เปิดระเบียบใหม่ถอดด้าม โครงการ “วัด ประชารัฐ สร้างสุข”

วานนี้  “ผู้เขียน” ได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข ที่วัดเขียนเขต จังหวัดปทุมธานี โดยการชวนของ “พระเทพเสนาบดี” เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน และ “น้องยิ้ม” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกาย

“ผู้เขียน” เพิ่งเสร็จสิ้นการลงพื้นที่โครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ร่วมกับคณะกรรมการหนกลางที่มี “พระเทพปวรเมธี” เป็นประธาน ซึ่งไปบ้างไม่ไปบ้างแล้วแต่ “ความสะดวก” แล้วอารมณ์จะอำนวย เพราะงานลงพื้นที่แบบนี้เป็นงาน “จิตอาสา”

โครงการวัดประชารัฐสร้างสุข เกิดขึ้นตามมติ ของมหาเถรสมาคมและรัฐบาล ที่เห็นชอบร่วมกันในการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาระยะ 5 ปี และ 20 ปี เมื่อวันที่ 30  มกราคม 2560  เป้าหมายเพื่อไปสู่ที่ว่า “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” ภายใต้การดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ว่าประเทศ  “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

“โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” มีแนวคิดที่ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสาหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ    วัดจึงถือเป็นสถานที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย   เหตุนั้นการดำเนินโครงการวัด ประชารัฐ สร้าง สุข จึงเน้น “วัด” ต่อมามีขยายสู่โรงเรียนและชุมชนตามหลัก “บวร”

หลายคนอาจจะสงสัยว่า โครงการวัดประชารัฐสร้างสุข ต่างกับหมู่บ้านรักษาศีล 5 อย่างไร เปรียบเทียบง่าย ๆ  คือ วัดประชารัฐสร้างสุข เน้นความสะอาด เน้นความร่มเย็น ก่อให้เกิดสัปปายะภายในวัด  เน้นทาง “กายภาพ”  ส่วนหมู่บ้านรักษาศีล 5 เน้น “จิตใจ” เน้นสภาพภายใน เป็นหลักประกันด้านชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว สังคมและ สุขภาพ สติปัญญา

“ผู้เขียน”  ฟังการเปิดการประชุมของ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ในฐานะประธานโครงการวัดประชารัฐสร้างสุข เท่าที่ฟัง “สมเด็จชิน” ท่านพูดอธิบายดีมาก รู้เรื่องบริบทสังคมโลก สังคมไทย และการเปลี่ยนแปลงของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ เป็นอย่างดี

“ผู้เขียน” ไม่เคยฟังท่านพูดที่ใดมาก่อน เท่าที่ฟังยอมรับพระคุณเจ้า  “ทันเหตุการณ์” และ “ทันโลก” ไม่อนุรักษ์นิยมจ๋า ดังที่สังคม “เล่าลือ” กัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กระตุกจีวรให้คณะสงฆ์ออกจากกำแพงวัด ให้ “เสียสละ” ประเภท “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนแบบยั่งยืน พร้อมกับยกตัวอย่างพระราชดำรัสของในหลวงองค์รัชกาลที่ 9 ที่ปรารภกับคณะสงฆ์ว่า..”ปัจจุบันพระสงฆ์อย่ามุ่งสอนชาวบ้านให้ไปสวรรค์และนิพพานมากนัก ต้องสอนชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างไร ประพฤติตนอย่างไร จึงจะมีความสุข อยู่ด้วยกันแล้วเกิดความรู้รักสามัคคี..”  และทิ้งท้ายทำนองว่า พระสงฆ์ต้องเป็นผู้นักเผยแผ่ที่มีคุณภาพและรู้สักเสียสละ

“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” พูดถึง ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการดำเนินงานโครงการวัดประชารัฐสร้างสุขฉบับใหม่ ที่มหาเถรสมาคมเห็นชอบไป เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาว่า มันจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้คณะสงฆ์ทำงานได้คล่องมากขึ้น เป็นรูปธรรมได้ชัดขึ้น มี 3 หมวด 40 ข้อ ประกอบด้วย คือ 1. วัตถุประสงค์และการดำเนินงาน 2. คณะกรรมการ แบ่งย่อยออกเป็น 7 ส่วน ตั้งแต่คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหารกลาง หน จังหวัด อำเภอ วัดและชุมชน รวมถึงคณะกรรมการระดับสถานศึกษา และหมวดสุดท้ายคือ “กองทุนโครงการวัดประชารัฐ สร้างสุข”

