เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึง หนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0404/6950 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2565 เป็นหนังสือจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสาระสำคัญในจดหมายระบุว่า “มีบัญชาไม่รับรองพระราชบัญญัติ ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย”
นายเพชรวรรต กล่าวว่า การเสนอร่าง พรบ. ดังกล่าว มีต้นเรื่องมาจาก การยื่นหนังสือเสนอร่าง พรบ. จาก ม.ร.ว. จิราคม กิติยากร ประธานชมรมรวมใจภักดิ์ จำนวน 3 ฉบับ เมื่อ 20 ก.พ. 2563 ประกอบด้วย 1.) ร่าง พ.ร.บ.การบริหารองค์กรพุทธศาสนา 2.) ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย 3.) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการสังเวชนียสถาน หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้นำข้อมูลขึ้นมาศึกษา ได้รับการเสนอแนะแนวคิดจากประชาชนชาวไทยพุทธทั่วประเทศ และนำมากลั่นกรองในชั้นกรรมาธิการ โดยมีหลายหน่วยงานรวมถึงพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกลั่นกรอง ใช้เวลาร่าง พ.ร.บ. กว่า 2 ปี ซึ่งได้มี สส. ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการ มีความเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงได้เข้าชื่อเสนอ สภาไปก่อนหน้านี้แล้ว
นายเพชรวรรต กล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่เคยเชิญผู้เสนอ พ.ร.บ. เข้าไปให้ข้อมูล แต่ตีตกด้วยการอ้างว่าเป็น พรบ.เกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งเป็นการด้อยค่าพุทธศาสนา ที่ถือเป็นศาสนาที่ชาวไทยนับถือมากที่สุด ต่างชาติต่างเลื่อมใสในฐานะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เป็น Soft Power ที่มีพลัง หากมี พ.ร.บ.ธนาคารพุทธ นอกจากจะทำให้เกิดความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ดังเช่นศาสนาอื่นก็มีธนาคารประจำศาสนามาแล้ว ก็ยังจะเป็นการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามายังธนาคารพุทธเข้าประเทศได้อีกทาง จาก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.79% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74% ซึ่ง ในร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย เสนองบในการจัดตั้งเพียง 1,000 ล้านบาท หรือเพียง 0.03% ของงบประมาณประเทศเท่านั้น เป็นตัวเลขที่น้อยมาก
นายเพชรวรรต กล่าวทิ้งท้ายว่าตนอยากขอให้ พล.อ.ประยุทธ ทบทวนให้ดีอีกครั้ง เพราะ ร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้อาจกลายมาเป็นนโยบายหลักของบางพรรค ซึ่งไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะกลายเป็น พ.ร.บ. หลักวันข้างหน้าอาจมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีจิตวิญญาณเป็นชาวพุทธ หยิบยก พรบ. เหล่านี้ ขึ้นมาทบทวนแทนก็ได้ไทย
Leave a Reply