ดร.เจ้าคณะตำบลแนะวิธีพระสงฆ์รู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศ

วันที่ 5 มกราคม 2562 พระมหาไพวงษ์ พลญาโณ, ดร. เจ้าคณะตำบลสระขวัญ เขต 3 อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ได้ระบุในบทความ “ธรรมะ PD สู่ชีวิตที่สมดุล”ความว่า บทบาทและหน้าที่พระสงฆ์กับการเผยแผ่ทางเทคโนโลยีสารสนเทศก็คือ วิชาการอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์ควรศึกษาและคณะสงฆ์ควรส่งเสริมให้พระได้มีโอกาสศึกษาให้มากขึ้น โดยใช้หลักปฏิสัมภิทา คือรู้จักความหมาย รู้จักหลักการ รู้จักภาษา หรือศัพท์เฉพาะต่างๆ และสามารถคิดต่อได้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน

และนำไปอธิบายหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้กับคนร่วมสมัยเข้าใจได้ พระสงฆ์ก็จะอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอีกนาน และเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณให้กับชาวโลกได้อยู่อย่างมีความสุข โดยอาศัยหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยในการเผยแผ่ พระสงฆ์จึงมีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวข้องกับ บ้าน วัด โรงเรียน มีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด เพราะพระพุทธศาสนาประกอบด้วย พุทธบริษัท 4 จึงต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชาวบ้านก็ต้องพึ่งวัด พึ่งพระสงฆ์

“ฉะนั้น พระสงฆ์จึงมีบทบาทมากในการเผยแผ่เรียนรู้พระพุทธศาสนา จึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์เข้ารับการศึกษา พระสงฆ์จึงจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทและทำหน้าที่ต่างๆ ในสังคมปัจจุบันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” เจ้าคณะตำบลสระขวัญ กล่าว

ขณะเดียวกันพระสมุห์สมบัตร เทวธมฺโม นิสิตปริญญาเอก สาขาการพัฒนาสังคม มจร ได้ระบุว่า เทคโนโลยีกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น สังคมเทคโนโลยี ในยุคปัจจุบันเราปฏิเสธกันไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สังคมต้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ทำให้โลกต้องมีสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป สังคมโลกเปลี่ยนจากสังคมเกษตร อุตสาหกรรม มาเป็นสังคมแห่งข่าวสารข้อมูล ทำให้คนทั่วโลกติดต่อกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ยุคสมัยนี้เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่าเป็นยุคของเทคโนโลยี ความจริงนั้นยุคนี้มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ จะเน้นให้อะไรเป็นสิ่งที่แสดงถึง ความเจริญที่สำคัญของยุค แต่ไม่ว่าจะเรียกเป็นยุคอุตสาหกรรมก็ดี เป็นยุคอวกาศก็ดี หรือจะเป็นยุคที่กำลังมีศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่ายุคสารสนเทศ คือ ยุคข่าวสารข้อมูล

ดังนั้น เทคโนโลยี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กว้างขวางไปทั่วโลก ภายใต้บริบทและแนวโน้มของประชากรโลกที่จะใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยี และการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก แต่การใช้เทคโนโลยี ต้องเป็นไปอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งไม่เป็นการบิดเบือนพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฎก

Cr.เฟซบุ๊กพระสมุห์สมบัตร เทวธมฺโม

Leave a Reply