“พระมหานรินทร์” ถาม “มส.” ปล่อยมติพิเศษออกไปได้อย่างไร !! พร้อมขอบคุณ “บรรจบ บรรณรุจิ” ทำหน้าที่แทน มหาเถรสมาคม

วันที่ 13  พฤษภาคม 2568 หลังจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต  ได้เขียนเล่าความเป็นมาของคำว่า พุทโธ เม นาโถ ธมฺโม เม นาโถ สงฺโฆ เม นาโถ ซึ่งเป็นคำที่นิยมแพร่หลายในการขับเคลื่อน “ธรรมนาวาวัง” ล่าสุด เฟชบุ๊ค PM-Narin Narinto ซึ่งเป็นเฟชส่วนตัวของ พระมหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดไทยลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา นักวิพากษ์สังคมสงฆ์ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความว่า

โอละพ่อ !  บรรจบแฉเอง “พุทโธ เม นาโถ ฯลฯ” ไม่มีในพระบาลีไตรปิฎก  แต่เป็นหนังสือชั้น “อรรถกา-ฎีกา”   เพิ่งแต่งขึ้นมาใหม่ ภายหลังพุทธกาลนานถึง 1000 ปี แถมคำแปลก็ไม่ตรงตามต้นฉบับ พระต้นแปลเสริมเอาเอง เก่งจังเลย

อา..แล้วท่านศาสตราจารย์พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ ป.ธ.9 ราชบัณฑิต ซึ่งในสาย มจร. ก็เชื่อกันว่าท่านมีความรู้ในพระไตรปิฎกดีมากคนหนึ่ง ส่วนเรื่องนิสัยส่วนตัวจะเป็นอย่างไรนั้นก็อย่าไปใส่ใจ เพราะสันดานคนเรามันเปลี่ยนกันไม่ได้ ก็ได้ทำงานอย่างสมภูมิมหาเปรียญเก้า ซึ่ง ณ วันนี้ มีคำเฉลยปัญหาว่าด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย ซึ่งทางมหาเถรสมาคม ได้ออกมติ พิเศษ 3/2568 รับรองให้ใช้บทนมัสการพระรัตนตรัยไปทั่วราชอาณาจักร โดยออกเป็นหนังสือเวียนและเป็นมติด่วนพิเศษอีกด้วย ก็เลยทำให้เกิดคำถามเซ็งแซ่ขึ้นมาว่า สำคัญและเร่งด่วนอย่างไร

โดยท่านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ได้เรียบเรียงที่ไปที่มาของบทสรรเสริญพระรัตนตรัยทั้งหลายประดามีในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา ประมวลมาแล้ว กลับไม่พบว่ามีบทนมัสการพระรัตนตรัย “พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ” ในพระไตรปิฎกเลย พบแต่ในหลักฐานชั้นหลัง เป็นหนังสือยุคอรรถกถา-ฎีกา ประมาณ พ.ศ.1000 คือหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานถึง 1000 ปีแล้ว จึงมีคนแต่งบทนี้ขึ้นมา เรียกตามภาษาสายพุทธวจนก็คือว่า เป็นคำแต่งใหม่

ใช่แต่เท่านั้น นอกจากจะเป็นคำแต่งใหม่แล้ว พระต้น (ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ) หรือ พระราชญาณวัชรชิโนภาส ซึ่งเป็นศาสดาสายธรรมนาวาวัง ยังได้แปลบท พุทโธ เม นาโถ ฯลฯ เสริมเข้าไปด้วยว่า “อันประเสริฐ” ซึ่งถือว่า “แปลเกิน ” คือเสริมเอาเอง เพราะคำว่า นาโถ นั้น แปลได้เพียง เป็นที่พึ่ง เท่านั้น ไม่มี “วโร-วรํ” อย่างใดทั้งสิ้น แล้วถามว่า พระต้นเอาภูมิปัญญาด้านบาลีที่ไหนมาแปล นาโถ ว่า เป็นที่พึ่งอันประเสริฐนี่จึงเป็นทั้งคำแต่งใหม่และคำแปลใหม่

เทียบกับการกรวดน้ำ ซึ่งพระต้นได้อ้างพระไตรปิฎกยืนยันว่า การกรวดน้ำไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นประเพณีโบราณที่ไม่มีในพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏว่า นักปราชญ์หลายท่านได้ออกมายืนยันว่า การกรวดน้ำมีในพระไตรปิฎก ยกศัพท์มาอ้างอิงว่า คือ ทักษิโณทก แปลว่า หลั่งน้ำ หรือกรวดน้ำ อันเป็นที่มาของประเพณีกรวดน้ำรับพรของชาวพุทธไทยมาแต่สมัยโบราณ

นั่นชัดเจนว่า พระต้น พยายามอ้างอิงหลักฐานพระไตรปิฎก นำมาลบล้างประเพณีไทย ด้อยค่าคณะสงฆ์ไทยว่าไม่มีความรู้ตรงตามพระไตรปิฎก ตนเองรู้มากกว่า แต่พอนำมาเทียบกันแล้ว กลับปรากฏว่า พระต้นเสียเองที่ไม่มีความรู้ในพระไตรปิฎกเลย อ้างอิงเอามั่ว ๆ ยิ่งบท “พุทโธ เม นาโถ ฯลฯ” ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะแม้แต่ ศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระต้นและโครงการธรรมนาวาวัง ก็ยังออกมายืนยันว่า ไม่มีในพระไตรปิฎก และคำว่า “อันประเสริฐ” นั้น ก็พระต้นแปลเสริมเอาเอง เก่งกว่าเปรียญ 9

