“พระพรหมบัณฑิต” ตอกย้ำธรรมาภิบาลฝากถึง  “อธิการบดีรูปใหม่” หลังเจอกระแส “กินเรียบ – ขาดภาวะผู้นำ”

วันที่ ๑๓ ก.ย. ๖๕ พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊คชื่อ คติธรรม วาทะธรรม พระพรหมบัณฑิต เรื่อง “ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย” ซึ่งใต้โพสต์ระบุว่าเป็นโอวาทในพิธีมอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งอธิการบดี มจร. เมื่อวันที่ ๑๗  สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งโพสต์นี้มีแชร์และมีคนพูดถึงกันเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องวุ่น ๆ ใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลังจบการสรรหาอธิการบดี “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ได้ไปต่อ ด้วยการลงคะแนนลับจากคณะกรรมการสรรหาผ่านแบบเฉียดฉิว ๔ ต่อ ๓ และต่อมาได้มีการแต่งตั้งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ชุดใหม่ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามในสมาคมมหาจุฬาฯอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องระบบอุปถัมภ์  “กินเรียบ” หรือแม้กระทั้ง “ภาวะผู้นำ” ของอธิการบดีรูปใหม่ท่านเดิม  คาดว่ากระแสนี้ “พระพรหมบัณฑิต” ในฐานะอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลก แห่งนี้คงจะได้ “สัมผัส” รับรู้บ้าง ไม่มากก็น้อย และในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี รวมทั้ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย “อาสนะ” คงร้อน จึงโพสต์ข้อความเรื่อง “ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย” ย้ำเตือนผู้บริหารขุดใหม่ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

เรามาร่วมพิธีในการเปลี่ยนถ่ายผู้บริหารของมหาจุฬาวันนี้มาในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมและอดีตอธิการบดีมาเพื่อมอบงานต่อให้อธิการบดีรูปใหม่อย่างเป็นทางการ เป็นที่รู้จักกันว่ามหาจุฬาเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญช่วงที่มีพรบ.ของมหาจุฬา ในปี ๒๕๔๐  ซึ่งช่วงนั้นได้รับตำแหน่งต่อจากอดีตอธิการบดีก่อนนั้น นับมาจนบัดนี้ ๒๐ ปี ๕ สมัยในการเป็นอธิการบดีเริ่มจากตั้งแต่คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร มาถวายที่ดินให้ช่วยสร้างมหาจุฬา จากท้องทุ่งจนปรากฎรูปร่างในปัจจุบัน ด้วยการทำหน้าที่ก่อสร้างจึงทำให้เป็นอธิการบดีมาหลายสมัย พอครบ ๔ สมัยก็ตั้งใจว่าจะวางมือเพราะ ๑๖ ปี ถือว่าสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่ในช่วงนั้นน้ำท่วมจึงต้องปรับปรุงสถานที่ จึงต่อมาอีก ๑ สมัย รวมเป็น ๕ สมัย พอเป็นสมัยที่ ๕ มีความตั้งใจว่าพอแล้ว โดยส่งสัญญาณเป็นระยะ ว่าเป็นอธิการบดี ๕ สมัย ช่วงที่บรรยายที่ใดจะพยายามสร้างกระบวนการจัดการความรู้ด้วย KM ถ่ายทอดวิทยายุทธความคิดแนวคิดในการพัฒนามหาจุฬาอย่างหมดเปลือก เพื่อส่งต่อให้รุ่นต่อมาทำงาน ถ้าเราบันทึกไว้ไม่มีอะไรต้องมาบอกมาแนะนำอีกทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งเป็นคำพูด

