สำนักข่าวอิศรา ศูนย์ข่าวภาคใต้ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้และการแก้ไขปัญหาตลอด 15 ปีเนื่องวันครบ “15 ปีปล้นปืน 15 ปีไฟใต้” ที่ผ่านมา ดังนี้
วันที่ 4 มกราคม ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เป็นวันเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
หลายคนเรียกวันนั้นว่า “วันเสียงปืนแตก” เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นดินแดนมิคสัญญี มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ทั้งยิง ทั้งเผา ทั้งระเบิด แทบจะรายวัน
ฉะนั้นวันที่ 4 มกราคม 2562 จึงเป็นวาระครบรอบ “15 ปีปล้นปืน 15 ปีไฟใต้”
ตลอด 15 ปีของความขัดแย้ง 15 ปีของความรุนแรง เต็มไปด้วยความสูญเสีย รอยเลือด คราบน้ำตา และการเสียโอกาสของการพัฒนาที่ประเมินค่ามิได้…
สถิติตัวเลขแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น คือภาพสะท้อนของปัญหา และเป็นอุทาหรณ์ว่าความรุนแรงไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับใครเลย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เก็บรวบรวมสถิติเหตุการณ์และความสูญเสีย เป็นสถิติที่แยกแยะอาชญากรรมทั่วไปออกจากปัญหาความไม่สงบแล้ว ตัวเลขเหล่านี้แทนคำอธิบายของปัญหาชายแดนภาคใต้ที่สังคมไทยทั้งสังคมต้องเผชิญร่วมกัน
15 ปีป่วนใต้พุ่งเฉียด 1 หมื่นเหตุการณ์!
สถิติไฟใต้แยกออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือ เหตุการณ์ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 47 จนถึงปลายปี 61 พบว่ามีเหตุรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 9,985 เหตุการณ์ แยกกว้างๆ ได้ดังนี้
– เหตุยิง 4,314 เหตุการณ์
– ซุ่มโจมตี 191 เหตุการณ์
– โจมตีที่ตั้ง 41 เหตุการณ์
– เหตุระเบิด 3,512 เหตุการณ์ แยกเป็นระเบิดแบบวาง 3,303 เหตุการณ์ แบบขว้าง 182 เหตุการณ์ และอื่นๆ 27 เหตุการณ์
– วางเพลิง 1,514 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นวางเพลิงเผาโรงเรียน 315 เหตุการณ์ อาคารบ้านเรือน 289 เหตุการณ์ ตู้โทรศัพท์ 267 เหตุการณ์ เสาสัญญาณและอุปกรณ์โทรคมนาคม 212 เหตุการณ์ และเผาส่วนราชการ 125 เหตุการณ์
– ฆ่าโดยวิธีทารุณ 92 เหตุการณ์ แยกเป็นฆ่าตัดคอ 38 เหตุการณ์ ฆ่าแล้วเผา 51 เหตุการณ์ ฆ่าตัดคอแล้วเผา 3 เหตุการณ์
– ประสงค์ต่ออาวุธ 176 เหตุการณ์
– ชุมนุมประท้วง 65 เหตุการณ์
– ทำร้าย 48 เหตุการณ์
เหตุรุนแรงทั้งหมดนี้ไม่รวมการก่อกวน เช่น ยิงรบกวน ขว้างระเบิดเพลิง เผายางรถยนต์ โปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ ถอดน็อตรางรถไฟหรือเสาไฟฟ้า และวางวัตถุต้องสงสัย โดยเหตุการณ์ประเภทก่อกวนนี้ เกิดขึ้นรวมๆ แล้ว 3,582 ครั้ง
สำหรับเหตุรุนแรงบางประเภท เช่น ยิง เผา ลอบวางระเบิด หรือแม้แต่ฆ่าด้วยวิธีทารุณ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป ไม่ใช่การก่อความไม่สงบที่หวังผลทางความมั่นคง เหตุการณ์ในส่วนนี้นับรวมได้ 5,557 เหตุการณ์
ยอดตายทะลุ 4 พัน ประชาชนตาดำๆ กว่าครึ่ง!
สถิติไฟใต้อีกส่วนหนึ่ง คือตัวเลขความสูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ยอดรวมผู้เสียชีวิตตลอด 15 ปีไฟใต้อยู่ที่ 4,011 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 10,651 ราย แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
– ประชาชน เสียชีวิต 2,605 ราย บาดเจ็บ 5,943 ราย
– ทหาร เสียชีวิต 578 นาย บาดเจ็บ 2,735 นาย
– ตำรวจ เสียชีวิต 388 นาย บาดเจ็บ 1,599 นาย
– ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 241 ราย บาดเจ็บ 170 ราย
– ครู เสียชีวิต 109 ราย บาดเจ็บ 130 ราย
– คนร้าย เสียชีวิต 64 ราย บาดเจ็บ 7 ราย
– ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 25 ราย
– เจ้าหน้าที่รถไฟ เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 42 ราย
จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงมากที่สุดคือประชาชนทั่วไป หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์นั่นเอง
ปัตตานีแชมป์ป่วนหนักสุด
สถิติเหตุรุนแรงหากพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัด จะพบว่า จังหวัดปัตตานีมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมากที่สุด 3,667 เหตุการณ์ รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาส 3,443 เหตุการณ์ ยะลา 2,577 เหตุการณ์ และจังหวัดสงขลา 298 เหตุการณ์
ขณะที่สถิติความสูญเสียก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือจังหวัดปัตตานี มียอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบมากที่สุด 1,672 ราย บาดเจ็บ 3,193 ราย รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 1,189 ราย บาดเจ็บ 3,775 ราย จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิต 1,028 ราย บาดเจ็บ 3,118 ราย และจังหวัดสงขลา เสียชีวิต 122 ราย บาดเจ็บ 565 ราย
เหตุรุนแรง-ยอดเจ็บตายลดลงต่อเนื่อง
สำหรับสถิติเหตุรุนแรงในปี 61 มีทิศทางลดลงจากปีก่อนหน้า โดยมีเหตุรุนแรงทุกประเภท 161 เหตุการณ์ ลดลงจากปี 60 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์
เช่นเดียวกับสถิติความสูญเสีย ปี 60 มียอดผู้เสียชีวิตจากไฟใต้ 76 ราย บาดเจ็บ 209 ราย ขณะที่ปี 61 มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือ 62 ราย บาดเจ็บ 149 ราย
งบดับไฟใต้ทะลุ 3 แสนล้าน!
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 เป็นต้นมา จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2562 รวม 16 ปีงบประมาณ ยอดรวมงบดับไฟใต้ทะลุ 3 แสนล้านบาทไปแล้ว แยกแยะเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้
ปี 2547 – 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 – 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 – 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 – 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 – 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 – 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 – 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 – 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 – 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 – 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 – 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 – 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 – 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 – 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 – 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2562 – 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 302,926.9 ล้านบาท
กำลังพลเฉียด 4 หมื่น กองกำลังประชาชนเหยียบแสน!
สำหรับกำลังพลที่ใช้ในภารกิจดับไฟใต้ในปีงบประมาณ 2562 รวมทั้งหมดอยู่ที่ 39,465 นาย แยกเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย นอกจากนั้นยังมีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงอีก 95,974 คน (ชรบ. อรบ. อรม. ทสปช. อปพร.) รวมกำลังพลทุกฝ่าย 135,439 นาย
—————————————————————————————————
Leave a Reply