“ปลัดเก่ง” เยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง ยกพระพุทธพจน์ “วิสฺสาสปรมา ญาติ”  ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง กำชับ“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดูแลประชาชนแบบใกล้ชิด

วันที่ 8 ก.ค. 66  เวลา 16.00 น. ที่ห้องกิริณี อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน โดย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ชุดที่ 25 นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายประสงค์ หล้าอ่อน ปลัดจังหวัดลำปาง นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง นายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการจังหวัดลำปาง นายอำเภอ 13 อำเภอในพื้นที่ นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และคณะผู้บริหารสถาบันฯ ให้การต้อนรับและนำชม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมายังภูมิลำเนาที่บรรจุรับราชการครั้งแรกที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อปี 2531 สมัยท่านผู้ว่าฯ ยุทธ แก้วสัมฤทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง คนที่ 22 ซึ่งนับถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 35 ปีที่ผมได้ก้าวมาเป็นชาวราชสีห์ มาเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอ กระทั่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยหัวใจ ด้วย Passion ที่อยากจะทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และผมจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 คือในปีหน้า ดังนั้น ช่วงเวลาที่ผมยังอยู่ในราชการ ผมมีความตั้งใจที่จะปลุกวิญญาณของคนมหาดไทยเพื่อให้ไฟของการเป็น “ราชสีห์ผู้เสียสละเพื่อประชาชน” ยังคงลุกโชนเฉกเช่นที่บรรพบุรุษของพวกเราชาวมหาดไทย นับแต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทานไว้ให้กับพวกเราว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมุ่งเน้น “การสร้างทีม” นับตั้งแต่ท่านรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านอธิบดี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกรม ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ต่อมาจึงได้เกิด “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” โดยได้ร่วมกับท่านอธิบดีกรมการปกครอง ฝึกอบรมนายอำเภอ และทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน

“เราต้องภาคภูมิใจว่าองค์กรของพวกเรา คือ “กระทรวงมหาดไทย” เป็นส่วนราชการแรกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงได้จัดทำหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) เป็นหลักสูตรสำหรับพัฒนาข้าราชการก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้จัดทำหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) ทำให้ในปัจจุบันนี้ มีเพียงหลักสูตร นปส. เพียงหลักสูตรเดียวที่ได้รับการรับรองว่าเป็นหลักสูตรเทียบเท่ากับ นบส. ในการเป็นคุณสมบัติเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งนอกเหนือจากหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงแล้ว เราให้ความสำคัญกับข้าราชการทุกระดับ รวมไปถึงภาคีเครือข่ายของเราทุกภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงการจัดฝึกอบรมของโรงเรียนนายอำเภอ โรงเรียนปลัดอำเภอ และข้าราชการที่ดีของกระทรวงมหาดไทย เพื่อปลุกเร้าพวกเราในการขับเคลื่อนอุดมการณ์บำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนร่วมกับส่วนราชการทุกส่วน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน ดังจิตวิญญาณของนักปกครองในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้ง ดร.ชูวงษ์ ฉายะบุตร เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ดังที่องค์ปฐมเสนาบดีทรงเตือนสติพวกเราว่า “เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชศัสตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยความศรัทธาแล้ว ไม่มีใครถอดเจ้าคุณได้…..” ซึ่งการจะทำให้ประชาชนรักได้นั้น “เราต้องทำงานให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน หมั่นลงพื้นที่ไปเข้าหาประชาชน ไปให้กำลังใจและประชุมทีมงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำงานแบบฝรั่ง คือ การทำงานตามหน้าที่อย่างเดียว ด้วยการมี “สายใยของการเป็นคนมหาดไทย” ต้องทำงานให้สมกับที่ทุกคนเรียกเราว่า “นาย” หรือ “ท่าน” เข้าไปหาประชาชน เห็นประชาชนเป็นญาติพี่น้อง เหมือนเรามีญาติอยู่ในที่ห่างไกลจากที่ที่เราตั้งบ้านเรือน ที่เราจะต้องลงไปหา เข้าไปหา กลับไปหา ซึ่งถ้าเราให้ความรักเขาเขาก็จะให้ความรักตอบ ดังพุทธศาสนสุภาษิต “ททมาโน ปิโย โหติ : ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก” การเป็นผู้ให้ คือ การเป็นผู้เสียสละ แบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่ผู้อื่น เมื่อให้แล้วผู้รับก็มีความสุข และถ้าเราทำให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และพี่น้องประชาชนรักเราได้ ความสนิทสนมคุ้นเคยจะเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ “วิสฺสาสปรมา ญาติ” ที่แปลว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ พาปลัดอำเภอไปลงพื้นที่ ฝากผู้ว่าฯ ช่วยสร้างทีมจังหวัดลำปาง ให้ทีมของอำเภอเป็นทีมที่เข้มแข็งตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ย้ำเตือนท่านนายอำเภอว่า “เราในฐานะผู้นำหน่วย” ที่มีสถานที่สำคัญอันเป็นศูนย์กลางที่พึ่งของพี่น้องประชาชน คือ ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอ ต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ในการขับเคลื่อนภารกิจที่ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน หน้าบ้านน่ามอง ถังขยะเปียกลดโลกร้อน รณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้วยการดูแลสถานที่ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง แบ่งสัดส่วนบริเวณในการให้บริการพี่น้องประชาชน เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ และเป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ต้องส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ ทั้งน้อง ๆ ปลัดอำเภอ น้อง ๆ ข้าราชการสำนักงานจังหวัด และทุกส่วนราชการ ให้เป็นผู้ยึดมั่นและปฏิบัติตามระเบียบวินัย จรรยาบรรณข้าราชการ ธรรมเนียมการปฏิบัติราชการ รู้หลักบริหาร ทั้งการควบคุม ติดตามงาน รายงานผล การแต่งกายที่เหมาะสม บ่งบอกถึงสถานะการเป็นข้าราชการผู้รับใช้ประชาชน และทำงานโดยไม่ยึดถือเรื่องของเวลาเป็นข้อจำกัด