ต่อมาเมื่อมีกรรมการสรรหา กรรมการพยายามสื่อสารว่าจะเป็นอธิการบดีต่อหรือไม่ จึงตอบกรรมการสรรหาไปว่า “พอแล้ว” แต่กรรมการขอให้งานรับปริญญาและงานวิสาขบูชาโลกเสร็จสิ้น อย่าเพิ่งเปลี่ยนอธิการบดี เพราะมีผู้นำชาวพุทธมาจากทั่วโลก ก็พยายามบอกว่าไม่รับการเป็นอธิการบดีต่อ แต่สมาคมมหาจุฬายังเชื่อว่าพระพรหมบัณฑิตจะรับเป็นอธิการบดีต่อ จึงส่งสัญญาณว่าไม่รับแน่นอน ด้วยการขนของกลับวัด สมาคมมหาจุฬาจึงเชื่อ ส่วนใครจะมาเป็นอธิการบดีต่อนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการสรรหา เพราะพี่น้องอยู่ร่วมกัน รักใคร่กันรู้จักกันหมด ซึ่งการสรรหาไม่เคยไม่แทรกแซงใดๆ แล้วแต่สมาคมมหาจุฬาจะไว้วางใจใคร  พอเข้าประชุมสภาที่ประชุมจึงถามว่าทำไมไม่รับเป็นอธิการบดีต่อ จึงได้แถลงในสภา ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ ด้วยการเล่าความในใจว่า ช่วงรับอธิการบดีใหม่นั้น มหาจุฬาได้นิมนต์มหานายกะของศรีลังกามารับปริญญากิตติมศักดิ์ชื่อว่าอนันตไมตรี มารับปริญญาในห้องประชุมพุทธมณฑล ในตอนนั้นท่านยังกล่าวปาฐกถาด้วยซึ่งตอนนั้นท่านอายุ ๑๐๑ ปี จึงถามเคล็ดลับในการมีอายุยืน ท่านบอกว่าท่านปฏิบัติกรรมฐานท่านปล่อยวางท่านมีเมตตาทำให้ท่านอายุยืน ด้วยความที่อายุยืนนั้น ท่านเป็นมหานายกะในอายุตอนไม่มาก ปรากฏว่าอนุนายกะมรณภาพไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นมหานายกะเพราะความมีอายุยืนของท่าน จนลูกน้องตายไปหมด ท่านห่วงว่าเขาจะไม่ได้เป็นมหานายกะจึงขอลาออก เรื่องนี้ฝังใจมานาน นึกว่าเราเป็นอธิการบดีมานาน รองอธิการบดีเกษียณไปทีละรูปสองรูป มรณภาพก็มี ถ้าเราอยู่ต่อไป เกษียณหมด อุตส่าห์ทำงานมาด้วยกัน เรานึกถึง “การเจริญก้าวหน้าในอาชีพ” ถ้าสูงไม่ขยับข้างล่างมันไม่ได้เลื่อน นี่ถือว่าเสียสละ เพื่อให้ผู้อื่นได้ขยับ ถ้าที่เราจะไปเป็นอะไรได้มันต้องว่างก่อน อธิการบดีเก่าต้องไป อยู่นานแล้วให้คนอื่นมาทำหน้าที่ต่อ เป็นการแถลงในสภามหาวิทยาลัย

มหาจุฬาเติบโตมาก ปัจจุบันมีถึง ๔๐ จังหวัดต่างประเทศถึง ๕ ประเทศ มันอยู่ด้วยอาศัยตัวบุคคล ถ้าเราอาศัยตัวบุคคลวันหนึ่งคนก็อยู่ไม่ได้ ธรรมชาติต้องจากกันไป แค่เราต้องการสร้างระบบ ระบบไม่ได้พึ่งตัวบุคคล ใครจะอยู่ใครจะไปแต่ถ้าระบบเข้มแข็งงานจะต่อเนื่อง  “ถ้าอธิการบดีอยู่นานเกินไประบบจะเกิดความอ่อนแอ” แล้วใครจะมารับช่วงต่อเมื่อถึงเวลาต้องไป แต่ปัจจุบันได้วางระบบไว้พอสมควรให้มหาจุฬา เช่น ระบบสาธารณูปโภคระบบโครงสร้าง อาคารสถานที่ ระบบบริหารระเบียบ แต่ผู้ที่รับช่วงต่อ “จะรักษาระบบได้ต้องใช้ธรรมาภิบาล” ถึงจะรักษาระบบได้

 ตลอด ๒๐ ปีพระพรหมบัณฑิตมีการบริหารด้วยธรรมาภิบาล อยากให้ผู้บริหารชุดใหม่ทำต่อคือธรรมาภิบาล มี ๖ ข้อ คือ

