“นิสิตสันติศึกษา มจร”ถอดบทเรียน การตัดสินคดีที่ดินวัดสวนแก้ว

“นิสิตสันติศึกษา มจร”ถอดบทเรียนการตัดสินคดีที่ดินวัดสวนแก้ว หลวงพ่อพระพยอมเตือนสตินักกฏหมาย อย่าใช้เทคนิคทางกฏหมายรังแกพระจนหมดทางสู้

วันที่ 16 สิงหาคม 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำนิสิตหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา ลงพื้นที่ Peace Lab ที่วัดสวนแก้ว อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อศึกษาและเรียนรู้สถานการณ์ความขัดแย้ง สาเหตุ และทางออก เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทกรณีที่ดินที่มูลนิธิวัดสวนแก้วถูกร้องว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฏหมาย

ทั้งนี้ได้มีพระราชธรรมนิเทศหรือหลวงพ่อพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ประธานมูลนิธิสวนแก้ว และดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมาย เนติบัณฑิตสภา ในฐานะศิษย์เก่าหลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกับนิสิตและบุคคลทั่วไป

พระราชธรรมนิเทศย้ำว่า “เทคนิคทางกฏหมายกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่อตัวท่าน และมูลนิธิสวนแก้ว ถึงแม้ว่าศาลฏีกาจะมีคำพิพากษาตัดสินแล้วให้ที่ดินตกเป็นของผู้ร้องแล้วก็ตาม”

ตลอดช่วงเวลาของการฟ้องร้องนั้นแม้หลวงพ่อพระพยอมจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาลและพยายามจะทอดสะพานพูดคุยนอกศาล แต่ฝ่ายผู้ร้องที่ได้เปรียบทางกฏหมายก็ยังไม่ยอมรับในข้อเสนอที่หลวงพ่อพยายามที่จะหยิบยื่นให้

ข้อพิพาทที่แท้จริงเกิดขึ้นระหว่างเจ้าของที่ดินเดิมที่ได้มาด้วยการครอบครองปรปักษ์โดยศาลได้ตัดสินและกรมที่ดินได้ออกโฉนดตามคำสั่งศาล จึงได้นำที่ดินผืนดังกล่าวไปขายให้มูลนิธิสวนแก้ว

ต่อมาผู้ร้องที่เป็นลูกของเจ้าของที่ดินดั้งเดิมได้ร้องต่อศาลพร้อมกับเอกสารหลักฐานใหม่ว่า ผู้เป็นแม่มิได้ครอบครอบปรปักษ์หากแต่เป็นการเช้าพื้นที่อยู่อาศัยทำมาหากิน ศาลจึงอาศัยหลักฐานดังกล่าวเพิกถอนสิทธิในที่ดินดังกล่าว แล้วให้คืนที่ดินดังกล่าวแก่ลูกของเจ้าของที่ดินดั้งเดิม

ผลกระทบที่ตามมาก็คือ มูลนิธิสวนแก้วที่นำเงินบริจาคจำนวน 10 ล้าน มาซื้อที่ดินโดยปรากฏหลักฐานว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้มาโดยชอบจากหลักฐานจากกรมที่ดินและคำสั่งของศาล

จากผลกระทบดังกล่าว มูลนิธิฯ พยายามที่จะต่อสู้ตามแง่มุมของกฏหมายด้วยพยานและหลักฐานที่มีทั้งหมด แต่ศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และศาลฏีกา ได้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลทางกฏหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” ซึ่งภาษาลาตินเรียกว่า “Nemo dat qui non habet” แปลว่า “บุคคลย่อมไม่อาจให้ในสิ่งที่ตนไม่มี” หมายความว่า “เจ้าของที่ดินเดิมไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวแต่แรก จึงไม่อาจจะที่จะให้ที่ดินดังกล่าวแก่มูลนิธิด้วยวิธีการใดๆ”

