เหลียวหลังแลหน้า “มจร” จาก “มหาวิทยาลัยเถื่อน” สู่ “มหาวิทยาลัยระดับโลก”

บทความนี้เขียนเอาไว้ เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “มจร” มีอายุครบรอบ 134 ปีที่แล้ว  วันนี้มายำใหม่เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระดับโลกแห่งนี้จะมีงานใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งคืองาน ประสาทปริญญาประจำปีพุทธศักราช 2565 ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคมนี้ สำหรับรายละเอียดของงานโดยคร่าว ๆ  วันที่ 8 ภาคเช้ามีการปาฐกถาพิเศษจาก พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของ มจร ว่าวันแรกของการเข้าสู่กำหนดการรับปริญญา องค์อธิการบดีต้องปาฐกถาพิเศษ เปรียบเสมือนการแสดงวิสัยทัศน์ของท่านให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และบัณฑิตได้รับทราบ พร้อมกับกล่าวต้อนรับแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ ซึ่งปีนี้กำหนดหัวข้อไว้ว่า “พุทธนวัตกรรมในยุค Disruption” ช่วงบ่ายในวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม มีพิธีซ้อมใหญ่ ส่วนวันที่ 10 และ 11 ธันวาคม เป็นวันรับปริญญาจริง  ซึ่งปีนี้ “สมเด็จพระสังฆราช” เสด็จมามอบให้เฉพาะวันแรก

ความจริงเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเรา เดิมมีคนที่ไม่ชอบมักบอกว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเถื่อน” เพราะเราไม่มีพระราชบัญญัติรองรับ ทั้งหลักสูตรบางหลักสูตรจบออกไปหน่วยงานรัฐไทยที่รับรองหลักสูตรก็ไม่รับรอง อันนี้รวมถึงคณาจารย์ของเราที่จบมาจากประเทศอินเดีย ศรีลังกาด้วย

วันนี้เดินทางไปดูบรรยากาศการเตรียมงานประสาทปริญญาปีนี้ดูแล้วคึกคักว่า 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีซุ้มวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ซุ้มคณะแต่ละคณะเริ่มจับจองพื้นที่เตรียมการแล้ว รวมทั้งบรรดาพระนิสิตกลุ่มนานาชาติด้วยเช่นกัน สำหรับร้านค้าเริ่มจับจองพื้นที่แล้ว

ได้มีโอกาสพูดคุยกับคณาจารย์ที่รู้จัก 2 -3 รูป บอกว่า อยากให้เขียนเป็นเรื่องเล่า มจร ในอดีตกับปัจจุบันเป็นอย่างไร อยากให้คณาจารย์ได้อ่านเพื่อรำลึกถึงความหลังในยามที่ มจร ของพวกเรายังไม่มีแบบทุกวันนี้ และรวมทั้งอยากให้นิสิตรุ่นหลังได้จดจำ ได้รู้สิ่งที่รุ่นพี่ทนลำบากเรียนแบบไม่รู้ “อนาคต” ด้วยซ้ำไปว่า จบไปแล้วไปทำอะไร นอกจากได้ “ความรู้” ประดับตัวแล้วและรักษาพระพุทธศาสนา หรือจะไปประกอบ “อาชีพ” อะไรได้บ้างนอกจาก “อุรํ ทตฺวา” ก็รับปากท่านว่าหากมีเวลาจะเขียนให้เพื่อเป็น “ธรรมทาน”

หลังจากพูดคุยเสร็จตั้งใจว่าจะไปหา “เจ้าคุณโชว์” พระสุธีวีรบัณฑิต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม อยากสอบถามว่าปีนี้ มูลนิธิร่วมกตัญญู,แม่ชีทศพรและจากมูลนิธิ จะมาถวายภัตตาหาร บริการข้าวเหมือนทุกปีหรือไม่ แต่ทราบว่าช่วงบ่ายท่านมีภารกิจภายนอกเลยไม่ได้พบกับท่าน แต่คิดว่าทั้ง 3 หน่วยงานที่ระบุไว้ข้างต้นคงมาบริการเหมือนเดิม เพราะเห็นตั้งเต็นท์กันแล้ว

กำลังเดิน ๆ อยู่เจอ “รศ.อนุภูมิ โซวเกษม” ในวัย 68  กำลังเดินอยู่ เข้าไปไหว้ทักทาย ท่านบอกว่า มารับเสื้อและเครื่องหมายงานจราจร เพราะงานประสาทปริญญาปีนี้เหมือนทุกปีคือได้รับมอบหมายให้ดูแลงานจราจร แซวท่านกลับว่า อายุมากแล้วทำไหวหรือครับอาจารย์ ท่านบอกว่าไหว พร้อมกับชวนไปที่คณะสังคมศาสตร์  ท่านบอกว่า

