม่ลืมก็คือ วงการบาลี ที่ยังมีพี่พระเณรน้องเข้าแถวช่วยกันสืบสานอายุพระพุทธศาสนาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงหันหน้าเข้าวัด ตั้งกองทุนการศึกษาพระเณรวัดโมลี จนดันวัดโมลีเป็นสำนักเรียนนัมเบอร์วันของประเทศไทยได้สำเร็จ ผู้ปิดทองอยู่เบื้องหลังก็คือ ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ และทีมงาน “กลุ่มเพื่อนอุทิส”

นอกจากจะเป็นครูบาอาจาย์ เป็นนักคิดนักเขียน และนักปั้นแล้ว ดร.อุทิส ยังมีคุณสมบัติประหลาดอีกประการหนึ่ง คือ เป็นนักปรุงและนักชิม ท่านเล่าให้ฟังว่า แม่เป็นแม่ค้าข้าวแกง เลยได้วิชาอาหารไทยมาหลายเมนู แต่ถึงกระไรก็ยังชอบไป “ชิม” จนทั่วไทย และสุดท้าย โชคชาตาก็ลิขิตให้มาพบกับ “นายกสมาคมภัตตาคารแห่งประเทศไทย” คนจะดังเสียอย่าง อะไรก็ห้ามไม่อยู่ ดูหุ่นก็แล้วกัน เชลล์ชวนชิมยังต้องเรียกพี่

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ทราบว่า อาจารย์ ดร.อุทิส เป็นศิษย์ในสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดโพธิ์ท่าเตียน แบบว่าก้นกุฏิ สามารถเข้านอกออกในได้ตลอด หลวงพ่อสมเด็จท่านชอบสนทนากับนักปราชญ์ ดร.อุทิส เลยต้องรับสนองพระบัญชา..

แต่ว่ากันด้วยว่า ดูหน้าตาตี๋ๆ เหมือนอารมณ์ดี แต่ถึงเวลาการงานแล้ว ดร.อุทิส จะคิดมาก คิดการใหญ่ เป็นคนเถรตรง ได้เป็นได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ เจ้าหลักเจ้าการ ยอมหักไม่ยอมงอ ยอมอย่างเดียว..แม่บ้าน

Leave a Reply