 ๑) “การมีส่วนร่วม” มหาจุฬาต้อนรับทุกกลุ่มทุกฝ่ายเพื่อการศึกษา มีบทบาทมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ โดยการเข้าไปแทรกแซงผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน เราวางระบบไว้ก็ทำตามระบบ ส่วนกลางได้รับแรงบันดาลใจตอนทำงานวัดมหาธาตุ ตอนนั้นเป็นรองอธิการบดี ปรากฎว่ามาขัดแย้งเรื่องห้องทำงาน จะเปิดหน่อยงานใหม่ถามว่ามีห้องหรือไม่ มหาวิทยาลัยสงฆ์มีคนที่มีคุณภาพคนเก่งแต่ขาดเวทีแสดง อยู่วัดมหาธาตุเป็นปลาใหญ่ในน้ำตื้น  จึงขออนุญาตมาสร้างมหาจุฬาที่นี่เพื่อสร้างเวทีให้คนมีฝีมือทั้งหลายได้แสดง คนถามว่าทำไมสร้างหอประชุมใหญ่ สร้างอาคารเรียนใหญ่ เป็นการสร้างเวทีให้ท่านแสดงและมีส่วนร่วม ซึ่งประธานชีพีเคยกล่าวไว้ว่า  “คนเก่งทั่วโลกเป็นของชีพี”  ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหนเอามาช่วยงาน นั่นกำลังบอกว่าพระเก่งๆ คนเก่งๆ มาเป็นของมหาจุฬา แม้ว่าเราจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ขอให้มีส่วนร่วม หัวใจคือความสามัคคี  เรามีคนเก่งมาก ทำอย่างไรจะให้คนเก่งมาทำงานร่วมกัน มหาจุฬาจะไปได้เอง ผู้บริหารเพียงกำหนดทิศทาง

 ๒) “โปร่งใสตรวจสอบได้” เราเป็นสมาคมใหญ่ จะตัดสินอะไรเฉพาะตนมันจะเสียพวก  เพราะเขาไม่มีส่วนร่วมเขาไม่ได้รับรู้ จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในสุจริต ทุกอย่างต้องชี้แจงได้ตรวจสอบได้ ถือเอาเวทีที่เราสร้างระบบเอาไว้ตรวจสอบกัน เรามีคณะกรรมการเงินที่เข้มเเข็ง  ด้านบริหารเรามีการบริหารงานบุคคล ด้านวิชาการเรามีสภาวิชาการ ด้านการก่อสร้าง เรามีการกำกับนโยบายและแผน จัดสรรกันไป ผู้ที่กำหนดนโยบายหลักของมหาจุฬาคือ สภามหาวิทยาลัย กำหนดวิสัยทัศน์และทิศทาง ถ้าระบบทำงานเราจะไม่ทะเลาะกัน บางอย่างต้องให้สภามหาวิทยาลัยตัดสิน

 ๓) “รับผิดชอบ” อธิการบดีมอบหมายให้รองอธิการบดีจะไม่ก้าวก่าย เพราะทุกคนเก่งมีศักยภาพ ใครรับผิดชอบต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่ถ้าผิดพลาดต้องดึงงานกลับ

๔) “หลักนิติธรรม” เราเป็นองค์กรใหญ่ ตัดสินด้วยความเห็นส่วนตัวของอธิการบดีไม่มีทางอยู่รอด ถ้าท่านตัดสินไปตามกฎข้อระเบียบข้อบังคับ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังจะไม่ทะเลาะกัน การให้รางวัลลงโทษไปตามระเบียบ ใช้หลักนิติธรรมจะรักษามหาวิทยาลัยอยู่รอด ใครจะมายุบไม่ได้เพราะเราทำตามระเบียบ ธรรมะจะรักษามหาวิทยาลัย ซึ่งสงฆ์อยู่ได้เพราะธรรมวินัย กฎหมาย  และจารีต

๕) “ระบบคุณธรรม” ระบบนี้สร้างขึ้นอยู่ในใจ จะไม่เอาคนมาทำงานเพราะเป็นพรรคพวก ใครที่มีความรู้ความสามารถมีคุณธรรมเอามาทำงาน ส่วนตัวอาจจะเคยด่าเราแต่ก็ดึงมาทำงานเพราะเขาทำงานดี ไม่มีการจดจำอะไร เพียงบอกว่าคุณมีความสามารถคุณขึ้น แต่อาจจะใช้พรรคพวกบ้างแต่ควรเป็นเปอร์เซ็นน้อยที่สุด การคัดสรรอธิการบดีใหม่ก็ไม่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งท่านพระมหาเถระทราบการเปลี่ยนแปลงอธิการบดีถามว่ามีการเลือกกันอย่างไร ตอบท่านว่า สภาตัดสิน ก่อนสภาตัดสินมีกรรมการสรรหา  กรรมการสรรหาเขาจะตกลงกันเองว่าเพราะเขาจะอยู่ร่วมกัน แต่มหาวิทยาลัยเลือกกันมาต้องรับผิดชอบกันเอง ต้องดูแลอธิการบดีใหม่ต่อไป  มีความรู้ความสามารถขึ้นแล้วพิสูจน์ด้วยฝีมือ ตำแหน่งอธิการบดีต้องไม่ผูกขาดว่าจะเป็นรูปใด คนไหนมีฝีมือก็ทำ ทำไม่ได้ก็ลงแล้วองค์กรอยู่ได้ ไม่เกี่ยวกับสำนักไหน เมื่อเลือกเเล้วต้องรับผิดชอบและดูแลกัน นี่คือ “ระบบคุณธรรมมันจะต่างจากระบบอุปถัมภ์” ระบบอุปถัมภ์คือพรรคพวกชนะแล้วกินเรียบ ใครเป็นผู้นำคัดแต่พวกตนเองมาทำงาน แล้วคัดคนอื่นออก เราเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ ใครเป็นใหญ่ต้องระบบคุณธรรมเท่านั่น ดีใจที่ท่านอธิการบดีรูปใหม่ให้ทุกฝ่ายได้ทำงาน แต่พวกเราต้องพิสูจน์ฝีมือ