ตอนนี้แม้จะอายุ 68 แล้ว แต่ ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปก็ยังเมตตาให้ช่วยงาน จึงถามต่อว่าแล้วอาจารย์เริ่มมาทำงานที่ มจร เมื่อไร ท่านจึงเล่าต่อว่า หลังจากจบมาจากประเทศอินเดียแล้ว  ก็สึกออกมา “เจ้าคุณชนะ” หรือ พระศรีธวัชเมธี ชวนไปอยู่ประเทศออสเตรเลียอยู่ประมาณ 5 ปี แล้วจึงกลับมาเป็น “นักข่าว” ที่ช่อง 7 รับผิดชอบแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอยู่ 3  ปี ประมาณปี 2538  “เจ้าคุณสำรวม” อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร ชักชวนให้มาทำงานที่ มจร จึงเริ่มทำงานที่ มจร  ซึ่ง “ผู้เขียน” ก็ตอบไปว่า “เจ้าคุณสำรวม” เคยชวนให้ทำงานที่ มจร เหมือนกัน แต่ “ปฎิเสธ” เพราะไม่ชอบระบบราชการ นอกจากนั้นก็ถามถึงลูกศิษย์รุ่นเดียวกันอีกหลายคนเท่าที่ท่านจำได้

ก่อนจากกัน รศ.อนุภูมิ โซวเกษม มอบ “พระขุนแผน” ให้มา  1 องค์ ซึ่งเราในฐานะศิษย์รู้สึกละอายใจที่ไม่มีอะไรฝากท่าน แต่ทุกครั้งที่เจอมักมีของติดไม้ติดมือจากท่านเสมอ ทำให้นึกถึงว่า อาจารย์เก่า ๆ ยุคก่อนนี้เป็นอาจารย์เป็นครูจริง ๆ ไม่ได้สอนหนังสือเพียงเพราะ “เงินเดือน” เท่านั้น แต่มีการสอบถามถึงการเป็นอยู่ของลูกศิษย์ทุกคนเท่าที่จะจำได้

การรับปริญญาปีนี้ “มจร” อยู่ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงระดับผู้บริหารตั้งแต่รองอธิการบดีจนถึงคณบดี แต่งานก็ยังคงเดินไปตามระบบดูแล “ไม่ขาดตกบกพร่อง” เพียงแต่ว่า คนใหม่มา คนเก่าต้องคอยประคับประคองชี้แนะเท่านั้น

เดินไปสำรวจซุ้มของพระนิสิตนานาชาติ ที่กำลังเร่งทำกันอยู่อย่างขะมักเขม้น  ปีนี้กลุ่มชาติพันธุ์ดูแล้วน่าจะมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น “สีสัน” ให้ มจร. เป็นอย่างมาก บางชาติพันธุ์มีร้องรำทำเพลงสนุกสนาน ซุ้มต่าง ๆ  สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ตนเองดูแล้วสวยงาม มจร กลายเป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม” อย่างแท้จริง เพราะมีนิสิตนานาชาติถึง 1,300 ท่าน มาจาก 28 ประเทศ ในประเทศไทยไม่มีใครสู้ มจร ได้เรื่องนานาชาติมาเรียน

เดินจนเหนื่อยนั่งพักมอง ตึก มวก.ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประสาทปริญญาที่ตอนนี้จัดสถานที่พร้อมแล้วทั้งภายใน ภายนอก ระบบการถ่ายสดสด ระบบไฟพร้อมแล้ว

ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร  รุ่น 46 คณะสังคมศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ ภูมิใจทุกครั้งที่ได้จบจากการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

“มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในอดีตเคยถูกกีดกันสารพัด จากคนบางกลุ่ม จากผู้มีอำนาจบางคน จากพระผู้ใหญ่บางรูป ผ่านร้อนผ่านหนาวมาท่ามกลางพายุ “การเมือง” ท่ามกลางอารมณ์ “อิจฉาริษยา”

ด้วยความมุ่งมั่นและการเสียสละอุทิศตนเองอย่างแน่วแน่ของผู้บริหาร คณาจารย์ในอดีต  ปัจจุบันกลับกลายพัฒนาไปจนไม่มีใครคิดว่า มหาจุฬา ฯ มาได้ขนาดนี้ พระสงฆ์ไทยที่มีคนชอบดูถูกดูแคลนว่า ไม่ทันสังคม หัวไม่ทันสมัย มองไม่พ้นกำแพงวัด แต่วันนี้ มหาจุฬา ฯ ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง บนศาสนจักรกว่า  300 ไร่  ณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