ตามระเบียบนี้ในบท “เฉพาะกาล” ให้คณะกรรมการชุดเก่าทุกระดับทำงานไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่หลังประกาศในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้วภายใน 120 วัน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ

ประเด็นที่น่าสนใจของระเบียบนี้มีอยู่  3-4 ข้อ เช่นระเบียบข้อ 7 ว่าด้วยการเผยแพร่ผลดำเนินงานโครงการ วัด ประชา รัฐสร้างสุข ในฐานะ “ผู้เขียน” เป็นสื่อมวลชน ที่ผ่านมาลำบากใจมากเมื่อต้องทำงานร่วมกับพระสงฆ์และบางครั้งพระสงฆ์บอกให้ชวนเพื่อน ๆ “สื่อมวลชน” ให้มาร่วมงานด้วย เพราะส่วนมากคณะสงฆ์ใช้กุลโลบาย “อนุโมทนาบุญ” เป็นหลัก สื่อหลักส่วนใหญ่จึงไม่ไปร่วมงาน

หรือบางวัด บางโครงการ “เจ้าภาพ” ต้องออกเงินเอง โดยไม่มีงบประมาณแผ่นดินหรือส่วนรวม เข้ามาช่วย ทำให้ทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ลำบากใจพอ ๆ กัน  การจัดตั้ง “งบประมาณ”ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานข้อนี้  จะทำให้ชาวบ้าน “รู้ว่า” คณะสงฆ์ทำอะไรบ้าง มิได้ “ฉันแล้วนอน” หรือ “หลับตาภาวนา” เป็นทองไม่รู้ร้อนความเป็นไปของสังคมดังที่ “คนห่างวัด” และ “คนรุ่นใหม่” เข้าใจกัน

“ผู้เขียน” ลงพื้นที่หมู่บ้านรักษาศีล 5 กับพระมหาเถระ เจ้าอาวาสหลายรูป  บางรูปอายุ 70 -80 ปีแล้ว ยังต้องทำงานหนัก นั่งรถตระเวนไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในไร่ ในท้องนา ถนนลูกรัง  ต้องนอนตามวัด ตามรีสอร์ท ฟังพระคุณเจ้าเล่าว่าบางครั้งถึงบางจังหวัดเช่นภาคเหนือ หรือภาคใต้ ถึงดึกไม่อยากรบกวนเจ้าถิ่น ไปติดต่อโรงแรมบ้าง รีสอร์ทบ้าง เพื่อขอนอน “จำวัด” บางครั้งชาวบ้าน เจ้าของรีสอร์ท เข้าใจว่า “พระคุณเจ้า” มาทำอะไรในช่วงเข้าพรรษา “ไล่ไม่ให้นอน” ที่อื่นก็มี

ในหมวด 2 ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการ ตรงนี้ “ไม่ชัด” ว่า ประธานกรรมการโครงการ วัด ประชารัฐสร้างสุข ต้องเป็นประธานฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ดังปัจจุบันที่มี “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” เป็นประธานหรือไม่ แต่คณะกรรมการทั้งหมด ต้องได้รับการเสนอโดย ประธานฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม และสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ในคณะกรรมการอำนวยการนี้ มีกรรมการมหาเถรสมาคมร่วมด้วย  2 รูป เจ้าคณะภาคที่เจ้าคณะใหญ่มอบหมายจำนวน  5 รูป คงประกอบด้วยสัดส่วนตามหนต่าง ๆ ประกอบกับฝ่ายธรรมยุตอีก 1 รูป นอกนั้นก็มีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ระดับปลัดกระทรวงและอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ทั้งหมดดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจแต่งตั้งเข้ามาได้อีก คณะกรรมการชุดนี้นอกจากกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน โครงการแล้ว ยังมีอำนาจเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกลาง ระดับหน ต่อมหาเถรสมาคม ผ่านประธานฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคมได้ด้วย รวมทั้งมีสิทธิตั้ง “อนุกรรมการ” ฝ่ายต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนคณะกรรมการหนกลาง ต้องให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง โดยการเสนอของประธานฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม นอกนี้คณะกรรมการชุดระดับหน จังหวัด อำเภอ วัดและชุมชนในรายละเอียดก็ไม่มีอะไรมาก