สรุปง่ายๆ ว่า
– ที่มีในพระไตรปิฎก พระต้นบอก ไม่มี
– ที่ไม่มีในพระไตรปิฎก พระต้นเอามาใช้แทนพระไตรปิฎก

แบบนี้เขาไม่เรียกว่าพระ หากแต่เรียกเป็น “เดียรถีย์”  ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระต้นจะใช้อย่างไร แต่มันบานปลายไปถึงว่า พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงมีพระราชศรัทธาในพระต้น ถึงกับทรงพระราชทานอุปถัมภ์โครงการธรรมนาวาวังอย่างออกหน้า ทั้งการพิมพ์หนังสือชุดธรรมนาวาวังเผยแพร่ไปทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมธรรมนาวาวังอย่างต่อเนื่อง การนิมนต์พระต้นให้เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังถึง 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดก็คือ พระราชพิธีวิสาขบูชา ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ
และที่สำคัญก็คือ การที่ทรงมีพระราชปรารภเรื่อง คำบูชาสำหรับระลึกคุณพระรัตนตรัย เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาโลก 11 พฤษภาคม พ.ศ.2568 ซึ่งทรงกราบทูลไปยังสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระสังฆราชก็โปรดอนุญาตให้นำเรียนกรรมการมหาเถรสมาคม “เป็นวาระพิเศษ-เร่งด่วน” จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์ไปต่างๆ นานา

คำถามจึงมีว่า เหตุใด มหาเถรสมาคม ซึ่งมีพระสงฆ์คงแก่เรียนอยู่มากมาย จึงไม่ทำการตรวจสอบที่ไปที่มาของบทว่า “พุทโธ เม นาโถ ฯลฯ” ว่าต้องตามหลักฐานในพระไตรปิฎกหรือไม่ ก่อนจะยอมรับให้เป็นบทท่องของพระภิกษุสามเณรไปทั่วประเทศ รวมทั้งคำแปล ซึ่งไม่ตรงตามคำศัพท์ “พุทโธ เม นาโถ ฯลฯ” อีกด้วย

กลับปล่อยไก่ ปล่อยให้มติพิเศษนี้ออกไปอย่างชุ่ย ๆ ประจานการทำงานของมหาเถรสมาคมเองว่า ไร้ความรู้ความสามารถ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการพระศาสนา
ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ พระต้นเอง ก็เคยถูกมหาเถรสมาคมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ว่าด้วยคำสอนมากมายหลายประเด็น โดยเฉพาะก็คือ การอ้างอิงและตีความผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก และระบุว่า พระไตรปิฎกบกพร่องถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องอันตรายมาก หากแก้ไขไม่ทัน พระไตรปิฎกจะถูกฉีกทิ้งตามอำเภอใจเลย

แต่ครั้งนี้ มหาเถรสมาคมเสียเอง ที่ไม่ยอมตรวจสอบ ปล่อยผ่านไปอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
มีบางท่านบางคนที่เห็นมติมหาเถรสมาคมฉบับนี้แล้ว ถึงกับทำการอุกอาจ “ขีดฆ่า” ทำนองว่า เป็นมติอัปยศ

วันนี้ ต้องขอขอบคุณท่านศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ที่ทำหน้าที่เป็นมหาเถรสมาคม ทำการตรวจสอบมตินี้ย้อนหลัง ถึงจะไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ถือว่าท่านได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม
มีผู้ที่อยู่ในข่ายของปัญหาว่าด้วยมติมหาเถรสมาคม ที่ พิเศษ 3/2568 นี้ ถึง 3 แห่งด้วยกัน คือ

1. พระราชญาณวัชรชิโนภาส (ทวีวัฒน์ จารุวณโณ) สถานธรรมศึกษาป่านาโสกฮัง จังหวัดอำนาจเจริญ
2. สำนักพระราชวัง
3. มหาเถรสมาคม

ว่ามีเหตุผลกลใด ถึงได้นำเอาบทที่ไม่มีในพระไตรปิฎกมาใช้แทนบทที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งคณะสงฆ์ไทยใช้อย่างถูกต้องมานาน การเช่นนี้มิเป็นการสร้างสัทธรรมปฏิรูป เป็นการบ่อนทำลายพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก ดอกหรือ หรือว่าเราจะไม่เอาพระไตรปิฎกและพระบาลีกันแล้ว ก็ควรจะแจ้งให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ทราบชัด เผื่อจะได้ทำใจว่า ต่อไปเราไม่เอาพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฎกอีกแล้ว แต่เราจะมีศาสนาใหม่ในนาม ศาสนาธรรมนาวาวัง เอาพระต้นว่า พระต้นว่าอย่างไร ก็ว่ากันตามนั้น เอากันอย่างนั้นหรือ ?

Leave a Reply