“พระฉันกัญชา” อาบัติหรือไม่..??

เขียน โดย  :  พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก

การ “ปลูก” หรือ “เสพ”... กัญชา อย่างเสรีเหลือเพียงข้อย่อยและวิธีการปฏิบัติที่จะต้องไม่ให้ผิดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า รวมถึงความห่วงใยของผู้คนในสังคมที่อาจจะมีผลกระทบต่อ “เด็ก” และ “เยาวชน”

เพราะวันนี้ “กัญชา” ก็ยังเป็น “สิ่งเสพติดที่ถูกต้องตามกฎหมาย” จะร่วมกันทำอย่างไรจึงจะสามารถมุ่งไปสู่จุดหมายของผู้นำเสนอสิ่งนี้ว่าเพื่อสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเป็นที่ตั้ง มิได้หวังให้เป็น “สิ่งมอมเมา” กันอีกต่อไป

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. มองว่า การเสนอให้มีการผลิตสุราพื้นบ้านให้ถูกต้องตามกฎหมายก็คงเป็นไปได้แล้ว การเสนอให้มีการผลิตกัญชากัญชงที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ผ่านพ้นไปได้แล้ว มาบัดนี้ จึงมาหาทางแก้และทางออกเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา

นี่คือประเด็นสำคัญ….เป็นเรื่องที่พึงตระหนักเพราะเป็นการออกกฎหมายที่สนองตอบต่อ “ตัณหา” ของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน เมื่อเรารู้ว่าอีกไม่กี่วันก็จะปลดล็อกกัญชากัญชงกันแล้ว พอรุ่งขึ้นของวันใหม่หน่ออ่อนของกัญชาก็เติบโตสูงขึ้นเป็นศอกแล้ว อะไรจะเติบโตได้เร็วขนาดเพียงไม่กี่ชั่วโมง

นี่คือสิ่งที่สนองตัณหาของมนุษย์กันจริงๆ เราก็คงไม่ไปต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยเพราะคนรุ่นเราก็กำลังจะหมดยุคกันไปแล้ว จึงขอทำใจให้เป็น “ยุคของคนรุ่นใหม่” ที่อะไร ๆ ก็โซเชียลกันไปหมด

กระนั้นแล้วก็มีผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งที่ได้มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนจะถูกครอบงำด้วย “กัญชา” อาจจะนำมาซึ่งการมอมเมาหน่ออ่อนของชาติ ทำให้ลูกหลานของเราเสียอนาคตในวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนและกำลังเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นความหวังของผู้ปกครอง

“เราจะกำหนดกติกา ขอบเขตให้ลูกหลานของเราเพียงใดก็ควรจะตื่นตัวกันแล้วในวันนี้ เพราะความห่วงใยนี้ล้วนจะเป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข ท่านใดมีบทบาท มีหน้าที่ มีแนวทางการป้องกันก็ขอให้ช่วยกันออกมาแสดงความคิดเห็น และร่วมกันร่างกติกาทางสังคมให้ลูกหลานของเราได้ประพฤติปฏิบัติกันในทุกๆด้าน”

จึงจะเป็นการร่วมใจกันป้องกันปัญหาที่ถูกต้องได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนล้วนเป็นทรัพยากรอันสำคัญของสังคมและประเทศชาติ เมื่อสนองตัณหาของพวกเราแล้วก็อย่าได้ทำลายอนาคตของสังคมก็แล้วกัน

มี…หลายอย่างที่เป็นการกระทำของมนุษย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันผิดศีลธรรมอันดีของศาสนา นับตั้งแต่การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนัน การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล การเสี่ยงโชคชนิดต่างๆ ล้วนผิดศีลธรรมอันดีของศาสนาทั้งนั้น ต่อมากรณีกัญชาก็เช่นเดียวกัน

เมื่อ “ผู้เสพ” เสพเข้าไปแล้วมีโอกาสที่จะควบคุมสติตนเองไม่ได้ เป็นต้นเหตุให้ก่ออาชญากรรมชนิดต่างๆ ชีวิตของเราเมื่อมีสติและปัญญาก็จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แต่เมื่อสติเลอะเลือน ปัญญาไม่เฉลียวฉลาดในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โอกาสที่จะกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายในข้ออื่นๆก็จะติดตามมา

เพราะสิ่งเสพติดชนิดนี้เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ “ความประมาท”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ “พระฉันกัญชา” หรือ “เสพกัญชา” ที่ถูกต้องตามกฎหมายนี้ แต่ละท่านมีความคิดเห็นเป็นเช่นใด? พระมหาสมัย บอกว่า วิถีของพระย่อมเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ชาวบ้านดีก็มีโอกาสทำให้พระดี แต่ถ้าชาวบ้านไม่สำนึกดีก็มีโอกาสที่จะทำให้พระเสื่อมได้เช่นเดียวกัน