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ “การกำหนดยุทธศาสตร์ – นโยบาย – แผนงาน – โครงการ” ต้องสอดคล้องกับกับพื้นที่ วัฒนธรรมจารีตประเพณี และค่านิยมของท้องถิ่นนั่น ๆ แนวคิดนี้เสมือนกับการขับเคลื่อน “โคก หนอง นา” ของกระทรวงมหาดไทย ที่การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับสภาพ “ภูมิสังคม” ของจังหวัดนั่น ๆ

ส่วนข้อสุดท้ายที่น่าติดตามคือ “กองทุนโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข”  อยู่ในหมวด  3 ตรงนี้ไม่ได้ระบุว่า แหล่งเงินทุนมาจากไหน มีการบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดธรรมาภิบาล และทันเหตุการณ์ ไม่ซ้ำรอยกองทุนต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ที่มีอยู่ดังปัจจุบัน

เท่าที่สังเกต..คณะกรรมการของโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข การมีส่วนร่วมเน้นที่ไปที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะเปิดประตูไว้บ้างตรงที่ “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” แต่ระบุต่อท้ายว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็น “ด้านพระพุทธศาสนา” เท่านั้นเกือบทุกขณะ บางทีก็น่าคิดว่า หากเจอคนท้องถิ่นประเภท แม้ว คนม้ง กะเหรี่ยง มอญ หรือ ไทย ที่เป็นปราชญ์ชุมชน เก่งเรื่อง วัฒนธรรมจารีตประเพณี และค่านิยมของท้องถิ่น ตรงนี้มีโอกาสหรือไม่??

ไม่เหมือนกับภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยที่ “ปลัดเก่ง “ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ดึงมาร่วมประกอบด้วย 7 ภาคีเครือข่ายคือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคสื่อสารมวลชน

ภาคบ่าย..ผู้เขียนฟังการอธิบายวิธีการประเมินโครงการวัดประชารัฐสร้างสุข ของ พระเทพเสนาบดี  รองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ฯ  และ พระสุธีรัตนบัณฑิต อนุกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน ฯ ดูแล้วการประเมิน ตั้งเป้าไว้สูงกว่าหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาก ซึ่งหมู่บ้านรักษาศีล 5 มีแค่ 4 หมวด คือ พื้นฐานหมู่บ้าน กิจการส่งเสริมการรักษาศีล 5 กิจกรรมส่งเสริมการปฎิบัติธรรม และ การทำบูรณาการร่วมกันระหว่างหมู่บ้านรักษาศีล 5 กับหมู่บ้านยั่งยืน มีข่าวว่าตอนหลังมีการเพิ่มเรื่องนิทรรศการการจัดงานเข้ามาด้วยอีกหมวดหนึ่ง จริงเท็จประการใดไม่ทราบ..

สำหรับโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุขหากคณะสงฆ์และชุมชนทำได้..รับรองว่า วัดที่เข้าร่วมเกือบ 20,000 วัด จาก 40,000 กว่าวัดทั่วประเทศ  วัดจะกลายเป็น “รีสอร์ท” ย่อม ๆ ใคร ๆ ก็อยากเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ  ยามเย็นยามค่ำหรือวันหยุด พ่อแม่ก็อยากพาลูกหลานไปวัด และดีไม่ดี “วัดใด” มีของดีภายในวัด ภายในชุมชน สร้างรายได้เข้าวัด สร้างรายได้เข้าชุมชนโดยที่ “เจ้าอาวาสและชุมชน” ไม่ต้องเหนื่อย..แต่เบื้องต้น ณ ต้อนนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน “เสียสละ” ดังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  ได้กล่าวแนะนำไว้เป็นเบื้องต้น!!

Leave a Reply