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า จากการติดตามท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ให้กำลังใจข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายปกครองในแต่ละอำเภอ จึงมีดำริที่จะดำเนิน “โครงการอำเภอสวยงาม” โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะมีรางวัลเป็นวงเงินให้กับอำเภอที่ได้ผ่านเกณฑ์การประกวดรางวัลต่าง ๆ เช่น หากอำเภอใดชนะเลิศ จะมอบรางวัลเป็นวงเงินพัฒนาสิ่งที่อยากพัฒนา เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาพื้นที่ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ร่วมกับท่านอธิบดีกรมการปกครอง และประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง และขอเน้นย้ำ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ใจ” เพราะไม่ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรทางการบริหารมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ถ้าไม่มี Passion หรือ “ใจ” ในการทำงาน

ด้านนายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโชค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีช้างสำคัญ จำนวน 15 ช้าง อยู่ที่จังหวัดสกลนคร 4 ช้าง และจังหวัดลำปาง 11 ช้าง เป็นช้างในรัชกาลที่ 9 จำนวน 7 ช้าง ซึ่งในอดีตเคยอยู่ที่สวนจิตรลดา และต่อมาในปี 2539 – 2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช้างเพศผู้มาพักผ่อนอิริยาบถที่จังหวัดลำปาง โดยแต่ละวัน หลังจากอาบน้ำ ให้อาหารแล้ว ควาญช้างจะพาออกกำลังกาย และฝึกเกี่ยวกับกิจวัตรต่าง ๆไม่ว่าจะนอนหมอบกราบ และยกงวง เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมประจำวันว่าตอนนี้ช้างอยู่ในสภาวะไหน เช่น ตกมันหรือมีการบาดเจ็บ เจ็บป่วยตรงไหนหรือไม่ จากนั้นช่วงสาย ๆ ควาญช้างจะพาช้างทั้งหมดไปเลี้ยงในป่าธรรมชาติ โดยป่าของโรงช้างต้นจะติดกับอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสมบูรณ์ มีคณะกรรมการ 3 ชุด คือ 1 คณะกรรมการอำนวยการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน ชุดที่ 2 คณะกรรมการความปลอดภัย และชุดที่ 3 คณะกรรมการด้านสุขภาพ โดยมีช้างสำคัญและช้างในพระราชูปถัมภ์และพระอุปถัมภ์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวม 13 ช้าง คือ 1. พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ 2. พระเศวตสุทธวิลาศฯ 3. พลายทองสุข 4. พลายขวัญเมือง 5. พลายยอดเพชร 6. พลายวันเพ็ญ 7. พลายบุญเลิศ 8. พลายธันวา 9. พังโม่เจ 10. พลายบุญหนา 11. พังฟ้าแจ่ม 12. พังกันตา และ 13. พลายเพชรแปด

Leave a Reply