คติธรรม “วันมาฆบูชา” สมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 23 ก.พ. 67 เนื่องในวันมาฆบูชา ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัท น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓ หลังสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแล้ว ๙ เดือน

เมื่อพิจารณาจากประวัติการณ์แห่งวันจาตุรงคสันนิบาต ย่อมเห็นประจักษ์ว่า พระภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาตนั้น ต่างพรั่งพร้อมกันมา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยอานุภาพแห่ง “คารวธรรม” พุทธบริษัททั้งหลายผู้เป็นอนุชน จึงพึงเทิดทูนจริยาของพระอรหันต์ทั้งนั้น ขึ้นเป็นแบบอย่างทางประพฤติแห่งตน ๆ โดยสำนึกว่า ถึงแม้พระสาวกทุกรูป ได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุด ดับกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว แต่ก็ยังคงเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งต่อพระบรมศาสดา และพระธรรม เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทผู้มุ่งหมายความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจำเป็นต้องมี “นิวาตธรรม” คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นพื้นอุปนิสัย ขอจงระลึกไว้ว่า คุณธรรมแห่งพระอรหันต์นั้น สูงส่งเหนือกว่าอิสริยยศทั้งปวงในโลก หากแต่พระอรหันต์กลับปราศจากความอวดดื้อถือดี ปราศจากความเนรคุณลบหลู่ดูหมิ่น เพราะทุกรูปต่างมีความคารวะนอบน้อมอย่างมั่นคง ต่อพระรัตนตรัย ต่อการศึกษา ต่อความไม่ประมาท และต่อการปฏิสันถาร ดังนี้ บรรดาผู้ยังมีธุลีในดวงตา มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำใจอยู่ จึงพึงเพียรหมั่นเพิ่มพูนคารวธรรม ให้งอกงามขึ้นในตนอยู่เสมอ ให้สมด้วยธรรมภาษิตที่ว่า “มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ” แปลความว่า “ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่ คืออิสริยยศที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตน ทำตามโอวาทของบัณฑิต.” เพื่อความผาสุกร่มเย็นในจิตใจตน ตลอดจนประเทศชาติ และโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองสถาพรสืบไป เทอญ.”

Leave a Reply