 ๖)“ประสิทธิภาพ” ประโยชน์สูงประหยัดสุด ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก จะสร้างอาคารต้องวางแผนให้ดีมิใช่ทำแล้วทุบทิ้ง จึงต้องวางแผนให้ดี งานมหาวิทยาลัยจึงต้องวางแผน บริหารจัดการจะต้องมีประสิทธิภาพ เราอย่าไปห่วงนักว่ามันแพงเพราะต้องการประสิทธิผล เรื่องบางอย่างอาจจะลงทุนเยอะแต่มีประสิทธิมาก เหมือนเราเข้าโรงพยาบาลเอกชนเพราะมันรวดเร็วเสียเงินก็ต้องยอม ในทำนองเดียวโครงการบางโครงการขอฝากไว้ เพราะเป็นหน้าตาของมหาวิทยาลัยสู่นานาชาตระดับโลก เช่น วิสาขบูชาโลก เป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยเป็นเวทีที่ทำให้ชาวโลกมาเรียนมหาจุฬา ในไทยนั่นมีแชมป์ระดับมหาวิทยาลัย มหาจุฬาไม่มีเวทีถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ แต่เราไซ้รโค้งขึ้นสู่นานาชาติ  เราได้รับแรงกระตุ้นจากต่างประเทศจึงพัฒนาตัวเราเอง จนทำให้มหาจุฬาเป็นนาลันทาในยุคนี้ ทั่วโลกมาเรียนกับเรา เพราะเราทำวิสาขบูชาประสบความสำเร็จ มีพระไตรปิฏกฉบับสากล ถ้าไม่มีคนต้องพัฒนาคนให้เก่งในเรื่องภาษาต่างประเทศ

 ดังนั้นธรรมาภิบาลที่ทำมาตลอดก็หวังว่าผู้บริหารชุดต่อไปโดยเฉพาะท่านอธิการบดีรูปใหม่จะดำเนินการประสานนโยบายธรรมาภิบาลที่จะคุ้มครองรักษามหาวิทยาลัย ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ฉันใด ธรรมาภิบาลย่อมรักษามหาวิทยาลัย ฉันนั้น สิ่งที่จะฝากไว้ให้ผู้บริหารชุดใหม่คือ ธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยเกิดประสิทธิผลสูงสุด..

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  ๖๖ รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี ๖๐,๕๖๓ รูป/คน ปริญญาโท ๙,๒๕๓ รูป/คนและปริญญาเอก ๒,๑๔๕ รูป/คน รวมทั้งสิ้น ๗๑,๙๖๑ รูป /คน  (ข้อมูลปี ๒๕๖๔)

มีนิสิตนานาชาติมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มากที่สุดในประเทศไทยถึง ๑,๓๘๓ รูป/คน จาก ๒๘ ประเทศทั่วโลก มีสถาบันสมทบ ๕ ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน

ส่วนในประเทศไทยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน ๔๕ จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนมากถึง ๒๒๗หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า ๓,๐๐๐ รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลิตบุคลากรไม่เฉพาะเพื่อสนองงานคณะสงฆ์เท่านั้น แม้แต่ในฝ่ายบ้านเมืองก็มี “ศิษย์เก่า” สถาบันการศึกษาแห่งนี้ไม่ใช่น้อย

ด้วยการเป็นองค์กรใหญ่ที่มีนิสิตและสาขาจำนวนมากขนาดนี้ การยึด “ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย” ผนวกกับการอาศัยวิสัยทัศน์แบบมีความเป็นภาวะผู้นำของผู้บริหาร การขับเคลื่อนจึงเป็นหลักสำคัญในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลก” ตามแผนเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน..

 

Leave a Reply