ทีม Change for Good มหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ศึกษาข้อมูลเชิงลึกร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ)

วันที่ 10 ก.ค. 65 ที่พื้นที่ CLM ดอยอินทรีย์ แม่แบบพัฒนาสู่เขตพัฒนาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ เมตตาให้การต้อนรับคณะทำงาน Change For Good ของกระทรวงมหาดไทย ทีมเชียงราย นำทีมโดย ดร.ประภาพรรณ วุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ กรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทีม Change for Good เชียงราย ในโอกาสลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลโครงการขับเคลื่อนและพัฒนาแนวทาง CLM ดอยอินทรีย์ แม่แบบพัฒนาสู่เขตพัฒนาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอำไพ บัวระดก ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และนายสมนึก บุญยี่ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ กล่าวบรรยายความเป็นมาของการพัฒนาพื้นที่ป่าบนดอยอินทรีย์ ด้วยการรักษาพื้นที่ป่าและการดับไฟในใจคน เพื่อทำให้พุทธอุทยานดอยอินทรีย์เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” (CLM) อันเกิดจากความตั้งใจเข้ามาอยู่ป่าตามอุดมการณ์อยู่เพื่อบำเพ็ญภาวนา สวดมนต์ภาวนา ปฏิบัติธรรม ก็ไปอยู่เพื่อเดินรอยตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพานใต้ต้นไม้ในป่า ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านดูแลป่าเท่านั้นแต่พอหน้าแล้งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เกิดมีไฟไหม้ป่า เป็นทะเลเพลิงล้อมเราก็เลยไปดับ เห็นสัตว์สงสารมันโดนไฟไหม้ตายเป็นเดือนน่าสงสารมาก ไปเรียกพระมาช่วยกันดับไฟ ปลุกชาวบ้านช่วยกันดับไฟป่า ก็ไปเห็นว่าป่าตรงนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ สัตว์ทุกชนิดอยู่กันอย่างทรหดเลย สัตว์ทุกชนิดมาอยู่รวมกับเราหมดเลย น่าสงสารที่มนุษย์เผาป่า ทำไร่แล้วก็ฆ่าสัตว์ตายเป็นเดือน ๆ เลย ก็เลยปลุกพระขึ้นมาปกป้องชีวิตสัตว์เหล่านั้น เมื่อเข้าสู่หน้าฝนก็ปลูกต้นไม้ส่วน นักเรียน นักศึกษา ราชการวัด “บวร” ไปช่วยกันฟื้นป่า หน้าแล้งก็ต้องปีนเขาดับไฟทำแนวกันไฟหล่อพระรักษาป่า และต่อมา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้อนุมัติให้ดำเนินการปรับภูมิสังคม เพื่อจัดทำศูนย์เรียนรู้พัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ด้วยการปรับพื้นที่แบ่งพื้นที่ให้เป็น 30,30,30,10 ก็มีป่า 5 ระดับ น้ำ 30 % แล้วก็นาข้าว 30 % ที่อยู่อาศัยก็เป็นศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ก็ได้มาพอปรับพื้นที่เสร็จ โชคดีที่ดีฝนตกพอดี ทำให้ได้น้ำ ก็เริ่มปลูกต้นไม้ฟื้นฟูตามระบบนิเวศ ฟื้นป่าฟื้นดินฟื้นน้ำ แล้วก็สร้างฐานเรียนรู้ให้คนมาทุกช่วงไว้ ในช่วงแรกของเรามันเริ่มต้นจากการวางรากฐาน เกษตรทฤษฎีใหม่จะเหนื่อยช่วงแรก คือการวางรากฐานสร้าง 4พ. ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นก่อนแล้วเอาบุญเอาทานนำก่อน ยังไม่ได้เป็นรายได้หรอก กว่าจะเป็นรายได้ขั้น 9 หน้าสูงสุดมันก็มาเก็บรักษาแปรรูปก่อน เพิ่มมูลค่าเก็บได้นานแล้วค่อยไปขาย แล้วเมื่อกลายเป็นศูนย์เรียนรู้รายได้จึงค่อย ๆ มา ทั้งนี้ จุดแข็งคือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เป็นโครงการที่ดีที่สุด ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้จริง ซึ่งได้หารือกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนต่อไป แต่ว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจะต้อง 1) อบรมเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะขับเคลื่อนให้เข้าใจชัดเสียก่อนมันจึงจะไปให้ความรู้กับประชาชนได้ท่องแท้ หมดงบเดี๋ยวก็จบโครงการ ต้องใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ 2) ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการมาช่วยแก้ปัญหาแล้วก็ต้องประสานช่วยเหลือกัน แล้วก็ 3) เอาวัด เอายุทธศาสตร์ “บวร” เข้าไปช่วยโครงการนี้ด้วย อย่าทิ้ง “หลักบวร” ในการทำงาน

นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า วันนี้ได้รับเมตตาจากพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ร่วมให้การต้อนรับและเมตตาบรรยายถึงแนวทางการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามหลัก “บวร” โดยกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างพี่น้องประชาชน พระสงฆ์ และโรงเรียน โดยนำแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” มาใช้ซึ่งสะท้อนถึงหลักการทำงานของภาคราชการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เราต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้กับสังคมได้รับรู้ รับทราบ และเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์มาทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยพลังความสามัคคี และข้าราชการมาเป็นกำลังใจและกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน งานก็จะขยายผลไปได้อย่างรวดเร็ว และยังประยุกต์ไปสู่การดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไก ศจพ. ตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย

โดยคณะทำงาน Change for Good ทีมเชียงราย ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเชิงลึก เก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมกับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อรวบรวมสภาพปัญหา โอกาสการพัฒนา วิเคราะห์ความเหมาะสมของรูปแบบการพัฒนา และจัดทำ SWOT พื้นที่ สู่ร่างโครงการพัฒนา และ Business Model ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการชุมชนปลอดขยะ ZERO WASTE สู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว ณ หมู่บ้านโป่งศรีนคร หมู่ที่ 11 ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด โดยมีนายมานพ ชัยบัวคำ กำนันตำบลโรงช้าง ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมกิจกรรมการบริหารจัดการขยะ กิจกรรมสร้างรายได้ภายในหมู่บ้าน

“การคัดแยกขยะและนำสิ่งของที่ใช้แล้ว มาสร้างมูลค่านำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชุดรับแขก เฟอร์นิเจอร์ ทำให้หมู่บ้านได้เป็นหมู่บ้านปลอดขยะ นอกจากนี้ คนในหมู่บ้านฯ ยังได้ร่วมกันขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการปลูกผักปลอดสารพิษ การใช้ใบตองแทนถุงพลาสติก เป็นต้น และเปิดหมู่บ้านให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องของการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ Zero Waste ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการขยะในชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างชุมชนน่าอยู่ ถูกสุขภาวะในชุมชนปลูกผัก ปลอดสารพิษภายในชุมชนทุกครัวเรือน ขอความร่วมมืองดจุดธูปเทียนในงานศพ และสร้างชุมชนให้น่าอยู่ถูกสุขภาวะ จนทำให้ชุมชนได้เป็นหมู่บ้านต้นแบบได้รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานหมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste และรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานบ้านสวยเมืองสุข รวมทั้งได้ขยายผลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ทำให้พลังความสามัคคีของพี่น้องประชาชนนำมาซึ่งความสุขของคนทั้งหมู่บ้าน และยังได้แผ่ขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ของพวกเราอีกด้วย” กำนันมานพฯ กล่าวเน้นย้ำ

หลังจากคณะทำงาน Change for Good ทีมเชียงราย ได้เข้ากราบนมัสการ พระสมุห์ประจักษ์ วิจกฺขณโสภี เจ้าอาวาสวัดสันกองพัฒนาราม หมู่ที่ 2 ตำบลโรงช้าง เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา บนพื้นที่กว่า 8 ไร่ โดยเตรียมจัดฐานเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ 1.ตลาดอินทรีย์ 2. โรงปุ๋ยอินทรีย์ 3.ปศุสัตว์อินทรีย์ 4. ประมงอินทรีย์ (ปลาในนาข้าว) 5. นาข้าวอินทรีย์ 6.ไม้ผล กล้วย ไม้เศรษฐกิจ 7. ผักสวนครัวอินทรีย์ 8. การแปรรูปด้วยพลังงานสะอาด (พาราโบล่าโดม,น้ำบาดาล) 9.ทำมาหากิน ทำมาหาธรรม

ดร.ประภาพรรณ วุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2565 คณะทำงาน Change for Good ทีมเชียงราย ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้รับเมตตาจากองคาพยพภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ ทำให้ทีมฯ สามารถจัดเก็บข้อมูลโครงการฯ ต่าง ๆ อีก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม พื้นที่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ได้หายจนชีวิตมั่นคงด้วยศาสตร์พระราชา พื้นที่เรียนรู้โรงเรียนชาวนา มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ต้นแบบวัดเทพนิมิตสุดเขตแดนสยาม ต.เวียง อ.เชียงของ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ของศูนย์การเรียนรู้แสดงผลิตภัณฑ์แปรรูปไผ่ซางหม่น ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบนพื้นที่สูงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่บ้านร่มฟ้าไทย ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง

“การจัดเก็บข้อมูลและศึกษาเชิงลึกของคณะทำงาน Change for Good ทีมเชียงราย ด้วยพลังของ “ใจ” ที่มีความปรารถนา (Passion) ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ จะเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่นำไปสู่การจัดทำร่างโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงราย สู่การเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของกระทรวงมหาดไทย” ซึ่งมีเป้าหมายในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Leave a Reply