ลูกศิษย์ถาม “พระอาจารย์ตอบ” กรณี อดีตพระภิกษุตัดหัวถวายเป็นพุทธชา

หลังจากเกิดเหตุการณ์อดีตพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้ตัดสินใจพลีชีพตนเองด้วยการตัดศีรษะถวายเป็นพุทธบูชา ได้สร้างความสลดใจและข้อกังขาให้กับชาวพุทธจำนวนไม่น้อย เรื่องนี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้ความกระจ่างเรื่องนี้ ดังนี้

ลูกศิษย์หลายคนถามความเห็นเกี่ยวกับพระที่สึกหาลาเพศแล้วตัดสินใจตัดศีรษะถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนตัวเคารพการเลือกและการตัดสินใจของท่าน ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลใดก็ตาม การพิจารณาประเด็นนี้ ควรต้องมองหลายๆ มุม ประกอบการอธิบาย

1 พระที่เป็นข่าวท่านตัดสินใจลาสิกขาก่อนฆ่าตัวตาย พระจึงไม่ได้ฆ่าตัวตาย กลายเป็นทิดที่ฆ่า แต่เพราะสถานะทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ คนจึงสนใจ

2 การฆ่าตัวตายนั้น ทิดมุ่งนำศีรษะถวายเป็นพุทธบูชา อันนี้จะมองว่าเป็นอามิสบูชาที่สัมพันธ์กับปฏิบัติบูชา  ส่วนจะเทียมหรือแท้ก็ว่ากันไป

3: ในสมัยพุทธกาล พระฉันนะ พระโคธิกะ และพระวักกลิ ตัดสินใจฆ่าตัวตายในขณะเป็นพระ ตัวแปรของการฆ่าตัวตายเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ สังขารคือร่างกายเป็นทุกข์ หลวงพ่อชาถอนฟันจนหมดปากก็เพราะทุกขเวทนาที่เกิดกับฟัน

4: ในอาบัติปาราชิก ข้อห้ามฆ่ามนุษย์ มาจากพระฆ่าพระเพราะถูกขอร้อง ก็เกิดจากความเบื่อหน่ายในรูป

5: ทิดที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ตอนบวชอยู่จิตใจฝักไฝ่และสนใจเรื่องความเชื่อที่หลากหลาย ในวัดท่านมีเทวรูปอื่นๆ อีกมาก มิได้เคารพบูชาเฉพาะพระพุทธรูป

6: บริบทการฆ่าตัวตาย หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ในสมัยพุทธกาล สัมพันธ์กับเบื่อหน่ายในสังขาร เห็นทุกข์ภัยจากสังขาร

7: การฆ่าตัวตายของทิดที่เป็นข่าว มุ่งถวายศีรษะเป็นพุทธบูชา ที่ผ่านการไตร่ตรองตั้งแต่เป็นพระ ภิกษุบนฐานความเชื่อส่วนตนว่า และสรุปเองว่าถ้าเช่นนั้นจะส่งผลเชิงบวกในอนาคต โดยประเมินกระบวนตัดสินใจจากบริบทแวดล้อมเป็นชุดอธิบาย

8: คำถามคือ เพราะเหตุใด? จึงไม่ตัดสินใจฆ่าตัวตายในขณะเป็นพระ อะไรเป็นแรงจูงใจให้ลาสิกขาแล้วจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

9: สรุปได้ในขณะที่มีข้อมูลนี้ว่า การเลือกของทิดสัมพันธ์กับความเชื่อส่วนตน ส่วนตัวอย่างพระที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายสมัยพุทธกาลสัมพันธ์กับการปฏิบัติ มองเห็นว่าสังขารเป็นทุกข์

#ทางเลือกที่ควรทำ:

#ระยะสั้น ต้องช่วยกันอธิบายข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันมิให้คนในสังคมที่ทุกข์เพราะโควิดและเศรษฐกิจ พากันคิดว่า ขนาดคนบวชพระมานานยังสึกมาฆ่าตัวตายได้ นับประสาอะไรกับเราที่กำลังทุกข์ รวมถึงสร้างความกระจ่างว่าศาสนาพุทธสนับสนุนประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร

#ระยะกลาง ทบทวนวิถีการปฏิบัติและการพัฒนาวัดต่างๆ ว่า สอดรับกับวิถีพุทธมากน้อยเพียงใด แล้วจะหามาตรการดึงเข้าสู่หลักการที่แท้จริงได้อย่างไร

#ระยะยาว กระบวนการในการให้การศึกษาและกล่อมเกลากุลบุตรที่เขามาบวช ทบทวนว่าหลักสูตรที่มีตอบโจทย์มากเพียงใด

            ขอเสนอไว้เป็นหนึ่งในความเห็นที่อาจจะขยายขอบฟ้าของการศึกษาและปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้นต่อไป..

Leave a Reply