“พระนักวิชาการ”ชื่อดัง ติง”กรรมการสิทธิ” วินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัย ควรปรึกษา “มหาเถรสมาคม” ก่อน

วันที่ 28 กันยายน 2566 หลังจากเว็ปไซต์ข่าว  “Thebuddh” ได้นำบทสัมภาษณ์ของ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​  ที่อ้างว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังวัดปากบ่อ  (ผู้ถูกร้อง)  เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเวียนไปยังวัดที่อยู่ในสังกัดทุกวัดไม่ให้บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท เพื่อมิให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัดที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธ

ศาสตราจารย์ ดร.พระเมธีวัชรบัณฑิต (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) เจ้าอาวาสวัดใหม่ (ยายแป้น) กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า

เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก เมื่อพรมแดนศาสนาประเด็นอันตรายิกธรรมกำลังถูกท้าทายด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวในฐานะที่เพิ่งจบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนมา และเป็นศิษย์ของ กก.สิทธิฯ หลายท่านที่เป็นวิทยากรในหลักสูตร ขอตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นนี้มิใช่ประเด็นที่วัดปากบ่อ ในฐานะผู้ปฏิบัติกำลังถูกตั้งข้อสังเกตเท่านั้น แต่อาจจะสัมพันธ์กับการปฏิบัติทั่วไปของพระอุปัชฌาย์ด้วย

ด้วยเหตุนี้ กก.สิทธิฯ ควรจะนำประเด็นเชิงลึกหรือข้อร้องเรียนไปปรึกษาหากับองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ (มหาเถรสมาคม) ที่มีหน้าที่วินิจฉัย ตามมาตรา 15 ตรี (4) ที่ให้มหาเถรสมาคมมีหน้าที่รักษาพระธรรมวินัย โดยอาจจะแต่งตั้ง กก.สองฝ่ายมาพูดคุยนอกรอบ เพื่อจะได้ทราบเหตุผลและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย และหาทางออกร่วมกันว่า ได้หรือไม่ได้ตามนัยแห่งพระวินัยอย่างไร

การออกมาประกาศแนวทางของ กก. สิทธิฯ เช่นนี้ โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่สัมพันธ์กับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนมองว่า ในประเด็นที่สัมพันธ์กับพระธรรมวินัยควรจะมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง แม้พระสงฆ์จะอยู่ภายใต้กฏกมายรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมือง แต่ท่านก็มีพระธรรมวินัยเป็นตัวสะท้อนสังคมสงฆ์เอาไว้อีกโสตหนึ่ง

จึงอยากจะเรียกร้อง กก.สิทธิฯ ให้ระมัดระวังท่าทีที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอาจจะพาดพิงไปถึงคุณสมบัติของผู้บวชข้ออื่น ๆ รวมถึงประเด็นสตรีกับการ “บวชภิกษุณี” ที่นักสิทธิมนุษยชนบางท่านพูดในห้องเรียนว่า การห้ามบวชภิกษุณีถือเป็นการผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญเพราะเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ

พระสงฆ์เองก็ควรจะต้องหันมาสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น เพราะจะได้เข้าใจเจตนารมณ์ และที่มาของสิทธิมนุษยชนที่กำลังท้าทาย มิใช่แต่คณะสงฆ์ แต่ยังท้าทายกลุ่มอื่นด้วย เช่น พรบ.อุ้มหาย รวมถึง พรบ.ที่กำลังเสนอคณะรัฐมนตรี คือ พรบ.คู่ชีวิต ชายแต่งชาย หญิงแต่หญิง จนทำให้นักคิดบางศาสนารับไม่ได้กับ พรบ.นี้

ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ดี เพราะปกป้องมิให้มีการทำร้ายหรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถึงกระนั้น เมื่อประเด็นนี้ก้าวล่วงมาตั้งคำถามต่อแนวปฏิบัติของพื้นที่ศาสนา ก็นับเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่งว่า คนในสังคมจะมีพื้นที่พูดคุย และหาทางออกในประเด็นต่าง ๆ อย่างไร จึงจะทำให้องคาพยพต่างๆ ของสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข..

Leave a Reply