จนใคร ๆ  ก็อยากมาขอร่วมทำงานด้วย มาร่วมเป็นเครือข่ายด้วย หรือแม้กระทั้งมีบางช่วงบางเวลา มีข่าวลือว่ามีสถาบันการศึกษาบางแห่ง “อยากควบรวม อยากมาร่วมบริหาร” ด้วย

หรือบางเวลาก็มีข่าวลือว่าหลังจากคณะสงฆ์ไทยมี พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 แล้ว อนาคตอาจจะมีการ “ก่อตั้ง” มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งใหม่ เน้นเรียนบาลี รับเฉพาะพระภิกษุ -สามเณร ศึกษาพระไตรปิฎกล้วน ๆ ก็มี

แต่ใครจะคาดคิดว่า มจร ที่เคยถูกมองว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเถื่อน” เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกกีดกันจากพระผู้ใหญ่บางรูป เป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลไม่รับรองวุฒิการศึกษา และเป็นอดีตมหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนไม่มีเงินเดือน ไม่มีใครอยากเข้ามาทำงาน เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าประจำตำแหน่ง ไม่มีห้องสมุดที่ติดแอร์ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆแล้ว ไม่มีอะไรเลยที่ถูกมองว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” นอกจากความอดทน ความตั้งใจ และความเสียสละของบุรพาจารย์ยุคก่อน ๆ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กลายเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  67 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 63,484 รูป/คน ปริญญาโท 10,154 รูป/คนและปริญญาเอก 2,537 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 76,175 รูป /คน

เปิดการเรียนการสอนไปแล้วทั่วประเทศและทั่วโลก โดยในต่างประเทศมีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน

ส่วนในประเทศไทยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ 20,000 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลิตบุคลากรไม่เฉพาะเพื่อสนองงานคณะสงฆ์เท่านั้น ศิษย์เก่าจากสถาบันแห่งนี้กระจัดกระจายในทุกสาขาอาชีพ

เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างโอกาสทางการศึกษา ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสก้าวสู่มหาวิทยาลัยทั่วไป รวมทั้งลูกที่ถูกทอดทิ้ง กำพร้า อนาถา ชาวเขา ก็สามารถเข้ามาศึกษาสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งนี้ได้

เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศไทยแห่งเดียวที่แก้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล  เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าจะค่าเทอมถูกที่สุด ซ้ำมีอาหารเลี้ยงอีกต่างหาก ยุคนี้ใคร ๆก็อยากมาสอนหนังสือ นานาชาติก็อยากมาเยือน

สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ หากจำไม่ผิดจ่ายค่าเทอมเพียงเทอมละประมาณ 1,700 บาท พวกเราไม่มีโอกาสนั่งรถเมล์เหมือนคนทั่วไป เพราะธรรมชาติรถเมล์เวลาเจอพระไม่ค่อยรับและยิ่งรถเมล์ที่มีแอร์ยิ่งไม่อยากรับ พระนิสิตรุ่นผู้เขียนสมัยนั้นต้องนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่ารถไฟข้าง ๆ โรงพยาบาลศิริราช มีรถเมล์เก่า ๆ สีเหลืองอยู่ 2 คัน จะมาค่อยรับส่งพระนิสิตที่ท่าเรือแห่งนี้ ไปเรียน ณ  “ศูนย์วัดศรีสุดาราม”  เมื่อถึงเวลาค่ำ ๆ ก็นั่งรถกระเป๊าะคันเล็ก ๆ กลับมายังท่าเรือแห่งนี้และอาศัย “เรือด่วนเจ้าพระยาฟรี” เพื่อกลับวัด

ยุคสมัยนั้น “หลักสูตรรัฐศาสตร์” ของ มจร ยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาล มักมีรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ไปทะเลาะกับคนสำนักงาน ก.พ.ประจำ เพราะบางคนสึกออกไปแล้วไปสอบปลัดอำเภอบ้าง สอบเข้าราชการบ้าง “สาขารัฐศาสตร์” บางคนสอบติดแต่เวลาตรวจสอบวุฒิการศึกษาปรากฎว่า “หลักสูตร กพ.ไม่รับรอง” หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ถึงจะเก่งและมีความรู้ก็ตาม

