เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์นั้น เนื่องจากมีการผลักดันจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย นำโดยเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายหลายสมัย จนล่าสุดพระรัตนมุนี (ปุณณมี วิสารโท) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ใน 2 ประเด็น
โดยประเด็นแรกเรื่องการเช่าที่ดินของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะจัดสรรงบประมาณของ “มจร” ในการเช่าที่ดินจากสำนักงานราชพัสดุ และประเด็นที่สอง ถือว่าเป็นประเด็นที่ยากคือ เรื่องการดำเนินการยกที่ดินพุทธมณฑลจังหวัดเชียงรายที่เป็น ที่ดิน นสล. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาดำเนินการให้เป็นพุทธมณฑลจังหวัด
โดยคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้มอบให้อนุกรรธิการพิจารณาศึกษาพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ นำไปพิจารณา โดยได้ข้อสรุปว่าจะต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีการนำเสนอเอกสารอย่างถูกต้องตามลำดับ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ แห่งกฎหมายที่ดิน โดยหลังจากพระรัตนมุนี ได้เข้ามาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 หลังจากนั้นมีประกาศในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ใช้เวลาโดยรวมประมาณ 45 วัน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ดร.เพชรวรรต กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้ดำเนินงานปิดทองหลังพระในหลายๆ ชิ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการหารือโดยผ่านการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้มีทางออกสำหรับทุกฝ่าย ที่มีข้อพิพาทหาทางออกไม่ได้ ในปัจจุบันคนไทยเราจะใช้การฟ้องร้องเพื่อเป็นการชี้ทางออก ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยในอดีต ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ใช้การพูดคุยกันเพื่อได้หนทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่อำนาจกลางที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้เชื่อมประสานภายหลังได้หายไป
ดร.เพชรวรรต กล่าวด้วยว่า ตนจึงอยากจะให้กรรมาธิการทุกกรรมาธิการ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติ ถือเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ได้มามีส่วนร่วมที่จะทำให้ประเทศไทยมีทางออกอย่างสมานฉันท์ร่วมกัน ตัวอย่างสำหรับพุทธมณฑลเชียงรายนี้ ที่ค้างคา มากว่า 50 ปี เพราะเราไม่หันหน้าเข้ามาคุยกันและร่วมกันหาทางออก ในครั้งนี้ได้ใช้กรรมาธิการเป็นผู้ประสานให้ จึงมีทางออกที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย ทั้งนี้ผลงานของพุทธมณฑลเชียงราย ถือเป็น 1 ใน 100 ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในการตั้งใจทำงานของกรรมาธิการการศาสนาฯ ตนขอฟันธงว่าทุกเคสหากผ่านกรรมาธิการศาสนา สำเร็จแน่นอน
Leave a Reply