อดีตได้มีพระบางรูปเสพหรือฉันกัญชาโดยอ้างว่าเพื่อรักษาโรค เช่น เป็นเบาหวานบ้าง เป็นความดันโลหิตสูงบ้าง เป็นโรคชนิดอื่นๆบ้าง แล้วแต่แต่ละรูปจะนำมาอ้างเพื่อให้ตัวเองรอด แต่ไม่รอดคือก็ผิดกฎหมาย ชาวบ้านยอมรับไม่ได้ จนถึงกับให้ลาสิกขาจากสมณเพศไปก็มีมาแล้วมากมาย

แต่…มาวันนี้สิ่งที่อยู่ในที่มืดได้ออกมาปรากฏตัวในที่สว่างกันแล้ว เราจะมีกรอบกติกาให้กับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเช่นใดจึงจะยอมรับกันได้ในทางกฎหมายบ้านเมืองและตามประเพณีนิยม รวมถึงชาวพุทธเราจะเปิดกว้างให้กับนักบวชที่เราเคารพ…นับถือนี้มีวัตรปฏิบัติเป็นไปในทางใด?

“ก่อนที่เราจะได้พบเห็นนักบวชบางรูปเสพหรือฉันกัญชาจนเมามายสร้างความเสื่อมศรัทธาให้กับชาวบ้านและชาวพุทธ”

ที่ผ่านมาได้มีผู้รู้หลายท่านได้ออกมาให้ข้อคิด เสนอแนวทางการปฏิบัติให้กับพระภิกษุนักบวชในพระพุทธศาสนากันแล้วว่า พระฉันกัญชาหรือเสพกัญชานั้นผิดหรือถูก? แต่ก็ยังเป็นมุมมองในมุมแคบๆกันอยู่

อาตมามีความคิดเห็นว่า “กัญชา” เป็นสิ่งที่เสพแล้วก่อให้เกิดความประมาท นำไปสู่การขาดสติ โอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนมนุษย์ไว้ว่า “ขอให้ตั้งอยู่ในความ ไม่ประมาท” นี่คือคำสอนที่ชัดเจนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ ข้อความคำสอนไม่ยาวแต่มีความหมาย

และที่สำคัญ…มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือเมื่อนักบวชรูปใดฉันกัญชาหรือเสพกัญชาแล้วโอกาสที่จะผิดศีลข้ออื่นตามมาก็มีมาก เพราะขาดสติหรือควบคุมสติตนเองไม่ได้นั่นเอง ซึ่งยังไม่ย้อนระลึกถึงหลักพระวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ได้ประพฤติปฏิบัติ

“ข้อไหนบ้างที่ทรงห้ามไว้ พระท่านได้แตกต่างจากชาวบ้านผู้ครองเรือน ท่านออกบวชอยู่ในวัดวาอาราม ออกจากครอบครัว ครองเพศเป็นบรรพชิต แต่งกายไม่เหมือนชาวบ้าน ฉันอาหารหรือภัตตาหารสองมื้อ คือมื้อเช้า…มื้อกลางวัน ไม่ฉันในมื้อเย็น เป็นผู้ถือศีล 227 ข้อ ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย”

เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเห็นเป็นมรรค…เป็นผลในชีวิตจนกลายเป็นเนื้อนาบุญของชาวบ้าน…ชาวโลก ชาวบ้านจึงอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยการใส่บาตรตอนเช้า ถวายอาหารปิ่นโตมื้อกลางวันให้พระได้มีฉัน

ดังนั้น เมื่อศรัทธาของชาวบ้านได้เกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ แล้ว การให้ความอุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆที่ดีก็ต้องติดตามมาอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราได้ทราบข่าวว่า “พระเมากัญชา” อยู่ในวัดบ้าง อยู่ในสถานที่ สาธารณะบ้าง พวกเราชาวพุทธหรือชาวบ้านจะรับได้หรือไม่? เพราะชีวิตของพระย่อมเกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้านในระดับหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรมชั้นสูงสุด

คำถามสำคัญมีว่า…เราจะปล่อยให้ “พระเมากัญชา” เพราะถูกต้องตามกฎหมายแต่ได้เกิดความเสื่อม หรือเราจะมาหาทางป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนาหรือมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรการปกครองคณะสงฆ์สูงสุดควรจะออกมาชี้ชัดให้ความชัดเจน

“ชาวบ้าน ชาวพุทธ นักบวชในพระพุทธศาสนา เราจะได้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและถูกต้องจนกลายเป็นกฎ…กติกาทางสังคม เป็นกรอบให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด ขอให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ชาวบ้านฟังแล้วรู้เรื่อง เข้าใจทันทีว่าอะไรถูกหรือผิด ได้หรือไม่ได้”

“ปมาโท มจฺจุโน ปทํ”...ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย กัญชาเป็นสิ่งเสพติดที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรมหรือไม่?

“กัญชา”...ก่อให้เกิดความประมาท ขาดสติได้ ตราบใดที่มนุษย์เรายังตก “เป็นทาส” ของมัน อะไรก็ตามถ้ามีความพอดีพอควรก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ ถ้ามากไป…ลุ่มหลงก็จะก่อเกิดโทษมหันต์.

 

 

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ

Leave a Reply