จากข้อเท็จจริงทางกฏหมายดังกล่าว หลักการทางกฏหมายได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองและมอบความยุติธรรมแก่ตัวผู้ร้องที่เป็นลูกของเจ้าของที่ดินดั้งเดิมอย่างเต็มกำลังแล้ว แต่คำถามที่ตามมาคือ มูลนิธิที่เป็นผู้ซื้อ ได้ซื้อที่ดินมาด้วยความสุจริต แต่ได้รับผลกระทบจากข้อกฏหมายดังกล่าวจะได้รับการเยียวยาอย่างไร

จุดนี้เองที่ทำให้หลวงพ่อมองว่า สังคม รวมถึงกรมที่ดิน และอาจจะรวมถึงศาลจะเข้ามาช่วยโอบอุ้มหรือมีมาตรการใดที่จะช่วยเยียวมูลนิธิที่ได้รับผลกระทบที่สูญเสียเงินจำนวน 10 ล้านบาท รวมถึงค่าถมที่ร่วม 2 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีข้อเสนอถึงผู้ร้องว่า หากสามารถขายที่ดังกล่าวได้เงินมาจำนวนมาก เป็นไปได้ได้หรือไม่? ที่จะแบ่งคืนให้แก่มูลนิธิ 10 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณจากผู้ร้องว่าจะตกลงหรือปฏิเสธ

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้ร้องได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขับไล่ให้ผู้ถูกร้อง คือ หลวงพ่อพระพยอมและมูลนิธิ ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยเรียกค่าเสียหายจำนวนมากจากหลวงพ่อและมูลนิธิ

ผลต่อเนื่องของการใช้เทคนิคทางกฏหมาย หลวงพ่อพยอมในฐานะประธานมูลนิธิ ได้พัฒนาตัวเองจากผู้ซื้อที่ดินมาด้วยความสุจริต กลายมาเป็นผู้ที่ศาลไม่รับคำร้องจากหลักการข้างต้น และได้กลายจำเลยทีถูกเจ้าของที่ดินดั้งเดิมฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ดินดังกล่าว

ประเด็นเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาและความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางตรง (Primary Stakeholder) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม (Secondary Stakeholder) ว่าจะช่วยกันหาทางออกในประเด็นเหล่านี้อย่างไร? จึงจะทำผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเป็นธรรม

กระบวนการหาทางออกนั้น จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะมาชี้หน้าด่าทอว่าใครผิด หรือใครถูก ผู้ร้องเองก็ได้นำเสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลได้พิจารณา ศาลเองเมื่อได้หลักฐานใหม่มาก็ได้พิจารณาตามหลักฐานที่ผู้ร้องเสนอ กรมที่ดินก็ได้ดำเนินตามที่ศาลสั่ง เจ้าของที่ดินเดิมในตอนหลังก็ได้ยอมรับว่ามีการเช่าที่ดังกล่าวมิใช่ครอบครองปรปักษ์ ในขณะที่มูลนิธิก็ซื้อที่มาอย่างสุจริต

แนวทางในการหาทางออกนั้น แม้เราจะมองทั้งในมิติทางกฏหมาย แต่อาจจะต้องตระหนักว่า กฏหมายมิใช่ความยุติธรรม แต่กฏหมายคือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผดุงความยุติธรรม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

โดยเฉพาะฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทั้งที่มีความสุจริตเป็นหมุดหมาย ผู้เกี่ยวข้องควรจะมีมโนธรรม ใส่ใจต่อความทุกข์และความเจ็บปวดของผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร โดยที่มิได้ท่อง หรือยกแต่ตัวบทของกฏหมายว่า “ก็กฏหมายเขียนเอาไว้แบบนั้น”

“กฏหมายที่ดี รวมถึงผู้บังคับใช้กฏหมายที่ดี ต้องทำหน้าที่เอื้ออำนวย หรือหาช่องทางให้คนทุกข์ยาก หรือผู้เสียหายได้มีลมหายใจ และมีที่ยืนในสังคมอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มิใช่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อาศัยช่องว่าง ช่องทาง หรือเทคนิคทางกฏหมายมาเหยียบย่ำซ้ำเติมคนดี คนที่ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” พระมหาหรรษา กล่าวในที่สุด

Leave a Reply