การศึกษาพระปริยัติธรรม กว่าจะมีกฎหมายรองรับ

วันนี้ (31 ม.ค.2562) เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา ภายหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ…….ในวาระที่ 3 เป็นที่เรียบร้อย จากจำนวนผู้เข้าประชุม 160 จำนวนผู้เห็นด้วย 152 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 6 และไม่ลงคะแนนเสียง 2 ยังมาซึ่งความยินดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก

พระราชวรมุนี,รศ.ดร. รองเจ้าคณะภาค 6 และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ในฐานะรองประธานอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ……เปิดเผยว่า ประวัติศาสตร์ได้จารึกแล้ว เวลา 10.45 น ของวันที่ 31 มกราคม 2562 สนช.ได้ผ่านให้ความเห็นชอบ พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ….ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวได้ว่า 31 มกรา “วันสังฆประชาปีติ” ในเรื่องนี้

ย้อนรอยไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2557 การดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นความต่อเนื่องและความพยายามจากผู้มีส่วนร่วมหลายฝ่าย นับตั้งแต่ปี2546 เป็นต้นมา และการนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับมหาเถรสมาคมได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

1) มหาเถรสมาคม มีคำสั่งที่ 4/2558 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการ จัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. มีพระพรหมมุนี เป็นประธาน คณะกรรมการฯประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม 4 รูป พระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 รูป สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 คน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คน ผู้แทนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้บริหาร พร้อมด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 7 คน รวมมีคณะกรรมการทั้งหมด จำนวน 22 รูป/คน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และดำเนินการอื่น ๆ

2) การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 ณ วัดราชบพิธฯ ได้ประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …และได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. และมีมติให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. โดยคำนึงถึงประเด็น ต่อไปนี้ 1) ความมั่นคงของการศึกษาพระปริยัติธรรม 2) ระบบบริหารจัดการ 3) การสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ 4) สิทธิที่ผู้เรียนพึงมีพึงได้ 5) ให้มีเนื้อหาครอบคลุมการศาสนศึกษาทั้งระบบ 6) ไม่ต้องมีมาตรามากเกินไป

3) คณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ….โดยมีพระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานได้ประชุมคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 ครั้ง เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. ซึ่งเมื่อได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำเสนอพระพรหมมุนี ประธานกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ พร้อมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาและนำเสนอมหาเถรสมาคม

การดำเนินการได้มีการประสานและดำเนินการมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2561 คณะทำงานนำโดย พระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองเจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ในฐานะรองประธานอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ…และพันตำรวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมคณะได้ชี้แจง พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมต่อคณะกรรมการประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปรัฐบาล) ซึ่งมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธาน และ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน โดยทั้งสองวิปมีมติเห็นชอบ และเตรียมนำเข้าพิจารณาเพื่อรับหลักการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ต่อมาในวันที่ 10 ม.ค.2562 ที่ห้องรับรอง1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 คณะทำงาน ฯ ได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ….(เรียงลำดับตามมาตรา) เมื่อเสร็จแล้วเตรียมเข้าพิจารณา สนช.3 วาระ และเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2562 ณ อาคารรัฐสภา ได้มีการพิจารณาเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกมาตรา ซึ่งในชั้นนี้ประชุมทั้งสิ้นจำนวน7ครั้ง และวันที่ 31 ม.ค.2562 เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ได้จารึกแล้วอีกวันหนึ่งว่า เวลา 10.45 น. สนช.ผ่านให้ความเห็นชอบ พรบ.พระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยแล้ว กล่าวได้ว่า 31 มกรา “วันสังฆประชาปีติ” ในเรื่องนี้

พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาเป็นการจัดการศึกษาแผนกหนึ่งของคณะสงฆ์ที่ให้โอกาสแก่ศาสนทายาทให้มีความรู้ทางพระปริยัติธรรมคือ นักธรรม–บาลี ควบคู่ไปกับวิชาการสามัญการที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ…..เพื่อทำให้ระบบการบริหารการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์มีความเข้มแข็ง ทั้งที่เป็นความมั่นคงของการศึกษาพระปริยัติธรรม ระบบบริหารจัดการ การสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ สิทธิที่ผู้เรียนพึงมีพึงได้ ให้มีเนื้อหาครอบคลุมการศาสนศึกษาทั้งระบบ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านพระพุทธศาสนา “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” พระราชวรมุนีกล่าวสรุปท้าย

Cr.FB-Prayoon Chothivaro

Leave a Reply