คณะสงฆ์และชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า ในสถาบันสงฆ์ไทยนั่น นอกจากมีคณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแล้ว ยังมี “รามัญธรรมยุต” แฝงตัวอยู่ในคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายอยู่ด้วย รามัญธรรมยุตกระจัดกระจายอยู่แถวพระประแดง จ.สมุทรปราการ สามโคก จ.ปทุมธานี และ บางขันหมาก จ. ลพบุรี ตามปกติ “วัดรามัญธรรมยุต” ประชุมร่วมกันทุกปี มีอยู่ประมาณ 31 วัด แต่ก่อนหลัง ๆ เป็นที่น่าเสียดาย เริ่มจางหายสลายไปเกือบหมดแล้ว
ความเป็นมาของ “รามัญธรรมยุต” เดิมก็คือ “รามัญนิกาย” นั่นเอง ภายหลังมีการยุบเลิก “รามัญนิกาย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส คือ
“เห็นว่าการเล่าเรียนของภิกษุสามเณรรามัญเสื่อมลง…การที่อนุญาตให้แปลในภาษารามัญนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเจริญความรู้แห่งพวกรามัญเลย ฝ่ายเราก็จัดการบำรุงไม่ถนัด ฝ่ายเขาก็ไม่สามารถพอจะบำรุงความรู้ของพวกตนเอง แลเป็นเหตุไม่ให้พวกรามัญเอาใจใส่ภาษาสำหรับบ้านเมือง”
การประกาศยุบเลิกรามัญนิกายเมื่อปี พ.ศ. 2455 วัดมอญหรือวัดรามัญจำนวนหนึ่งเข้าสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย บ้างเข้าสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีคณะสงฆ์จำนวนไม่น้อยนิ่งเฉย “ดื้อเงียบ” ไม่สังกัด ทั้งกับทั้งฝ่ายมหานิกายและคณะธรรมยุต ยังคงวัตรปฎิบัติตามแบบแผน “รามัญนิกาย” ไว้อย่างเคร่งครัดเรียกตนเองว่า “รามัญธรรมยุต”
“เปรียญสิบ” เดินทางไปร่วมทอดกฐินกับ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ณ วัดกลาง ต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี ที่นี่เป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ ชาวบ้านผู้สูงอายุยังส่งเสียงพูดคุยกันด้วยภาษามอญ แต่การแต่งกายอาจจะกลายพันธุ์ไปบ้างแล้ว คงมีแต่เราคนเดียวที่แต่งกายชุดมอญเข้าไปยังอุโบสถที่สร้างขึ้นโดยการอุปถัมภ์ของวัดราชบพิตรสถิตสีมาราม จากการบอกเล่าของ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” พอทราบว่า วัดราชบพิตร มีความสนิทชิดเชื้อและช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับคณะสงฆ์รามัญธรรมยุตมาต่อเนื่องโดยผ่าน “เจ้าคุณโนรี” หรือ พระเทพกิตติเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ชาวมอญนับถือกันทั้งประเทศ จากอานิสงค์ตรงนี้เจ้าอาวาสวัดกลางรูปปัจจุบัน ที่เป็นศิษย์เก่าจากวัดอาษา ฯ จึงได้รับการสนับสนุนด้วย เท่าที่ฟังไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาวาสวัดพระจามเทวี ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ฝ่ายธรรมยุต ก็มาจากวัดอาษา อันนี้ไม่นับ “เจ้าคุณอาชว์” พระราชสารสุธี เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ก็มาจากสำนักเรียนเดียวกัน และทั้งหมดล้วนมีถิ่นกำเนิดจากชุมชนมอญบางขันหมากแห่งนี้ หรือแม้กระทั้ง พระมหาสุชาติ สิริปญฺโญ วัดหลวงพ่ออุตตมะ กาญจนบุรีก็เป็นศิษย์เก่าวัดอาษาสงครามเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามหาสุชาติสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ไปเรียนอยู่กับ วัดธรรมยุต ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะไปฝากฝังเจ้าคุณโนรีไว้ จนสอบได้ประโยค 9 หลังจากหลวงพ่ออุตตมะมรณภาพ ภายใต้การสนับสนุนจากพระเทพกิตติเมธีหรือเจ้าคุณโนรี จึงกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดวังวังก์วิเวการาม อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี
ปัจจุบันพระมหาเถระสายรามัญที่ไปมาหาสู่และสร้างความสัมพันธ์แบบพระมหาเถระในอดีตมีน้อยแล้ว เนื่องจากไม่มี “แกนนำ” และ “ผู้มีบารมี” มากพอที่จะรวมกลุ่ม ยิ่งต่างนิกายไม่ต้องพูดถึงแม้จะเป็นรามัญหรือมอญด้วยกันเองเมินเฉยต่อกันไม่เหมือนพระเถระรามัญในอดีตที่ไปมาหาสู่กันเสมอ ๆ ทั้งก่อนเข้าพรรษาและออกพรรษา หรือมักพบปะกันตามกิจกรรมวัดต่าง ๆ ความสัมพันธ์จึงเหนียวแน่น
ตอนรับของที่ระลึกจาก “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ท่านคงสงสัยว่า “เปรียญสิบ” เป็นมอญบ้านไหน เพราะในงานแต่งกายแบบมอญครึ่งไทยครึ่งอยู่คนเดียว จึงถามเป็นภาษามอญว่า “เป็นมอญมาจากบ้านไหน” เจ้าคุณอาชว์ ที่พอรู้จักกันอยู่บ้าง นั่งอยู่ข้าง ๆ ท่าน จึงตอบแทนเป็นภาษามอญให้สมเด็จทราบ นี่เป็นครั้งที่สองที่ “เปรียญสิบ” ได้ยินการพูดภาษามอญของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ หลังจากได้ยินครั้งแรกที่วัดปรกยานนาวาเมื่อหลายปีก่อน ส่วนสมเด็จพระสังฆราช แม้พระองค์มิใช่มอญ แต่เติบโตในสังคมมอญพระองค์ก็พูดมอญได้เช่นกัน
หลังจากทอดกฐินเรียบร้อยตามปลัดกระทรวงมหาดไทยไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์มอญบางขันหมาก” ณ วัดอัมพวัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดกลาง ท่านเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน “พระครูอมรสมณคุณ” รวมทั้ง “พระปัญญาวุฒิ วุฑฺฒิโก” ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องมอญ และท่านเป็นศิษย์เก่าจากสำนักเรียนวัดอาษา ฯ ของเจ้าคุณโนรี เฉกเช่นเดียวกัน ที่กลับมาบ้านเกิด ปลูกให้ท้องถิ่นรื้อฟื้น ฟื้นฟู อนุรักษ์ รักษา สืบทอดศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนมอญจนกลายเป็นแบบอย่าง“ต้นแบบ” ให้สังคมมอญอื่น ๆ ตื่นตัวนำไปเป็นโมเดลทั่วประเทศ ท่านได้พาปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะพาเดินชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์มอญบางขันหมาก โดยมีเจ้าคณะจังหวัดลพบุรีทั้ง 2 นิกายซึ่งมักคุ้นกับท่านอยู่ก่อนแล้ว ประกบเดินอยู่ข้าง ๆ
ก่อนกลับ “พี่เก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มากระซิบบอกว่า “พี่ถวายซองปัจจัยให้หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านเคร่ง ไม่รับซองเลย”
หลวงพ่อ พระครูอมรสมณคุณ รักษาแบบอย่างของ “รามัญธรรมยุต” ไว้อย่างเคร่งครัดจริง ๆ
Leave a Reply