ปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และคณาจารย์พร้อมนิสิตสันติศึกษาร่วมการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมระบุว่า

ในฐานะศิษย์จึงขอน้อมถวายสักการะสามีจิกรรมต่อครูอาจารย์สามศาสตราจารย์แห่งคณะสงฆ์ไทยและ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา โดยมีหลวงพ่อพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อุปนายกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : มจร น้อมถวายสักการะครูอาจารย์มีหลวงพ่อพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : มจร และ น้อมถวายสักการะครูอาจารย์มีอาจารย์เจ้าคุณ พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา : มจร ซึ่งสามศาสตราจารย์ในฐานะครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ เป็นต้นแบบด้านการศึกษาทางปริยัติและการศึกษาทางปฏิบัติ พร้อมให้โอกาสได้ทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ พระพุทธศาสนาและสังคม พร้อมสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาทางการศึกษาภายนอกและภายใน

โดยการทำสามีจิกรรมผู้บริหารคณาจารย์ ครูบาอาจารย์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามประเพณีของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เรามาเรียนวิชาความรู้ในหลักปริยัติด้านพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิชาการ ด้านปริยัติมีคุณูปการในขณะเดียวกันอาจเกิดโทษได้ จึงต้องมีสิ่งเกื้อหนุนคือ การมีความเคารพในการศึกษา โดยเฉพาะครูอาจารย์ที่เป็นโค้ชด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนา โดยสมัยพระพุทธเจ้ามีประเพณีซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์เรียกว่า อุปัฌายวัตร และ สัทธิวิหาริกวัตร อาจริยวัตรและอันเตวาสิกวัตร เป็นสายสัมพันธ์ที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ ระหว่างครูบาอาจารย์กับศิษย์จะต้องปฏิบัติต่อกันและกัน เพื่อเป็นเข็มทิศเป็นตัวช่วยประคับประครองให้วิชาความรู้นั้นเดินไปถูกทิศทางไม่ให้เกิด “มิจฉาทิฐิในการศึกษาทางด้านปริยัติ” ซึ่งสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งได้

โดยสามีจิกรรมถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม “คารโว จ นิวาโต ความเคารพนอบน้อมถ่อมตนต่อคนที่เป็นครูอาจารย์ เพื่ออำนวยให้การศึกษาด้านวิชาการก่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและสังคมเจริญรุ่งเรืองต่อไป ถือว่าเป็นเสน่ห์ของครูบาอาจารย์และนิสิตมหาจุฬาในการแสดงออกต่อครูอาจารย์ ถึงแม้ในห้องเรียนอาจจะมีการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่ระหว่างครูอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่ลูกศิษย์ยังมีฐานของความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์ด้วยการแสดงออกซึ่งสามีจิกรรม ถือเป็นประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนา ในทางสันติศึกษาเรียกว่า สันติวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมที่มีความงดงามและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปราศจากการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่เป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันที่รู้ ตื่น และเบิกบาน

สอดรับกับทิศ ๖ ในทางพระพุทธศาสนา โดยมีทิศในฐานะศิษย์พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวา ประกอบด้วย ๑)ศิษย์พึงลุกต้อนรับแสดงความเคารพ ๒)ศิษย์พึงเข้าไปหาเพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น ๓)ศิษย์พึงฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา ๔)ศิษย์พึงปรนนิบัติ ช่วยการบริการ และ ๕)ศิษย์พึงเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ด้วยการเอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ ถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครูอาจารย์อย่างสันติสุข มุ่งใช้อำนาจแห่งความร่วมมือร่วมกันมากกว่ามุ่งการใช้อำนาจเหนือ ระหว่างศิษย์กับครูอาจารย์

Leave a Reply