ไทย-ศรีลังกา หารือชื่นมื่น มติร่วม “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ-ฟรีวีซ่า”

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโคลัมโบ ซึ่งช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) ณ สำนักประธานาธิบดี สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นในเวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรีพบหารือแบบ Four Eyes กับนายรานิล วิกรมสิงเห (H.E. Mr. Ranil Wickremesinghe) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ณ ห้องทำงานของประธานาธิบดี (President’s Chamber) ชั้น 2 และในเวลา 15.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ ร่วมกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และคณะทางการไทยและศรีลังกา ณ ห้องหารือทวิภาคี (Cabinet Room) ชั้น 1 โดยสรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังกาต่างชื่นชมในความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับศรีลังกาที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ และเห็นพ้องยกระดับความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกมิติ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสการประกาศเอกราชสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ครั้งที่ 76 และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวในฐานแขกเกียรติยศ

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้

 ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีที่เศรษฐกิจของศรีลังกามีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและแสดงถึงความเชื่อมั่นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของศรีลังกา โดยนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ไทยและศรีลังกาสามารถบรรลุความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (Thailand – Sri Lanka Free Trade Agreement) เชื่อมั่นว่า ความตกลงดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงตลาดในระดับภูมิภาคของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ การจัดงาน Sri Lanka – Thailand Business Forum ในวันนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกรุงเทพฯ และโคลัมโบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 และยินดีต่อการลงนามในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยง การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และการยกเว้นวีซ่า รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนา ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยในฐานะประธานบิมสเทค (พ.ศ. 2566 – 2567) พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งไทยต้องการผลักดันบิมสเทคให้เป็นองค์กรระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ โดยการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลในระดับภูมิภาค สร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสนับสนุนโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ จากเขตการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา ซึ่งจะช่วยผลักดันการบรรลุความตกลงการค้าเสรีบิมสเทค สร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

 นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับศรีลังกาในโอกาสการเป็นประธานสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) โดยไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนศรีลังกาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยินดีให้มีบันทึกความเข้าใจระหว่าง IORA และบิมสเทค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งรวมถึงในด้านการค้าการลงทุน ความมั่นคง การเชื่อมโยงทางทะเล และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

และในโอกาสนี้ฝ่ายศรีลังกาได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ไทยพิจารณาให้ความช่วยหลือด้านการประมงสมัยใหม่ และการพัฒนาด้านพลังงานสะอาด

Leave a Reply