เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai ของพระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร(ดูใจ)) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความว่า
“‘พุทธศิลปกรรม’: พุทธศิลปะวิจัยและวิจัยพุทธศิลปะ”
@ อนุมัติแล้ว !!! อนุมัติแล้ว !!! อนุมัติแล้ว !!!
@ นับเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 วันพฤหัสบดี ที่ 29 กรกฎาคม 2564 มีมติอนุมัติ “หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม หลักสูตรใหม่ 2564” และ “หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม หลักสูตรใหม่ 2564” และอนุมัติโครงการเปิดสอนทั้งสองหลักสูตร ณ บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
@ ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรได้รับความชื่นชมจาก UNESCO ว่าเป็นรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่เรียกว่า “การอนุรักษ์เชิงป้องกัน – Preventive Preservation) มากว่า 10 ปี และได้รับเมตตาจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค คณาจารย์ เจ้าหน้าที่บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฯ เริ่มจากการยกร่างหลักสูตรฯ และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ กระทั่งได้ปรัชญา ความสำคัญ วัตถุประสงค์ โครงสร้างหลักสูตร รายวิชา คำอธิบายรายวิชา ตลอดถึงรายละเอียดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Program Learning Outcomes – PLOs) เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education – TQF:HEd) และ ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcome of Education – DOE)
@ บัดนี้ สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติแล้ว !!! ทั้งหลักสูตรและโครงการเปิดสอน ในปีการศึกษา 2564 นี้ !!!
@ ผู้ใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอุปการคุณ ที่เมตตาให้หลักสตรพุทธศิลปกรรมได้รับการอนุมัติ ที่ขออนุญาตกล่าวนามได้แก่ พระพรหมบัณฑิต อุปนายกสภามหาวิทยาลัย พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี พระเทพปวรเมธี เลขานุการสภามหาวิทยาลัย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คุณมณฑิรา หรยางกูร อูนากูล องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ (UNESCO Bangkok) และอีกหลาย ๆ ท่าน
@ ข้อเสนอแนะของพระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต เรื่องการทำความร่วมมือกับยูเนสโก (UNESCO) ในการทำให้เป็นต้นแบบหลักสูตรพุทธศิลปกรรม ซึ่งประเทศพุทธจะได้นำไปพัฒนา เพื่อการอนุรักษ์มรดกพุทธศิลปกรรม และสร้างสรรค์งานพุทธศิลปกรรมอันทรงคุณค่าเพิ่มมูลค่าสู่สากล เป็นข้อเสนอแนะที่ทรงคุณค่ายิ่ง
@ พร้อมแล้ว ครับ !!! เราจะร่วมมือกันดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่สามารถช่วยชี้นำการอนุรักษ์ ประยุกต์และสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ในสังคมไทย ก้าวไกลถึงสังคมโลก
@ คงมีหลายท่านที่อาจมีความกังวลใจ ในการที่จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตรทั้งสองระดับ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความถนัดในการพัฒนางานพุทธศิลปกรรม จะสามารถเรียนสาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ได้หรือไม่ ???
@ ทั้งหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม [แผน ก แบบ ก (1) แผน ก แบบ ก (2)] และหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม [แบบ 1.1 และ แบบ 1.2] ได้วางโปรแกรมการศึกษาค้นความให้เหมาะสมกับสองกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) “กลุ่มศิลปิน” ผู้ผ่านการศึกษาสายศิลปะมาโดยตรง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสาย “รูป” และ 2) “กลุ่มนักคิดนักเขียน นักวิจารณ์” ผู้มีอุปนิสัยช่างสังเกตและมองศิลปะผ่านมุมมองทางแนวคิดทฤษฎี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสาย “นาม”
@ นั่นหมายความว่า “กลุ่มศิลปิน” สามารถทำการศึกษาค้นคว้า หรือทำวิจัยรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง ที่เรียกว่า “ศิลปะวิจัย” ในหลักสูตรนี้คงต้องเติมให้เป็น “พุทธศิลปะวิจัย” ในขณะที่ “กลุ่มนักคิดนักเขียน นักวิจารณ์” ก็สามารถทำการศึกษาค้นคว้า หรือทำวิจัยรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองได้เช่นกัน ที่เรียกว่า “วิจัยศิลปะ” ในหลักสูตรนี้คงต้องเติมให้เป็น “วิจัยพุทธศิลปะ”
@ ผลงานการศึกษาค้นคว้าหรืองานวิทยานิพนธ์ของ “กลุ่มศิลปิน” ซึ่งทำ “พุทธศิลปะวิจัย” ก็จะออกมาเป็น “ชิ้นงานพุทธศิลปกรรม + รายงานเอกสาร ?” ในขณะที่ผลงานการศึกษาค้นคว้าหรืองานวิทยานิพนธ์ของ “กลุ่มนักคิดนักเขียน นักวิจารณ์” ซึ่งทำ “วิจัยพุทธศิลปะ” ก็จะออกมาเป็น “รายงานเอกสาร + ชิ้นงานพุทธศิลปกรรม ?”
@ ฝากข่าวนี้ เพื่อทราบ และร่วมแสดงความยินดีและอนุโมทนาในเมตตาของสภามหาวิทยาลัย ที่อนุมัติหลักสูตรและโครงการเปิดหลักสูตร
@ ท่านที่สนใจ ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
Leave a Reply