หรือแม้กระทั้งพระอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของเราที่จบมาจาก ประเทศอินเดียหรือศรีลังกา ก็มักจะโดนดูถูกดูแคลนจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานว่า “ด้อยคุณภาพ” ไม่รับรองวุฒิให้ จะเข้าสมัครมหาวิทยาลัยที่พอมีเงินเดือนดีบ้างก็เปรียบเสมือนชีวิตพระภิกษุ-สามเณรจากต่างจังหวัดเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน จะหาวัดอยู่เรียนหนังสือในกรุงเทพ “ห้องว่างแต่เจ้าอาวาสไม่ให้อยู่” ประมาณนั้น

จนเมื่อปี พ.ศ.2540 มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองและมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของตนเอง ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และนับตั้งแต่นั้นมา “มหาวิทยาลัยสงฆ์” แห่งนี้ก็เหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เกิดสถาบันภาษา, วิทยาลัยพระธรรมทูต, ศูนย์อาเซียนศึกษา, สถาบันวิปัสสนา, วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติและอีกหลายหลายองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มีพระธรรมทูตที่เป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ออกเผยแผ่พุทธศาสนากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย พูดง่าย ๆ ไม่มีพระธรรมทูตคนไหน ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เว้น “คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย” และที่สำคัญปัจจุบันพระนิสิตที่จบจากสถาบันแห่งนี้ มีทุกระดับชั้นไม่เว้นแม้กระทั้ง  “กรรมการมหาเถรสมาคม”

สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้ผ่านการอุทิศและการเสียสละของพระเถระผู้ใหญ่มาแล้วรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งคณาจารย์ยุคที่ไม่มีเงินเดือน บางท่านไม่มีเงินเดือนไม่พอ ยังต้องหาเงินจากภายนอกมาช่วยสนับสนุนด้วย  ตอนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 135 ปี แกร่งขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ “ผลิตพวกเราออกมา” จนกล้าประกาศเลยว่า “พวกเรามีดีและมีองค์ความรู้ไม่แพ้สถาบันใด ๆ ” ในประเทศนี้ รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับศิษย์รุ่นน้องที่จะเข้ารับปริญญาในวันที่ 10-11 ธันวาคมนี้ทุกรูป ทุกท่าน ส่วนหลังจบแล้วจะรับใช้พระพุทธศาสนาหรือจะลาสิกขาก็ไม่มีใครว่า  เพราะในโลกข้างนอก “ความรู้และคุณธรรม” ที่เราได้รับมาจากสถาบันแห่งนี้ “คุ้มกะลาหัว” ได้เป็นอย่างดี

งานรับปริญญายุคผู้เขียน..พวกเราไปรับปริญญากันที่ หอประชุมพุทธมณฑล โดยมี “สมเด็จพระสังฆราช” เสด็จไปมอบให้ ซึ่งโดยปกติงานมอบปริญญาแบบนี้ “สังฆบิดร” ต้องให้ความสำคัญ เพราะแสดงถึงความใกล้ชิดและการผูกมิตรซึ่งกันและกัน  ปีหนึ่งมีหนเดียว

วันนี้จึงเขียนเป็นเรื่องเล่างานประสาทปริญญาด้วยความภูมิใจไม่ได้ว่า…มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย…จากที่เคยถูกตีหน้าว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ด้วยความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนสามารถพัฒนาไปสู่ “มหาวิทยาลัยระดับโลก” ได้

ส่วนใครไม่ยอมรับว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ก็ไปศึกษาอดีตดู หรือใครไม่ยอมให้เรียกว่าเป็น มหาวิทยาลัยระดับโลก ก็ไปทำการบ้านดูว่าในประเทศไทยนอกจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว มีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ที่มีนิสิตนานาชาติมาศึกษาถึง 1,300 ท่าน และมีถึง 28 ประเทศ อันนี้ไม่นับรวมชนเผ่าอีกนับ 10 ชนเผ่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “สังคม มจร” จะเป็น “น้ำล้นแก้ว”  ภูมิใจกับความสำเร็จ โดยไม่ “รับฟัง” ความคิดเห็นจากใคร

แต่วันนี้เขียนในฐานะศิษย์เก่าที่จบจากสถาบันแห่งนี้ และได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับคณาจารย์ ได้เห็นภาพการจัดงาน จึงดีใจว่า “มจร”  วันนี้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด จาก มหาวิทยาลัยเถื่อน สู่ มหาวิทยาลัยระดับโลก..

Leave a Reply